รีเซต

น้ำท่วมภาคใต้! ธ.ก.ส. ช่วยเกษตรกร ออกมาตรการลดภาระหนี้เดิม-เสริมสภาพคล่อง

น้ำท่วมภาคใต้! ธ.ก.ส. ช่วยเกษตรกร ออกมาตรการลดภาระหนี้เดิม-เสริมสภาพคล่อง
TNN ช่อง16
3 มกราคม 2567 ( 14:38 )
33
น้ำท่วมภาคใต้! ธ.ก.ส. ช่วยเกษตรกร ออกมาตรการลดภาระหนี้เดิม-เสริมสภาพคล่อง

น้ำท่วมภาคใต้! ธ.ก.ส. ช่วยเกษตรกร 3 จังหวัดภาคใต้น้ำท่วม ออกมาตรการลดภาระหนี้เดิม-เสริมสภาพคล่อง บรรเทาความเดือดร้อน

นายคารม พลพรกลาง รองโฆษกประจำสำนักนายกรัฐมนตรี เปิดเผยว่า จากสถานการณ์น้ำท่วมพื้นที่ภาคใต้ รัฐบาล โดยธนาคารเพื่อการเกษตรและสหกรณ์ (ธ.ก.ส.) เร่งช่วยเหลือเกษตรกรที่ประสบอุทกภัยในพื้นที่ 3 จังหวัดชายแดนภาคใต้ (จังหวัดนราธิวาส จังหวัดปัตตานี และจังหวัดยะลา) เพื่อบรรเทาความเดือดร้อนในเบื้องต้น 


พร้อมจัดมาตรการดูแลด้านภาระหนี้สิน ได้แก่ การปรับปรุงโครงสร้างหนี้อย่างยั่งยืน และสินเชื่อเสริมสภาพคล่อง เพื่อเป็นค่าใช้จ่ายฉุกเฉินในการซ่อมแซมที่อยู่อาศัยและเครื่องมือทางการเกษตรที่ได้รับความเสียหาย ปลอดดอกเบี้ย 6 เดือนแรก รวมถึงการฟื้นฟูอาชีพสร้างรายได้และการพัฒนาคุณภาพชีวิต วงเงินรวม 10,000 ล้านบาท

นายคารม กล่าวว่า ธ.ก.ส. ได้จัดมาตรการในการลดภาระหนี้เดิม สำหรับลูกค้าที่มีสถานะหนี้ปกติผ่านมาตรการ ดังนี้ 


1. การปรับปรุงโครงสร้างหนี้ฟื้นฟูอาชีพ โดยธนาคารจะพิจารณาขยายระยะเวลาการชำระหนี้พร้อมกำหนดชำระหนี้ใหม่ตามศักยภาพที่แท้จริง แต่ไม่เกิน 20 ปี 


2. มาตรการจ่ายดอก ตัดต้น เมื่อลูกค้าส่งชำระหนี้ ธนาคารจะแบ่งภาระการตัดชำระหนี้ตามสัดส่วนต้นเงินและดอกเบี้ยในสัดส่วน 50 : 50 ของจำนวนเงินที่ลูกค้าส่งชำระ โดยลูกค้าต้องชำระเงินไม่น้อยกว่าร้อยละ 30 ของจำนวนดอกเบี้ยเงินกู้ทั้งหมด


3. มาตรการจ่ายต้น ปรับงวด โดยธนาคารจะปรับตารางชำระหนี้ใหม่ให้กับลูกค้าให้สอดคล้องกับรายได้และศักยภาพในการชำระหนี้ของลูกค้า เมื่อลูกค้าชำระต้นเงินไม่น้อยกว่าร้อยละ 1 ของจำนวนหนี้ทั้งสัญญา และสำหรับลูกค้า NPLs ธนาคารจะพิจารณาปรับปรุงโครงสร้างหนี้ให้กับลูกค้าตามศักยภาพในการชำระหนี้ โดยเงื่อนไขเป็นไปตามที่ธนาคารกำหนด

นอกจากนี้ ธ.ก.ส. ได้จัดทำมาตรการเสริมสภาพคล่องและฟื้นฟูลูกค้า เพื่อนำไปใช้ในการสร้างหรือซ่อมแซมที่อยู่อาศัย โรงเรือนการเกษตร เครื่องมือ เครื่องจักรกลการเกษตร รวมถึงการฟื้นฟูการผลิตที่ได้รับความเสียหายจากภัยธรรมชาติหรือภัยพิบัติ และลดปัญหาการก่อหนี้นอกระบบ วงเงินรวม 10,000 ล้านบาท ประกอบด้วย


1. สินเชื่อเพื่อเป็นค่าใช้จ่ายฉุกเฉิน เพื่อเป็นค่าใช้จ่ายในครัวเรือนและเสริมสภาพคล่องเกษตรกรในช่วงประสบภัย เช่น ค่าอุปโภคและบริโภคที่จำเป็น ปลอดดอกเบี้ย 6 เดือนแรก และเดือนที่ 7 เป็นต้นไป อัตราดอกเบี้ย MRR (ปัจจุบัน MRR เท่ากับร้อยละ 6.975) วงเงินรายละไม่เกิน 50,000 บาท ระยะเวลาชำระภายใน 3 ปี


2. สินเชื่อฟื้นฟูและพัฒนาคุณภาพชีวิต เพื่อเป็นค่าซ่อมแซมบ้านเรือนและทรัพย์สิน ค่าซ่อมเครื่องมือและอุปกรณ์การเกษตรที่ได้รับความเสียหาย ค่าใช้จ่ายในการทำการเกษตรรอบใหม่ วงเงินรายละ ไม่เกิน 500,000 บาท อัตราดอกเบี้ย MRR-2 ระยะเวลาชำระคืนไม่เกิน 15 ปี



ภาพจาก ผู้สื่อข่าวจ.นราธิวาส

ยอดนิยมในตอนนี้

แท็กยอดนิยม

ข่าวที่เกี่ยวข้อง