รีเซต

วันจักรี 6 เมษายน 2566 ประวัติ วันจักรี วันก่อตั้งราชวงศ์จักรี วันที่ระลึกมหาจักรีบรมราชวงศ์

วันจักรี 6 เมษายน 2566 ประวัติ วันจักรี วันก่อตั้งราชวงศ์จักรี วันที่ระลึกมหาจักรีบรมราชวงศ์
TrueID
6 เมษายน 2566 ( 10:14 )
1.6K
วันจักรี 6 เมษายน 2566 ประวัติ วันจักรี วันก่อตั้งราชวงศ์จักรี วันที่ระลึกมหาจักรีบรมราชวงศ์

6 เมษายน 2566 วันจักรี คือ วันที่ระลึกแห่งการขึ้นเถลิงถวัลยราชสมบัติเป็นปฐมบรมกษัตริย์แห่งพระบรมราช จักรีวงศ์ของพระบาทสมเด็จพระพุทธยอดฟ้าจุฬาโลกมหาราช ซึ่งตรงกับวันที่ 6 เมษายนของทุกปี 

 

ประวัติ วันจักรี

การก่อตั้งราชวงศ์จักรี

สำหรับ ประวัติ วันจักรี โดยราชวงศ์จักรี เป็นราชวงศ์ถัดจากสมเด็จพระเจ้าตากสินแห่งกรุงธนบุรี ซึ่งปกครองราชอาณาจักรที่สืบทอดกรุงศรีอยุธยามาจนเป็นประเทศไทยในปัจจุบัน เกิดขึ้นจากการที่สมเด็จเจ้าพระยามหากษัตริย์ศึก (ทองด้วง) ขุนนางซึ่งดำรงตำแหน่งสมุหนายก (จักรี) ในราชสำนักของสมเด็จพระเจ้าตากสิน ทรงยกทัพกลับ จากเขมรเพื่อเข้าปราบปรามการจลาจลในกรุงธนบุรี ภายหลังบ้านเมืองสงบเรียบร้อยแล้ว มุขอำมาตย์ราชมนตรีและราษฎรพร้อมใจอัญเชิญสมเด็จเจ้าพระยามหากษัตริย์ศึก ขึ้นเถลิงถวัลยราชสมบัติเป็นพระมหากษัตริย์ (ภายหลังปรากฏพระนามว่า พระบาทสมเด็จพระพุทธยอดฟ้าจุฬาโลกมหาราช) เมื่อวันที่ 6 เมษายน พ.ศ. 2325 แล้วย้ายศูนย์กลางการปกครองจากกรุงธนบุรีมายังกรุงเทพมหานครตั้งแต่วันที่ 21 เมษายน พ.ศ. 2325 ซึ่งเป็นเมืองหลวงมาจนถึงปัจจุบัน

 

ประวัติ วันจักรี 2566

 

พระบาทสมเด็จพระพุทธยอดฟ้าจุฬาโลกมหาราชทรงทำนุบำรุงบ้านเมืองให้เจริญ รุ่งเรืองเหมือนเมื่อครั้งบ้านเมืองยังดี ทรงฟื้นฟูการพระศาสนา พระราชภารกิจที่สำคัญยิ่งของพระองค์คือ ทรงสร้างพระนคร ป้อม ปราสาทราชมณเฑียร วัดพระศรีรัตนศาสดาราม พร้อมทั้งโปรดเกล้าฯ ให้มีการพระราชพิธีเฉลิมฉลองพระนคร พระราชทานนามพระนครที่สร้างใหม่นี้ว่า “กรุงเทพ มหานคร บวรรัตนโกสินทร์ มหินทรายุทธยา มหาดิลกภพ นพรัตนราชธานีบูรีรมย์ อุดมราชนิเวศน์มหาสถาน อมรพิมานอวตารสถิต สักกะทัตติยวิษณุกรรมประสิทธิ์” (ใน รัชสมัยพระบาทสมเด็จพระจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว รัชกาลที่ 4 ทรงเปลี่ยนจากบวรรัตนโกสินทร์ เป็น อมรรัตนโกสินทร์) และโปรดให้มีพระราชพิธีบรมราชาภิเษกครั้งที่ 2 พระบาทสมเด็จพระพุทธยอดฟ้าจุฬาโลกมหาราชมีพระมหากรุณาธิคุณต่อชาวไทยเป็น อเนกนานัปประการ

 

ที่มาของชื่อและสัญลักษณ์ประจำราชวงศ์จักรี

ชื่อของราชวงศ์จักรีมีที่มาจากบรรดาศักดิ์ "เจ้าพระยาจักรีศรีองครักษ์"  ตำแหน่งสมุหนายก ซึ่งเป็นตำแหน่งทางราชการที่พระองค์เคยทรงดำรงตำแหน่งมาก่อนในสมัยกรุงธนบุรี คำว่า "จักรี" นี้พ้องเสียงกับคำว่า "จักร" และ "ตรี" ซึ่งเป็นเทพอาวุธของ พระนารายณ์ พระบาทสมเด็จพระพุธทยอดฟ้าจุฬาโลกมหาราชจึงทรงพระกรุณาโปรดเกล้าฯให้สร้างพระแสงจักรและพระแสงตรีไว้ 1 สำรับ และกำหนดให้ใช้เป็นสัญลักษณ์ประจำราชงวศ์จักรีสืบมาจนถึงปัจุบัน

 

การหล่อพระบรมรูป

ในรัชสมัยพระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว รัชกาลที่ 5 โปรดเกล้าฯ ให้หล่อพระบรมรูปพระมหากษัตริย์ ลักษณะเหมือนพระองค์จริง ณ โรงหล่อหลังวัดพระศรีรัตนศาสดาราม 4 พระองค์ คือ พระบาทสมเด็จพระพุทธยอดฟ้าจุฬาโลกมหาราช พระบาทสมเด็จพระพุทธเลิศหล้านภาลัย พระบาทสมเด็จพระนั่งเกล้าเจ้าอยู่หัว และพระบาทสมเด็จพระจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว ประดิษฐานไว้บนพระที่นั่งดุสิตมหาปราสาท เพื่อรำลึกถึงพระมหากรุณาธิคุณของบูรพมหากษัตริย์ นอกจากนี้ยังโปรดให้พระบรมวงศานุวงศ์ ข้าราชการกราบถวายบังคมทูลปีละ 1 ครั้ง แต่ยังมิได้กำหนดเรียกว่า วันจักรี ครั้นในพ.ศ.2417 โปรดให้ย้ายที่ประดิษฐานพระบรมรูปไปประดิษฐานยังพระที่นั่งสุทไธสวรรยปราสาท  พ.ศ. 2425 โปรดให้ย้ายไป ณ พระที่นั่งศิวาลัยมหาปราสาท

 
ครั้นในรัชสมัยพระบาท สมเด็จพระมงกุฎเกล้าเจ้าอยู่หัว รัชกาลที่ 6 โปรดเกล้าฯ ให้จัดสร้างพระบรมรูปพระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว ประดิษฐานร่วมกับพระมหากษัตริย์ทั้ง 4 รัชกาล ต่อมาโปรดให้ซ่อมแซมพระพุทธปรางค์ปราสาทในวัดพระศรีรัตนศาสดารามซึ่งถูก เพลิงไหม้ และเปลี่ยนนามใหม่เป็นปราสาทพระเทพบิดร พร้อมกับโปรดเกล้าฯ ให้อัญเชิญพระบรมรูปพระมหากษัตริย์ 5 รัชกาล จากพระที่นั่งศิวาลัยมหาปราสาทมาประดิษฐานที่ปราสาทพระเทพบิดรเมื่อ พ.ศ. 2461 ความปรากฏในราชกิจจานุเบกษา วันที่ 21 เมษายน พ.ศ.2461 เล่มที่ 34 หน้า 116 ว่า

 
"มีพระบรมราชโองการ ดำรัสเหนือเกล้าฯ สั่งว่า พระบรมรูปพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวทั้ง 5 รัชกาล ซึ่งประดิษฐานอยู่ ณ พระที่นั่งศิวาไลยมหาปราสาทนั้น ยัง ไม่เหมาะแก่การพระราชพิธี ซึ่งเนื่องด้วยสักการบูชากราบถวายบังคม จึงโปรดเกล้าฯให้ซ่อมแปลงพระพุทธปรางค์ปราสาทในวัดพระศรีรัตนศาสดารามขึ้น เพื่อเปนที่ประดิษฐานพระบรมรูปพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว พระราชทานนามใหม่ว่า “ปราสาทพระเทพบิดร” แล ทรงพระราชอนุสรคำนึงถึงโบราณกาล ซึ่งได้ประดิษฐานมหาจักรีบรมราชวงศ์พระบาทสมเด็จพระรามาธิบดีศรีสินทรมหา จักรีบรมนารถ พระพุทธยอดฟ้าจุฬาโลกเปนปฐมบรมกระษัตริย์ ได้มีพระเดชพระคุณแก่สยามรัฐประเทศ เมื่อมีโอกาสอันใดอันหนึ่งก็ต้องสแดงความเชิดชู พระเกียรติคุณเปนที่ระลึกแห่งพระองค์ ในครั้งนี้จึงโปรดเกล้าฯให้ตั้งการพระราชพิธีในวันซึ่งเปนดฤถีคล้ายวันซึ่ง สมเด็จพระรามาธิบดีศรีสินทรมหาจักรีบรมนารถ พระพุทธยอดฟ้าจุฬาโลกเสด็จกรีธาทัพกลับถึงพระนคร ได้รับอัญเชิญเสด็จครอบครองสยามราชอาณาจักร เปนปฐมวาระที่พระองค์ดำรงสยามรัฏฐ์ราชอาณาจักร นับว่าเปนวันมหามงคลของมหาจักรีบรมราชวงศ์แลสยามประเทศ"

 

 การเริ่มพระราชพิธี

ในการนี้พระบาทสมเด็จพระมงกุฎเกล้าเจ้าอยู่หัวโปรดให้มีพระราชพิธีถวายบังคม พระบรมรูปในวันที่ 6 เมษายน ของทุกปี และโปรดฯ ให้เรียกวันนี้ว่า “วันจักรี” นับ ตั้งแต่ปี พ.ศ. 2461 เป็นต้นมา นอกจากนี้พระองค์ยังพระราชทานพระบรมราชานุญาตให้ประชาชนทั่วไปเข้ากราบถวาย บังคมพระบรมรูปได้  ในปี พ.ศ.2461 นั้นมีงานพระราชพิธีเป็นเวลา 2 วัน ประชาชนทั่วไปจะได้เข้ากราบถวายบังคมพระบรมรูปในวันที่ 7 เมษายน พ.ศ.2461 แต่ในปีต่อ ๆ มา โปรดให้ประชาชนเข้ากราบถวายบังคมในวันที่ 6 เมษายน อันถือเป็นวันที่ตรงกับวันจักรี

ใน พ.ศ.2470 ตรงกับรัชสมัยพระบาทสมเด็จพระปกเกล้าเจ้าอยู่หัว รัชกาลที่ 7 โปรดเกล้าฯ ให้มีพระราชพิธีหล่อพระบรมรูปพระบาทสมเด็จพระมงกุฎเกล้าเจ้าอยู่หัว ณ โรงหล่อกรมศิลปากร ประดิษฐานไว้ ณ ปราสาทพระเทพบิดร ต่อมาใน พ.ศ. 2475 ซึ่งเป็นปีที่กรุงเทพมหานครครบ 150 ปี พระบาทสมเด็จพระปกเกล้าเจ้าอยู่หัวมีพระราชดำริสร้างสิ่งที่เป็นอนุสรณ์ 2 สิ่ง ได้แก่ สะพานข้ามแม่น้ำเจ้าพระยา คือ สะพานพระพุทธยอดฟ้า และพระบรมราชานุสาวรีย์พระบาทสมเด็จพระพุทธยอดฟ้าจุฬาโลกมหาราช เชิงสะพานพระพุทธยอดฟ้าฝั่งพระนคร เพื่อเป็นที่ระลึกในการเฉลิมฉลองกรุงเทพมหานครและระลึกถึง พระมหากรุณาธิคุณของพระบาทสมเด็จพระพุทธยอดฟ้าจุฬาโลกมหาราช ในปีต่อมาทางราชการจึงกำหนดให้วันที่ 6 เมษายนของทุกปีเป็นวันสำคัญและเป็นวันหยุดราชการ และมีการกำหนดให้มีพิธีถวายบังคม วางพานพุ่มดอกไม้หน้าพระบรมราชานุสาวรีย์พระบาทสมเด็จพระพุทธยอดฟ้าจุฬาโลก มหาราช ณ บริเวณเชิงสะพานพระพุทธยอดฟ้า ครั้งถึงรัชสมัยพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวอานันทมหิดล พระอัฏฐมรามาธิบดินทร โปรดเกล้าฯ ให้หล่อพระบรมรูปพระบาทสมเด็จพระปกเกล้าเจ้าอยู่หัวและอัญเชิญมาประดิษฐาน ไว้ ณ ปราสาทพระเทพบิดร เมื่อพ.ศ. 2492 ต่อมาในรัชสมัยพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว โปรดให้มีพระราชพิธีหล่อพระบรมรูปพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวอานันทมหิดล พระอัฏฐมรามาธิบดินทร ที่โรงหล่อของกรมศิลปากรและอัญเชิญมาประดิษฐาน ณ ปราสาทพระเทพบิดร เหมือนในรัชกาลก่อน


ถวายพระราชสมัญญา “มหาราช

ในวันที่ 23 กุมภาพันธ์ พ.ศ.2525 คณะรัฐมนตรีมีมติให้ถวายพระราชสมัญญา “มหาราช” มีพระนามว่า พระบาทสมเด็จพระพุทธยอดฟ้าจุฬาโลกมหาราช ต่อมาในวันที่ 27 เมษายน พ.ศ.2525 มติคณะรัฐมนตรีให้เปลี่ยนชื่อการเรียกวันที่ 6 เมษายนของทุกปีว่า วันจักรี เป็นวันพระบาทสมเด็จพระพุทธยอดฟ้าจุฬาโลกมหาราชและวันที่ระลึกมหาจักรีบรม ราชวงศ์ ในวันนี้ประชาชนทุกหมู่เหล่าจะพร้อมใจกันวางพานพุ่มดอกไม้หน้าพระบรม ราชานุสาวรีย์ฯ บริเวณเชิงสะพานพระพุทธยอดฟ้าและเข้ากราบถวายบังคมพระบรมรูปหล่อบูรพมหา กษัตริย์แห่งพระราชวงศ์จักรี ทั้ง 8 พระองค์ในปราสาทพระเทพบิดร เพื่อระลึกถึงพระมหากรุณาธิคุณของทุกพระองค์ที่มีต่อปวงชนชาวไทย

 

ข้อมูล : wikipedia , กรมศิลปากร

 

บทความเกี่ยวกับ วันจักรี 2566 

 

--------------------

เกาะติดสถานการณ์โควิด-19  ทันความเคลื่อนไหว ได้ความรู้ที่ถูกต้อง ส่งตรงถึงมือคุณ
คลิกเลย!! >>> รู้ทันกันโควิด <<< หรือ กด *301*35# โทรออก

 

กดเลย >> community แห่งความบันเทิง

ทั้งข่าว หนัง ซีรีส์ ละคร ดนตรี และศิลปินไอดอล ที่คุณชื่นชอบ บนแอปทรูไอดี

 

ข่าวที่เกี่ยวข้อง