รีเซต

“พิชัย”รับคลังศึกษาขึ้นแวต ลดภาษีเงินได้นิติบุคคล-บุคคลธรรมดาเหลือ 15%

“พิชัย”รับคลังศึกษาขึ้นแวต ลดภาษีเงินได้นิติบุคคล-บุคคลธรรมดาเหลือ 15%
ทันหุ้น
3 ธันวาคม 2567 ( 11:06 )
8

“พิชัย”รับคลังศึกษาขึ้นแวต หนุนฐานภาษีบริโภคโต สร้างรายได้รัฐ ลดปัญหาเหลื่อมล้ำ พร้อมลดภาษีเงินได้นิติบุคคล-บุคคลธรรมดาเหลือ 15% ชี้เป็นแนวทางเก็บรายได้ของทั่วโลก จี้นโยบายการเงินต้องหนุนการลงทุน แนะดอกเบี้ยต่ำ-เงินบาทอ่อน-เงินเฟ้อสูง

 

#ทันหุ้น นายพิชัย ชุณหวชิร รองนายกรัฐมนตรีและรัฐมนตรีว่าการกระทรวงการคลังกล่าวปาฐกถาหัวข้อ SUSTAINABILITY FORUM 2025ว่า เพื่อสร้างความยั่งยืนให้แก่เศรษฐกิจไทย ในแง่นโยบายการเงินและการคลังจะต้องสนับสนุนการลงทุนและการเติบโตของประเทศ โดยในส่วนนโยบายการเงินนั้น จะต้องสนับสนุนให้ภาคเอกชนและประชาชนมีต้นทุนที่ต่ำลง ขณะที่ นโยบายการคลังจะต้องจัดเก็บรายได้ให้มากขึ้น เพื่อนำรายได้มาลดปัญหาความเหลื่อมล้ำทางสังคมและสร้างให้เศรษฐกิจเติบโต

 

เขากล่าวว่า ขณะนี้ ถึงเวลาแล้วที่การลงทุนในประเทศจะต้องเกิดขึ้น โดยถือเป็นจังหวะที่ดี เพราะขณะนี้มีการเปลี่ยนแปลงหลายอย่างในโลก ทั้งปัญหาโลกร้อน หรือ ปัญหาการเมืองระหว่างประเทศที่ทำให้เกิดการย้ายฐานการลงทุน ซึ่งไทยเป็นหนึ่งในประเทศที่นักลงทุนสนใจทั้งจากสหรัฐอเมริกาและจีน เหตุผลเพราะไทยมีศักยภาพที่ครบดถ้วน เช่น ภูมิประเทศ และมีขนาดที่ใหญ่เทียบประเทศอื่นในเอเชีย รวมถึง จำนวนประชากรที่เหมาะสม แปลว่า ไทยพร้อมตอบสนองเรื่องการลงทุนพลังงานสีเขียว

 

“20 ปีที่ผ่านมา การลงทุนเราต่ำจากอดีตค่อนข้างมาก ปัจจุบันอยู่ที่ 20% บวกลบของจีดีพี ในช่วงที่ดีดี เราลงทุนเกือบ 40% ต่อจีดีพี แปลว่า การลงทุนน้อยและต่อเนื่อง แต่ขณะนี้ เราเห็นว่า การลงทุนเริ่มทยอยเข้ามาทั้งสหรัฐและจีน ธุรกิจที่มา คือ ธุรกิจที่สนองความยั่งยืน คือ เรื่องอะไรก็ตามที่ใช้พลังงานสะอาด เป็นองค์ประกอบให้เรียลเซ็คเตอร์ของเราให้มีประสิทธิภาพมากยิ่งขึ้น โดย 9 เดือนที่ผ่านมา มีคนสนใจเข้าลงทุนบ้านเรา 7แสนล้านบาทแล้ว สิ้นปีเราคาดว่า จะไปถึง 1 ล้านล้าน สูงสุดในรอบหลายสิบปีที่ผ่านมา”

 

เขากล่าวว่า สิ่งที่รัฐบาลต้องทำ คือ สนับสนุนการแก้ไขปัญหาเชิงโครงสร้าง โดยนโยบายการเงินต้องสนับสนุนให้เกิดการลงทุน กล่าวคือ ดอกเบี้ยต้องต่ำเพื่อให้ต้นทุนต่ำลง เมื่อดอกเบี้ยลงก็จะมีข้อกังวลเรื่องเงินเฟ้อที่จะสูงขึ้นชาวบ้านจะเดือนร้อน อยากเรียนว่า ปีนี้เงินเฟ้อไม่ถึง 1% ไม่แน่ใจเฉลี่ยทั้งปีจะเกิน 0.6-0.7% หรือไม่ จึงเป็นช่องทางที่อัตราดอกเบี้ยปรับลดลงได้

 

นโยบายการเงินด้านที่สอง คือ ค่าเงินบาทอ่อน แต่ก็ยอมรับว่า เป็นเรื่องยาก เพราะความเชื่อมั่นที่มีต่อประเทศ ทำให้เงินดอลลาร์ไหลเข้ามาก ทำให้เงินบาทแข็ง แต่ต้องมีวิธีจัดการ โดยย้ายทุนสำรองระหว่างประเทศไปไว้อีกกล่องหนึ่ง เป็นเรื่องที่ประเทศอื่นทำ ก็จะทำให้เงินบาทอ่อนลงได้ แต่เงินบาทที่จะอ่อนลงได้นั้น ไม่ใช่เรื่องที่คิดอยากจะทำก็จะทำ เป็นมาตรการระยะยาว ดังนั้น มาตรการที่จะทำจะต้องทำให้ค่าเงินมีเสถียรภาพและไปทางอ่อนค่า

 

“สมมติวันนี้ เราทำมาเมื่อ 15ปีที่แล้ว บังเอิญอ่อนอยู่ที่ 45 บาทต่อดอลลาร์ เราไม่รู้สึก เพราะทำมา 15ปีแล้ว ก็ขายข้าว 1เหรียญสหรัฐได้ 45 บาท แทนที่จะได้ 33 บาท ก็แก้ปัญหาได้หลายอย่าง เพราะประเทศไทยเป็นประเทศส่งออก 65-70% ผมคิดว่า ถ้าการลงทุนเข้ามา เราอาจจะวิ่งไปที่ 70%”

 

ด้านนโยบายการคลังนั้น ก็ต้องเอื้อต่อการเติบโตของประเทศ ในช่วงเศรษฐกิจไม่ดี รัฐบาลก็ต้องเข้ามาอุดหนุน เช่น 9ปีที่ผ่านมา หนี้สาธารณะอยู่ที่ 4.8 ล้านล้านเหรียญสหรัฐ ตอนนี้ ก็ประมาณ 12 ล้านล้านเหรียญสหรัฐ แต่หนี้มากน้อยไม่ใช่ปัญหา โดยปัญหาอยู่ที่มีความสามารถในการชำระหนี้หรือไม่ ในแง่รัฐบาลแล้ว เศรษฐกิจที่เติบโตจะสามารถกำหนดนโยบายการคลังได้มากขึ้น

 

 

“ในระยะ 2 ปีที่ผ่าน เราขาดดุลงบประมาณไป 4% กว่า ของจีดีพี ถือว่า อยู่ในระดับสูงไป รัฐบาลไม่อยากติดลบมากขนาดนั้น โดยเฉลี่ยควรอยู่ที่ 3.2%แต่ประเทศที่มีการเติบโตเราอาจไปได้ถึง 3.75% ไม่น่าเกลียด หรือ หากจีดีพีโตได้ 4-5% เราสามารถสร้างหนี้ได้ 4.2% ฉะนั้น รัฐบาลพยายามจะทำให้จีดีพีเติบโต โดยนโยบายการเงินการคลังต้องสนับสนุน”

 

เขากล่าวด้วยว่า เมื่อเศรษฐกิจเติบโต รัฐบาลก็ต้องเก็บรายได้ให้มากขึ้น มีหลายบริษัทข้ามโลก ภาษีอาจไม่ได้เสียให้กับเจ้าของประเทศ ดังนั้น กลุ่มประเทศ OECD ออกเกณฑ์ภาษีว่า ทุกคนที่ทำมาค้าขายต้องรับผิดชอบต่อเจ้าของประเทศโดยควรเสียภาษีเงินได้นิติบุคคล 15%ประเทศไทยก็ต้องรับ ขณะที่ เราเก็บที่ 20% ฉะนั้น จะทำอย่างไรให้ลดลงมาเหลือ 15% เพื่อแข่งขันกับชาวโลกได้

 

สำหรับภาษีเงินได้บุคคลธรรมดานั้น วันนี้ มีการแย่งคนที่มีความสามารถเข้ามาทำงานในประเทศ หลายประเทศลดภาษีลง บ้านเราเก็บ 35% ก็อาจจะไม่ได้จ่ายกันมากนัก ถ้าเก็บอัตราที่ลงมาสุดท้ายมาอยู่ที่ 15% แปลว่า เราก็ต้องปรับตัวเอง อย่างไรก็ดี ฐานภาษีเงินได้บุคคลธรรมดาเราต่ำ ขณะที่ ฐานภาษีจากการบริโภคอยู่ในระดับสูง ดังนั้น เราจึงต้องปรับฐานนี้ โดยแวตเราเก็บที่ 7% จากเพดานที่ 10% แต่ทั่วโลกเก็บระหว่าง 15-25%แปลว่า เราเก็บภาษีนี้น้อย

 

เขากล่าวว่า ภาษีสำหรับการบริโภคนี้ คนมองเป็นเรื่องละเอียดอ่อน แต่ถ้าเราเก็บที่สูงขึ้นและเหมาะสม จะเป็นเครื่องมือช่วยคนรายได้ต่ำ ช่องว่างคนรวยกับคนจนจะลดลง เพราะเราเก็บภาษีในฐานเดียวกันของทุกคน แน่นอนการบริโภคก็เป็นไปตามฐานะ ถ้าเราเก็บในอัตราต่ำ แปลว่า ทุกคนจ่ายต่ำ เงินที่ไปกองตรงกลางก็เป็นยอดต่ำ ถ้าเก็บสูงขึ้น คนรวยมากก็จ่ายสูงขึ้นตามยอดการใช้จ่าย เงินกองกลางก็ใหญ่ขึ้น เอาไปใช้ในมาตรการช่วยเหลือคนรายได้น้อยได้มากขึ้น

 

“นี่คือที่หลายประเทศทำกัน ดังนั้น การเก็บภาษีสูงหรือต่ำต้องไคร่ครวญและพิจารณาให้ดี ในแง่ของนโยบายการเงินทางด้านรายได้ภาครัฐ ผมคิดเรื่องนี้ทุกคืนว่า จะทำอย่างไรให้ทุกคนเข้าใจก่อน ถ้าไม่เข้าใจ ผมจะอยู่รอดถึงวันไหน เป็นเรื่องเซ็นซิทีฟ”

 

นอกจากนี้ รัฐบาลยังต้องพิจารณาถึงการเพิ่มเงินออมของประเทศด้วย เพราะเราเป็นประเทศสังคมสูงวัย แม้ว่า เราจะมีเงินออมจากฝั่งประกันสังคม เงินกองทุนสำรองเลี้ยงชีพ แต่เมื่อถึงวัยเกษียณแล้ว เงินออมเหล่านี้ จะหายไปอย่างรวดเร็ว ถือเป็นระเบิดเวลาอย่างหนึ่ง

 

ยอดนิยมในตอนนี้

แท็กยอดนิยม

ข่าวที่เกี่ยวข้อง