อีคอนไทยเตือนรัฐบาล รับมือ3วิกฤตซ้ำซ้อน
เมื่อวันที่ 6 มกราคม นายธนิต โสรัตน์ รองประธานสภาองค์การนายจ้างผู้ประกอบการค้าและอุตสาหกรรมไทย (อีคอนไทย) ให้ความเห็นสถานการณ์สินค้าราคาแพง ค่าครองชีพเพิ่มสูงขึ้น แต่รายได้บริโภคขยับตามไม่ทัน ว่า การดำเนินนโยบายของรัฐบาลเป็นการแก้ไขปัญหาเรื่องหมู ไก่ ไข่ราคาแพง แต่ขณะนี้สินค้าราคาแพงได้ผ่านจุดนั้นไปแล้ว ไม่ใช่จะมาแก้ไขด้วยร้านธงฟ้ารถโมบาย ขายสินค้าราคาประหยัด เพราะเป็นการแก้ไขที่ปลายเหตุ
ประเด็นคือ รัฐบาลต้องทำความเข้าใจกับปัญหาที่เกิดขึ้น เพราะขณะนี้ต้องเผชิญกับ 3 วิกฤตแแทรกซ้อน ได้แก่ การแพร่ระบาดโควิด-19 ที่ยังไม่จบ ยอดผู้ติดเชื้อสูงกว่า 1 หมื่นรายต่อวัน ยิ่งแสดงให้เห็นว่าวิกฤตนี้ยังคงไม่จบ อีกไม่นานก็จะครบไตรมาสแรกของปีนี้ สะท้อนว่า สังคมไทยในครึ่งปีแรกก็ต้องเผชิญอยู่กับปัญหานี้ ทำให้เศราษฐกิจไม่ฟื้นตัวได้อย่างที่คาดไว้ รวมถึงความเชื่อมั่นก็ไม่ฟื้นเช่นกัน ทำให้ไม่มีนักท่องเที่ยวเข้าประเทศมามากนัก
นายธนิต กล่าวว่าวิกฤตต่อมาคือ เงินเฟ้อ สาเหตุเกิดจากห่วงโซ่อุปทานสะดุด โรงงานที่ชะลอหรือชะงักการผชลิตจากปัญหาโควิด-19 และการขาดแคลนเรือ และตู้คอนเทนเนอร์ขนส่งสินค้า และค่าระวางเรือที่สูง แฝงอยู่ในต้นทุนสินค้าและวัตถุดิบ ไทยต้องเผชิญกับปัญหาของแพงและเงินเฟ้อจากการต้นทุนแฝงต่างๆเหล่านี้ ขณะที่คนไทยไม่มีกำลังซื้อ ซึ่งเป็นปัญหาที่แก้ยาก เพราะแตกต่างจากเงินเฟ้อที่เกิดจากความต้องการซื้อที่สูงขึ้น
นายธนิต กล่าวว่า อีกวิกฤติที่สำคัญคือ น้ำมันที่เป็นภัยเงียบ จากการที่ติดตามข้อมูลมาพบว่า ราคาน้ำมันในตลาดหลัก ทั้งยุโรป อังกฤษ และดูไบ มีแนวโน้มเพิ่มขึ้นจากปัจจุบันอยู่ที่กว่า 90 เหรียญสหรัฐฯ ต่อบาร์เรลแล้ว ซึ่งไทยนำเข้าน้ำมันดิบมาผลิตน้ำมันดีเซลถึง 60% ซึ่งใช้ในการขนส่งและทางการเกษตร
นายธนิต กล่าวว่า วิกฤตครั้งนี้จึงไม่ใช่เพียงหมูแพง ไก่แพง ซึ่งเป็นปัญหาเล็กน้อย แต่วิกฤตปัจจุบันรัฐบาลต้องตั้งหลักให้ดี โควิด-19ไม่จบ การท่องเที่ยวก็ไม่กลับมา คนไม่มีเงินใช้จ่าย หลังจากเผชิญกับปัญหาเงินเฟ้อ รัฐบาลต้องเจอกับแรงกดดันในการขอปรับขึ้นค่าแรง ก็ยิ่งไปทำให้ต้นทุนการผลิตเพิ่มขึ้นสูงไปอีก
ทำให้ของแพงเป็นทวีคูณ ดังนั้นรัฐบาลต้องเตรียมพร้อมช่วยเหลือคนมีรายได้น้อย เห็นว่ารัฐบาลต้องตั้งคณะทำงานที่มีความสามารถติดตามสถานการณ์เงินเฟ้อและราคาน้ำมัน เพื่อให้รัฐบาลวางแผนได้ถูกต้องแและแม่นยำ และต้องช่วยอุดหนุนกำลังซื้อของคนมีรายได้น้อย ในระยะเวลาแค่ไหน ใช้งบประมาณเท่าไร