เกาะติดสถานการณ์ 'รัสเซีย-ยูเครน' (30 เม.ย.2565)

ข่าววันนี้ สถานการณ์วิกฤต "รัสเซียยูเครน" ล่าสุด CNN เผย EU หรือ สหภาพยุโรป ซื้อพลังงานรัสเซียในช่วง 2 เดือน คิดเป็นมูลค่า 44,000 ล้านยูโร อ่าน : เกาะติดสถานการณ์ 'รัสเซีย-ยูเครน' (29 เม.ย.2565)
เกาะติดสถานการณ์ 'รัสเซีย-ยูเครน' (30 เม.ย.2565)
รัฐมนตรีต่างประเทศรัสเซียระบุ ไม่ได้คิดจะทำสงครามกับองค์การนาโต
สำนักข่าว RIA ของรัสเซีย รายงานว่า เซอร์เก ลาฟรอฟ รัฐมนตรีต่างประเทศรัสเซีย กล่าวเมื่อวานนี้ (29 เมษายน) ในการให้สัมภาษณ์กับช่องข่าว Al Arabiya ในดูไบว่า รัสเซียไม่ได้คิดจะทำสงครามกับองค์การนาโตโดยผ่านยูเครน เพราะหากเหตุการณ์บานปลายไปถึงขั้นนั้น จะเพิ่มความเสี่ยงในการเกิดสงครามนิวเคลียร์ได้
ลาฟรอฟยังกล่าวโทษว่าเป็นความผิดยูเครน ที่ทำให้การเจรจาสันติภาพรัสเซีย-ยูเครนชะงักงันอยู่ในขณะนี้ เป็นเพราะฝ่ายยูเครนเปลี่ยนจุดยืนการเจรจาไปมา จากการฟังคำแนะนำของประเทศตะวันตกอย่างสหรัฐฯ และสหราชอาณาจักร ที่ไม่ต้องการเร่งการเจรจาสันติภาพให้รวดเร็ว
ก่อนหน้านี้ ลาฟรอฟเคยระบุว่า นาโตกำลังทำสงครามตัวแทนกับรัสเซีย จากการที่ประเทศตะวันตกและประเทศสมาชิกองค์การนาโตส่งอาวุธให้แก่ยูเครนอย่างต่อเนื่อง
พร้อมกันนี้ รัฐมนตรีต่างประเทศรัสเซียยังกล่าวเตือนประเทศโมลโดวา ควรเป็นห่วงอนาคตของตัวเอง เพราะโมลโดวากำลังถูกดึงให้เข้าร่วมองค์การนาโต
ทั้งนี้ ได้เกิดเหตุระเบิดหลายครั้งในโมลโดวาในสัปดาห์นี้ ในพื้นที่ที่มีความขัดแย้งเรื่องการแบ่งแยกดินแดน จนทำให้หวั่นกลัวว่า ความขัดแย้งในยูเครนจะขยายวงไปถึงโมลโดวาด้วย
ขณะเดียวกัน ดมิทรี เปสคอฟ โฆษกรัฐบาลรัสเซีย กล่าวหลังประธานาธิบดี โจ ไบเดน ของสหรัฐฯ ได้เสนอร่างกฎหมายอนุญาตให้เจ้าหน้าที่สหรัฐฯ สามารถยึดสินทรัพย์ของชาวรัสเซีย และนำเงินที่ยึดได้ ไปใช้สนับสนุนยูเครนว่า การกระทำดังกล่าวจะเข้าข่ายเป็นการบังคับยึดสินทรัพย์ของเอกชน ซึ่งเป็นการกระทำที่ผิดกฎหมาย
ก่อนหน้านี้ ประธานาธิบดีไบเดนได้รับรองร่างกฎหมายใหม่ที่เพิ่งเสนอต่อรัฐสภาสหรัฐฯ ในสัปดาห์นี้ อนุญาตให้เจ้าหน้าที่สหรัฐฯ นำสินทรัพย์และเงินของมหาเศรษฐีชาวรัสเซีย ที่ใกล้ชิดกับประธานาธิบดี วลาดิเมียร์ ปูติน ของรัสเซีย ที่ยึดมาได้จากมาตรการคว่ำบาตร ไปมอบให้แก่ยูเครน หรือใช้จัดหาอาวุธหรือฟื้นฟูบูรณะยูเครน
กระทรวงกลาโหมสหรัฐฯ ชี้ ปฏิบัติการควบคุมภูมิภาคดอนบาสของรัสเซีย ล่าช้าอย่างมาก
กระทรวงกลาโหมสหรัฐฯ หรือเพนตากอน บอกกับสื่อมวลชนว่า ปัจจัยที่ทำให้ทหารรัสเซียยังไม่สามารถควบคุมภูมิภาคดอนบาส ที่อยู่ทางตะวันออกของยูเครน และมีพรมแดนติดกับรัสเซียได้นั้น คือ การต่อต้านอย่างมีแสนยานุภาพของทหารยูเครน
ไม่เพียงเท่านั้น ความล้มเหลวในการยึดกรุงเคียฟ ทำให้กองทัพรัสเซียขาดขวัญกำลังใจ และไม่กล้าตัดสินใจเด็ดขาด จนทำให้สถานการณ์สู้รบในดอนบาสอาจยืดเยื้อเป็นเวลานาน
ช่วงสัปดาห์ที่ผ่านมา สหรัฐฯ และพันธมิตรชาติยุโรปเร่งส่งอาวุธหนักให้ยูเครน เพื่อต้านทานรัสเซีย ทั้งปืนใหญ่ฮาววิตเซอร์ และระบบต่อต้านอากาศยานต่าง ๆ
ขณะที่ ทหารรัสเซียนั้น ตอนนี้มีหน่วยรบอยู่ 92 หน่วยกระจายอยู่ทางตะวันออกและตอนใต้ของยูเครน แต่กระจุกตัวอยู่ใกล้พรมแดนติดกับรัสเซียมากกว่า การสู้รบจึงยังอยู่ในวงจำกัด
ก่อนหน้านี้ เพนตากอนมองว่า วิกฤตการณ์ในยูเครน อาจยาวนานถึงหลายปีเลยทีเดียว
ประธานาธิบดี “เซเลนสกี” ของยูเครน เตือนว่า การเจรจาสันติภาพยูเครน-รัสเซีย เสี่ยงสูงที่จะล่ม
สำนักข่าว Interfax Ukraine รายงานว่า ประธานาธิบดี โวโลดิมีร์ เซเลนสกี ของยูเครน ให้สัมภาษณ์ผู้สื่อข่าวของโปแลนด์เมื่อวานนี้ (29 เมษายน) เตือนว่า มีความเสี่ยงสูงมากที่การเจรจาสันติภาพระหว่างยูเครนกับรัสเซีย อาจจะล่มลงกลางคัน เนื่องจากขณะนี้ชาวยูเครนกำลังรู้สึกโกรธแค้นทหารรัสเซียอย่างมาก ทำให้การเจรจาสันติภาพยากจะดำเนินต่อไปได้ในบรรยากาศเช่นนี้
พร้อมกันนี้ ผู้นำยูเครนยังเปิดเผยเป็นครั้งแรกด้วยว่า เขาเกือบถูกทหารรัสเซียจับตัวไปตั้งแต่วันแรกของปฏิบัติการรัสเซียในยูเครนเมื่อวันที่ 24 กุมภาพันธ์ที่ผ่านมา
เซเลนสกี เล่าว่า เขาได้รับแจ้งจากผู้นำกองทัพยูเครนว่า รัสเซียส่งทีมโจมตีกระโดดร่มลงไปในกรุงเคียฟ เมืองหลวงยูเครน เพื่อจับเป็นหรือสังหารเขาและครอบครัว ตั้งแต่ชั่วโมงแรก ๆ ที่รัสเซียเริ่มปฏิบัติการ, เซเลนสกีเปิดเผยเรื่องนี้หลังรัสเซียปฏิบัติการย่างเข้าเดือนที่ 3
ทหารรัสเซียพยายามบุกเข้าไปในทำเนียบประธานาธิบดียูเครน 2 ครั้งในวันที่ 24 กุมภาพันธ์แต่ล้มเหลว เนื่องจากการคุ้มครองขององครักษ์พิทักษ์ประธานาธิบดีและกองทัพยูเครน ในขณะนั้นเซเลนสกีอยู่ภายในทำเนียบพร้อมกับครอบครัวคือภรรยาและลูก 2 คน
หลังจากนั้น ประธานาธิบดีเซเลนสกีและครอบครัวได้รับการอพยพออกจากทำเนียบประธานาธิบดียูเครนโดยกองกำลังของสหรัฐฯ กับสหราชอาณาจักร และได้รับคำแนะนำให้อพยพออกนอกประเทศ ไปจัดตั้งรัฐบาลพลัดถิ่นในโปแลนด์ แต่เซเลนสกีปฏิเสธ และยืนยันจะอยู่ในกรุงเคียฟต่อไปจนถึงปัจจุบัน
ระดับรังสีในเขตหวงห้ามของโรงไฟฟ้านิวเคลียร์เชอร์โนบิลในยูเครนยังอยู่ในเกณฑ์ปลอดภัย
ราฟาเอล กรอสซี ผู้อำนวยการทบวงฯ นำทีมลงพื้นที่โรงไฟฟ้านิวเคลียร์เชอร์โนบิลเมื่อต้นสัปดาห์นี้ เพื่อส่งมอบอุปกรณ์ ดำเนินการประเมินทางรังสีวิทยา และฟื้นฟูระบบเฝ้าติดตามการป้องกัน
กรอสซี แถลงข่าวในกรุงเวียนนา ประเทศออสเตรีย หลังกลับจากยูเครนว่าเจ้าหน้าที่ทบวงฯ ได้วัดระดับรังสีบริเวณเขตหวงห้ามของเชอร์โนบิล ซึ่งคาดว่ากองทัพรัสเซียได้เข้าไปขุดค้นพื้นที่บางส่วน และพบระดับรังสีในพื้นที่ขุดค้นอยู่ที่ 6.5 มิลลิซีเวิร์ตต่อปี สูงกว่าตัวเลข 1.6 มิลลิซีเวิร์ตต่อปีในบริเวณถนนใกล้เคียง แต่ยังต่ำกว่าขีดจำกัดที่กำหนดไว้ 20 มิลลิซีเวิร์ต ซึ่งถือว่าปลอดภัยสำหรับคนงานที่สัมผัสกับรังสีในพื้นที่
กรอสซี ระบุว่า แม้ระดับรังสีจะเพิ่มขึ้น แต่ยังต่ำกว่าระดับที่ได้รับอนุญาตสำหรับคนงานในสภาพแวดล้อมที่ต้องพบเจอรังสีประเภทนี้อย่างมีนัยสำคัญ โดยขณะนี้เจ้าหน้าที่ทบวงฯ ทำงานเพื่อซ่อมแซมระบบเฝ้าติดตามการป้องกันที่เชอร์โนบิล
ทั้งนี้ โรงไฟฟ้านิวเคลียร์เชอร์โนบิล ซึ่งอยู่ห่างจากกรุงเคียฟไปทางเหนือประมาณ 110 กิโลเมตร เคยประสบอุบัติเหตุนิวเคลียร์ครั้งเลวร้ายที่สุดครั้งหนึ่งในประวัติศาสตร์มนุษยชาติ เมื่อวันที่ 26 เมษายน 1986 ด้านกองทัพรัสเซียเข้าควบคุมโรงไฟฟ้าแห่งนี้นาน 5 สัปดาห์ ก่อนจะถอนกำลังออกไปในวันที่ 31 มีนาคม ที่ผ่านมา
นอกจากนั้น กรอสซียังเผยความกังวลเกี่ยวกับโรงไฟฟ้านิวเคลียร์ซาปอริซเซีย (Zaporizhzhia) ซึ่งเป็นโรงไฟฟ้านิวเคลียร์ขนาดใหญ่ที่สุดของยูเครน ซึ่งยังอยู่ภายใต้การควบคุมของรัสเซียในขณะนี้ โดยเขาได้พูดคุยกับทางการยูเครนและรัสเซียเพื่อรับรองความปลอดภัยของโรงไฟฟ้าแห่งนี้
CNN เผย EU หรือ สหภาพยุโรป ซื้อพลังงานรัสเซียในช่วง 2 เดือน คิดเป็นมูลค่า 44,000 ล้านยูโร
ลอริ มิลลิเวอรตา นักวิเคราะห์ของ CREA เปิดเผยต่อ CNN ว่า การนำเข้าพลังงานจากรัสเซียของประเทศ EU เพิ่มขึ้นกว่าเท่าตัวเมื่อ 2 เดือนที่ผ่านมา เทียบกับช่วงเวลาเดียวกันของปีที่แล้ว และราคาพุ่งขึ้นอีกด้วย
จากสถิติบ่งชี้ว่า ช่วง 2 เดือน EU นำเข้าก๊าซรัสเซียผ่านทางท่อส่ง เพิ่มขึ้น 10% แบบปีต่อปี และก๊าซธรรมชาติเหลว เพิ่มขึ้นกว่า 20% ขณะที่ การนำเข้าน้ำมันและถ่านหินลดลง 20% และ 40% ตามลำดับ
ขณะเดียวกัน สำนักข่าว Bloomberg รายงานอ้างแหล่งข่าวที่ระบุว่า 4 บริษัทของยุโรป ได้จ่ายเงินค่าก๊าซเป็นรูเบิล ตามที่รัสเซียต้องการ และบริษัทยุโรป 10 แห่งเปิดบัญชีที่กาซพรอมแบงก์ของรัสเซีย
โฆษกบริษัทยูนิเพอร์ ซึ่งเป็นบริษัทพลังงานในเยอรมนี บอกว่า จะซื้อก๊าซผ่านทางธนาคารรัสเซีย แทนธนาคารยุโรป หลังก็าซพรอม อุตสาหกรรมก๊าซยักษ์ใหญ่ของรัสเซีย ระงับการส่งก๊าซให้โปแลนด์ และบัลแกเรีย เนื่องจากสองประเทศ ไม่ยอมจ่ายเป็นเงินรูเบิลตามที่รัสเซียต้องการ
ก่อนหน้านี้ เมื่อเดือนที่แล้ว ประธานาธิบดีวลาดิเมียร์ ปูติน ผู้นำรัสเซีย ลงนามในร่างกฏหมายว่าด้วยกฏการค้าก๊าซธรรมชาติใหม่กับกลุ่มประเทศ และภูมิภาคที่ไม่เป็นมิตรกับรัสเซีย พร้อมประกาศระงับสัญญาปัจจุบัน หากประเทศผู้ซื้อไม่ยอมจ่ายเป็นเงินรูเบิล ทำให้โปแลนด์ และบัลแกเรีย กลายเป็นสองประเทศแรก ที่ถูกตัดก๊าซ ขณะที่ ราคาก๊าซในตลาดยุโรปพุ่งพรวดหลังจากนั้น
EU นำเข้าก๊าซจากรัสเซีย ราว 40% และน้ำมันจากรัสเซีย 30% ขณะที่ เยอรมนี ประเทศที่มีเศรษฐกิจใหญ่สุดใน EU เป็นผู้บริโภคพลังงานรัสเซียมากที่สุดในสหภาพยุโรป
ข้อมูล : TNN World
ภาพ : Reuters
--------------------
เกาะติดสถานการณ์โควิด-19 ทันความเคลื่อนไหว ได้ความรู้ที่ถูกต้อง ส่งตรงถึงมือคุณ
คลิกเลย!! >>> รู้ทันกันโควิด <<< หรือ กด *301*35# โทรออก
กดเลย >> community แห่งความบันเทิง
ทั้งข่าว หนัง ซีรีส์ ละคร ดนตรี และศิลปินไอดอล ที่คุณชื่นชอบ บนแอปทรูไอดี