รีเซต

ทส. เตรียมเข้าร่วมประชุม COP28 จัดการปัญหาการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศร่วมกับประชาคมโลก

ทส. เตรียมเข้าร่วมประชุม COP28 จัดการปัญหาการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศร่วมกับประชาคมโลก
TNN ช่อง16
15 พฤศจิกายน 2566 ( 17:36 )
80
ทส. เตรียมเข้าร่วมประชุม COP28 จัดการปัญหาการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศร่วมกับประชาคมโลก

     กระทรวงทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม (ทส.) เตรียมเข้าร่วมการประชุมรัฐภาคีกรอบอนุสัญญาสหประชาชาติว่าด้วยการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ สมัยที่ 28 (COP28) ณ รัฐดูไบ สหรัฐอาหรับเอมิเรตส์ แสดงบทบาทของประเทศไทย ขยายโอกาสความช่วยเหลือทางการเงิน เทคโนโลยี วิชาการในการจัดการและปรับตัวต่อการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ พร้อมแลกเปลี่ยนประสบการณ์ทำงานร่วมกับประเทศสมาชิกในระดับภูมิภาคและระดับโลก

      วันนี้ (15 พฤศจิกายน 2566) นายนพดล พลเสน เลขานุการรัฐมนตรีว่าการกระทรวงทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม พร้อมด้วยนายเถลิงศักดิ์ เพ็ชรสุวรรณ รองปลัดกระทรวงทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม โฆษกกระทรวงทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม และนายปวิช เกศววงศ์ รองอธิบดีกรมการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศและสิ่งแวดล้อม ร่วมแถลงข่าวการเข้าร่วมการประชุมรัฐภาคีกรอบอนุสัญญาสหประชาชาติว่าด้วย
 การเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ สมัยที่ 28 (COP28) ของประเทศไทย โดยนายปวิช เกศววงศ์ รองอธิบดีกรมการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศและสิ่งแวดล้อม กล่าวว่า สำนักเลขาธิการกรอบอนุสัญญาสหประชาชาติว่าด้วยการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ กำหนดให้มีการประชุมรัฐภาคีกรอบอนุสัญญาสหประชาชาติว่าด้วยการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ (Conference of Parties to the United Nations Framework Convention on Climate Change: COP) เป็นประจำทุกปี โดยมีผู้แทนจากรัฐภาคีทั่วโลก ผู้แทนจากองค์การระหว่างประเทศและหน่วยงานที่เกี่ยวข้องเข้าร่วมการประชุม ซึ่งประเทศไทยในฐานะรัฐภาคีกรอบอนุสัญญาฯ ได้เข้าร่วมการประชุมอย่างเคร่งครัดมาตลอดทุกปี โดยในปีนี้ได้กำหนดจัดขึ้นในระหว่างวันที่ ๓๐ พฤศจิกายน – ๑๒ ธันวาคม ๒๕๖๖ ณ Expo City รัฐดูไบ สหรัฐอาหรับเอมิเรตส์  การประชุมประกอบด้วย การประชุมระดับผู้นำ ได้แก่ การประชุม World Climate Action Summit ระหว่างวันที่ ๑ - ๒ ธันวาคม ๒๕๖๖  ซึ่งเป็นการประชุมสำหรับประมุขของรัฐและหัวหน้ารัฐบาล การประชุม High-level Segment ระหว่างวันที่ ๙ - ๑๐ ธันวาคม ๒๕๖๖ ซึ่งเป็นการประชุมระดับรัฐมนตรีหรือผู้บริหารระดับสูงของรัฐบาล  การประชุมระดับเจ้าหน้าที่ ระหว่างวันที่ ๒๘ พฤศจิกายน – ๑๒ ธันวาคม ๒๕๖๖ (การประชุมเตรียมการกลุ่มประเทศ ๗๗ และจีน (Group of 77 and China) การประชุมรัฐภาคีกรอบอนุสัญญาฯ สมัยที่ ๒๘ (COP 28)   การประชุมรัฐภาคีพิธีสารเกียวโต สมัยที่ ๑๘ (CMP 18) การประชุมรัฐภาคีความตกลงปารีส สมัยที่ ๕ (CMA 5) การประชุมองค์กรย่อยเพื่อให้คำปรึกษาทางวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยี สมัยที่ ๕๙ (SBSTA 59) การประชุมองค์กรย่อยด้านการดำเนินงานสมัยที่ ๕๙ (SBI 59)) โดยคาดว่ามีผู้เข้าร่วมประชุม COP 28 จำนวนไม่น้อยกว่า ๕๐,๐๐๐ คน จากประเทศสมาชิก ๑๙๗ ประเทศ องค์การระหว่างประเทศ สื่อมวลชน และองค์กรอิสระ

     ประเด็นการการเจรจาที่สำคัญ ประกอบด้วย การประเมินสถานการณ์ดำเนินงานระดับโลก (Global Stocktake: GST)  การจัดทำเป้าหมายระดับโลกด้านการปรับตัวต่อการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ (Global Goal on Adaptation: GGA) เป้าหมายด้านการเงินเพื่อการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ (Climate Finance) ซึ่งภาคีประเทศกำลังพัฒนายังคงเรียกร้องให้เร่งระดมเงินให้ได้ ๑๐๐,๐๐๐ ล้านเหรียญสหรัฐฯ ภายในปี ค.ศ. ๒๐๒๕ เพื่อสนับสนุนการขับเคลื่อนการดำเนินงานตามการมีส่วนร่วมที่ประเทศกำหนด (NDC 2030) ให้บรรลุเป้าหมายตามที่แต่ละภาคีได้ให้คำมั่นไว้ การขับเคลื่อนการลดก๊าซเรือนกระจก (Mitigation Work Programme) ให้บรรลุเป้าหมายตามความตกลงปารีส กองทุนสำหรับการสูญเสียและความเสียหายที่เกิดขึ้นจากการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ (Loss & Damage Facility) เพื่อช่วยประเทศที่มีความเปราะบาง ลดการสูญเสียและความเสียหายที่เกิดขึ้นจากการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ

     การเข้าร่วมการประชุมครั้งนี้เป็นการแสดงบทบาทในเชิงบวกของประเทศไทยในการให้ความร่วมมือกับประชาคมโลกในการจัดการกับปัญหาการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ และขยายโอกาสในการได้รับความช่วยเหลือทางการเงิน เทคโนโลยี วิชาการในการจัดการและปรับตัวต่อการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศร่วมกับประชาคมโลก รวมถึงแลกเปลี่ยนข้อมูลข่าวสารประสบการณ์ทำงานร่วมกับประเทศสมาชิกอื่นทั้งในระดับภูมิภาคและระดับโลก พร้อมทั้งรับทราบข้อมูลที่เป็นประโยชน์ต่อการดำเนินงานเตรียมการทำงานของกรมการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศและสิ่งแวดล้อมในฐานะผู้ประสานงานหลักระดับประเทศของอนุสัญญาทั้งในระดับภูมิภาค ประเทศ และระดับท้องถิ่น โดยข้อตัดสินใจจากการประชุม COP 28 เมื่อสิ้นสุดการประชุม จะมีการสรุปผลการประชุมเสนอคณะรัฐมนตรีเพื่อทราบและมอบหมายหน่วยงานที่เกี่ยวข้องดำเนินการ กรณีที่มีข้อริเริ่ม (Initiative) ที่ภาคีจะต้องให้การรับรอง/เข้าร่วมในช่วงของการประชุม COP 28 และจะนำเสนอต่อคณะกรรมการนโยบายการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศแห่งชาติ (กนภ.) พิจารณาให้ความเห็นชอบก่อนเสนอ ครม. พิจารณาเห็นชอบให้ประเทศไทยร่วมรับรอง/เข้าร่วม นอกจากนี้ ประเทศไทยจะนำผลสำเร็จของการประชุมภาคีการขับเคลื่อนการปฏิบัติงานด้านการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศของไทย ครั้งที่ 2 (TCAC 2023) ที่ได้สะท้อนถึงความมุ่งมั่นและการมีส่วนร่วมของทุกภาคส่วนในการขับเคลื่อนการดำเนินงานเพื่อบรรลุเป้าหมายของประเทศร่วมกัน เสนอต่อที่ประชุมรัฐภาคี COP 28 ใน 4 ประเด็นหลัก คือ 1) การขับเคลื่อนนโยบายการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศในระดับโลก ระดับประเทศ ระดับจังหวัด และระดับพื้นที่ 2) เทคโนโลยีที่เป็นมิตรต่อการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ 3) กลไกการเงินด้านการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ ผ่านการเพิ่มประสิทธิภาพของกองทุนสิ่งแวดล้อมและการบริหารจัดการคาร์บอนเครดิต และ 4) การมีส่วนร่วมของทุกภาคส่วนในทุกระดับ


     ทั้งนี้ ได้มีการจัดแสดงนิทรรศการและกิจกรรมคู่ขนาน (Side Event) ผลการดำเนินการของประเทศไทย ภายใต้อนุสัญญาสหประชาชาติว่าด้วยการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ เป็นการเผยแพร่ข้อมูลและและนำเสนอผลการดำเนินงานด้านการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศของประเทศไทยสู่ประชาคมโลก รวมทั้งเป็นเวทีเสวนาแลกเปลี่ยน

ความคิดเห็น ข้อมูล ความรู้ และประสบการณ์ด้านการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศระหว่างนักวิชาการ ผู้แทนรัฐบาล องค์กรเอกชนและองค์กรระหว่างประเทศ ณ Thailand Pavilion ขนาดพื้นที่ 147 ตารางเมตร โดยมีหัวการจัดแสดงนิทรรศการที่สำคัญ อาทิ แผนที่นำทางการลดก๊าซเรือนกระจกของประเทศไทย พ.ศ. 2564 – 2573 (NDC Roadmap) แผนปฏิบัติการด้านการลดก๊าซเรือนกระจกของประเทศ แผนการปรับตัวต่อการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศแห่งชาติ เครื่องมือกลไกภายในและระหว่างประเทศ Thailand Innovation Zone รวมถึงกิจกรรมคู่ขนาน (Side Event) ภายใต้แนวคิด “Climate Partnership Determination” ร่วมกับหน่วยงานภาคีเครือข่ายภาครัฐและเอกชน รวมถึงเยาวชน และสถาบันการศึกษา รวมกว่า 20 หน่วยงาน

ข่าวที่เกี่ยวข้อง