รีเซต

อีคอนไทย เผยไม่หวังได้อะไรจากการอภิปราย ชี้ลดภาษีดีเซลเพิ่มจุดแข็งตอบกระทู้

อีคอนไทย เผยไม่หวังได้อะไรจากการอภิปราย ชี้ลดภาษีดีเซลเพิ่มจุดแข็งตอบกระทู้
มติชน
20 กุมภาพันธ์ 2565 ( 06:07 )
62

นายธนิต โสรัตน์ รองประธานสภาองค์การนายจ้างผู้ประกอบการค้าและอุตสาหกรรมไทย (อีคอนไทย) กล่าวว่า การอภิปรายทั่วไป ในแง่ของภาคเอกชน ไม่ได้คาดหวังอะไรมากนัก ซึ่งตามปกติจะเป็นการอภิปรายตามมาตรา 151 ที่จะมีการลงคะแนนเสียงซึ่งก็พบว่า ในอดีตส่วนใหญ่เกือบร้อยเปอร์เซ็นต์รัฐบาลก็ยังกลับมาบริหารบ้านเมืองได้ตามปกติ ต่อให้ฝ่ายค้านจะมีข้อมูลหรือหลักฐานใดๆก็ตาม ในที่สุดแล้วไม่เกี่ยวกับข้อเท็จจริงที่มานำเสนอ แต่เกี่ยวกับมือที่ยกคะแนนโหวตให้ ซึ่งรัฐบาลก็ต้องมีมือมากกว่าอยู่แล้วจึงจะจัดตั้งรัฐบาลได้ ดังนั้นจึงไม่มีผล อย่างน้อยอาจทำให้เกิดการเปลี่ยนแปลงบ้างเล็กน้อยโดยเฉพาะรัฐมนตรีคนใดที่ตอบไม่ชัด ตอบคำถามไม่ได้ก็อาจจะมีการปรับเก้าอี้คณะรัฐมนตรี (ครม.) ในขณะที่ครั้งนี้เป็นมาตรา 152 ต้องเป็นการอภิปรายเพื่อซักถามทั่วไป ไม่มีการลงมติ ก็ไม่มีผลอะไร แต่ พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรี อาจกลับไปทำงานโดยรู้สึกมีอาการแสบๆคันๆบ้าง

 

อย่างไรก็ตาม ในการอภิปรายทั่วไปครั้งนี้ ขอชมอยู่สิ่งหนึ่ง คือทั้งฝ่ายค้านและรัฐบาลมีการเปลี่ยนแปลงรูปแบบการประชุมที่ดีขึ้น ไม่เป็นการแสดงหรือซื้อเวลาเหมือนในอดีต มีโอกาสได้คุยกับนักการเมือง ได้รับข้อมูลว่าการตลาดของการเมืองนั้นมีการเปลี่ยนแปลงเพราะมีคนรุ่นใหม่มาเป็นฐานเสียงมากยิ่งขึ้น สมาชิกสภาผู้แทนราษฎร (ส.ส.) เองก็มีคนรุ่นใหม่เข้ามาร่วมทำงานมากขึ้นเช่นกัน ทำให้การประชุมรูปแบบเดิมๆที่จะมาเล่นละครน้ำเน่า พูดปะทะคารมให้ตลกหรือขบขัน เขาคงทำไม่ได้แล้ว เป็นสิ่งที่ดีทำให้การประชุมสภาฯดูมีมาตรฐานมากยิ่งขึ้น ได้เห็นการชำแหละหรือเปิดแผลของรัฐบาล มีการนำความล้มเหลวของการบริหารงานของรัฐบาล

 

ทั้งนี้ ประเด็นการบริหารและแก้ไขปัญหาผลกระทบจากการระบาดของเชื้อไวรัสโคโรนา 2019 ( โควิด-19) ที่ฝ่ายค้านได้หยิบยกขึ้นมา อาจช้าเกินไปในนาทีนี้ เพราะได้เลยปัญหาดังกล่าวไปแล้ว ปี 2564 มีการอภิปรายถึงความล้มเหลวเรื่อง โควิด-19 แล้วแต่ไม่มีผลใดๆตามมา ไม่สามารถทำให้รัฐบาลลงจากตำแหน่งได้ ซึ่งเวลานั้นมีปัญหาเรื่องวัคซีนป้องกันโควิดจริงๆ ขณะที่สถานการณ์ปัจจุบัน วัคซีนเกินเข็ม 2 ไปแล้ว รัฐบาลรับมือกับปัญหาโควิดได้ ส่วนสายพันธุ์ใหม่ โอมิครอน ก็ไม่น่าจะมีผลกระทบอะไร เพราะรัฐบาลมีบทเรียนและก็คงไม่ล็อคดาวน์เพื่อทำให้เศรษฐกิจเสียหายแบบที่ผ่านมา

 

ขณะที่ประเด็นปัญหาของแพง เนื้อเรื่องแรกคือ เรื่องเนื้อสุกร (หมู) แพง ถือว่าเป็นจุดอ่อนหนึ่งของรัฐบาล ตอบคำถามได้ไม่ดี เพราะในช่วงที่มีปัญหานั้นได้มีการปกปิดข้อมูล เรื่องที่หมูเป็นโรคอหิวาต์แอฟริกา มีการต้องทำลายหมูทิ้ง ส่งผลให้เนื้อหมูขาดตลาดจนราคาเพิ่มขึ้นสูงมาก

 

ส่วนปัญหาของแพงนั้น ความเป็นจริงปัญหาของแพงเกิดจากอัตราเงินเฟ้อที่เกิดขึ้นจากทั่วโลก เนื่องจากปัญหาซัพพลายเชนสะดุด จากความต้องการที่เพิ่มสูงขึ้นอย่างกะทันหันหลังโควิดคลี่คลาย ทำให้เงินเฟ้อแทรกเข้ามาจากค่าระวางเรือและต้นทุนต่างๆของวัตถุดิบ ประเทศไทยจึงเกิดปัญหาเงินเฟ้อตาม โดยเรื่องเงินเฟ้อนั้น นายจุรินทร์ ลักษณวิศิษฏ์ รองนายกรัฐมนตรีและรัฐมนตรีว่าการกระทรวงพาณิชย์ ได้ชี้แจงในวันที่ 18 กุมภาพันธ์พันธุ์ 2565 ซึ่งเป็นวันที่สอง ของการสภาฯ อภิปรายทั่วไป ได้เตรียมข้อมูลมาตอบคำถามดังกล่าวได้ดีในมุมมองของนักธุรกิจ อัตราเงินเฟ้อไทย เมื่อ เดือนมกราคม 2565 ถึงแม้จะพุ่งขึ้นไปสูงถึง 3.2% ก็ยังเป็นประเทศที่ติดอยู่ในอันดับที่มีเงินเฟ้อต่ำ ที่สหรัฐอเมริกามีเงินเฟ้อสูงถึง 6-7 % เมื่อเทียบกับราคาน้ำมันโลก ที่ภายใน 45 วันที่ผ่านมานับตั้งแต่ต้นปี 2565 เพิ่มขึ้น 15 เหรียญสหรัฐฯต่อบาร์เรล คิดเป็นเพิ่มขึ้น 15 % แล้ว เงินเฟ้อไทยก็ถือว่าขึ้นไม่มาก

 

นอกจากนี้ ประเด็นเงินเฟ้อ ยังพบข้อได้เปรียบอีกเรื่องหนึ่งของรัฐบาล คือ รัฐบาลเพิ่งลดอัตราภาษีสรรพสามิตน้ำมันดีเซล ทำให้ราคาขายปลีกน้ำมันดีเซล ลดลงมา 2 บาท จากลิตรละ 29.94 บาทลดลงเหลือลิตรละ 27.94 บาท ที่ช่วยในชะลอการเพิ่มขึ้นของค่าขนส่ง และสินค้าต่างๆ จึงเป็นปัจจัยที่ชะลอเงินเฟ้อ

ข่าวที่เกี่ยวข้อง