รีเซต

ยานพาหนะแห่งโลกอนาคตที่จะเกิดขึ้นในอีก 10 ปี มีอะไรเป็นไปได้บ้าง

ยานพาหนะแห่งโลกอนาคตที่จะเกิดขึ้นในอีก 10 ปี มีอะไรเป็นไปได้บ้าง
TNN ช่อง16
28 ตุลาคม 2565 ( 09:00 )
219

รถยนต์ เรือ เครื่องบิน เป็นตัวอย่างยานพาหนะพื้นฐานที่เกิดขึ้นต่างยุคต่างสมัย แต่ได้รับการพัฒนาจนเข้าสู่ยุคปัจจุบัน ทั้งรถยนต์พลังงานไฟฟ้า เรือพลังงานไฟฟ้า เครื่องบินที่ใช้เชื้อเพลิงสะอาด หรือแม้แต่ลูกผสมที่กำลังมาแรงอย่างแท็กซี่บินได้ที่เป็นอากาศยานขึ้นลงทางดิ่ง (eVTOL) ที่เป็นยานพาหนะผสมระหว่างเครื่องบินกับเฮลิคอปเตอร์ คำถามที่ตามมาอย่างเลี่ยงไม่ได้ก็คือ ในอนาคต ยานพาหนะเหล่านี้จะมีรูปร่างหน้าตาเปลี่ยนไปอย่างไร และมีสิ่งใดที่อาจจะไม่ได้ไปต่อหรือถูกแทนที่ได้บ้าง


การเดินทางในอดีตและปัจจุบัน


การเดินทางในอดีตมนุษย์เริ่มจากการพัฒนารูปแบบยานพาหนะแบบง่าย ๆ ใช้สัตว์เลี้ยงลากจูงจนเริ่มมีการพัฒนาเครื่องยนต์ไอน้ำ มอเตอร์ไฟฟ้าและเครื่องยนต์ที่ใช้น้ำมัน เครื่องยนต์ที่ใช้น้ำมันประสบความสำเร็จมากกว่าในด้านของการใช้งานและกลายเป็นตัวขับเคลื่อนหลักในการเดินทางของมนุษย์ทั้งในรูปแบบเครื่องบิน รถยนต์และเรือบนผิวน้ำ


Net Zero อิทธิพลสำคัญของรูปแบบการเดินทาง


ภาวะโลกร้อนสร้างการตระหนักรู้ต่อทุกองคาพยพในโลกใบนี้ รวมถึงระบบการขนส่งและการเดินทางด้วยเช่นกัน ดังนั้น ตลอดหลายทศวรรษที่ผ่านมา การพัฒนารูปแบบการเดินทาง และแหล่งเชื้อเพลิงของยานพาหนะจึงเต็มไปด้วยเป้าหมายเพื่อสิ่งแวดล้อม ทั้งการพัฒนาเชื้อเพลิงชีวภาพ การสร้างรถยนต์พลังงานไฮโดรเจนที่เคยถูกพับเก็บไปแล้วก็กลับมาใหม่อีกครั้งในรูปแบบรถบรรทุกสำหรับขนส่งสินค้า ซึ่งทั้งหมดเป็นการพัฒนาการขนส่งโดยอาศัยพื้นฐานจากพลังงานสะอาด


พลังงานสะอาด เป็นตัวกระตุ้นที่สำคัญสำหรับการพัฒนายานพาหนะในปัจจุบันและในอนาคตก็ว่าได้ เพราะว่าการมาถึงของพลังงานสะอาด เช่น พลังงานไฟฟ้าจากแสงอาทิตย์ ลม ความร้อนใต้พิภพ หรือแม้แต่นิวเคลียร์ในบางประเทศ ก็ทำให้การพัฒนาเทคโนโลยีมาต่อยอดการใช้งานพลังงานสะอาดเหล่านี้รุดหน้าไปอย่างรวดเร็ว เป็นรากฐานที่สำคัญของนวัตกรรมในปัจจุบัน โดยเฉพาะรถยนต์พลังงานไฟฟ้า


รถยนต์พลังงานไฟฟ้าไม่ใช่เรื่องใหม่ จากจุดเริ่มต้นเมื่อปี 1830 ข้ามผ่านยุคสมัยที่มีทั้งกระแสตอบรับที่ดีและช่วงกระแสตก แต่หลังจากวิกฤตการณ์ราคาน้ำมันแพงเมื่อ 30 ปี ก่อนที่เกิดจากปัญหาการเมืองระหว่างประเทศกับกลุ่มอาหรับ การพัฒนารถยนต์พลังงานไฟฟ้าจึงได้ถูกผลักดันอย่างจริงจังมากขึ้น และการเปิดตัวเทสลา โร้ดสเตอร์ (Tesla Roadster) ที่มีระยะทางวิ่งกว่า 320 กิโลเมตรต่อรอบการชาร์จ ทำความเร็วจาก 0 - 96 กิโลเมตร ได้ใน 3.7 วินาที ในปี 2006 รวมถึงการบริหารบริษัทภายใต้การนำของ อีลอน มัสก์ (Elon Musk) มหาเศรษฐีคนดัง ทำให้กระแสความสนใจรถยนต์พลังงานไฟฟ้านั้นอยู่ขาขึ้นจนถึงปัจจุบัน ในขณะที่ตัวรถยนต์พลังงานไฟฟ้าโร้ดสเตอร์ (Tesla Roadster) รุ่นที่ 2 จะส่งมอบให้กับลูกค้าในปีหน้า


ระบบขับเคลื่อนอัตโนมัติ 


รถยนต์ขับเคลื่อนอัตโนมัติเทสลา (Tesla) 


เทสลา (Tesla) รถยนต์พลังงานไฟฟ้าที่มีคนอยากครอบครองมากที่สุดยี่ห้อหนึ่งของโลก จากการออกแบบที่ล้ำสมัย พร้อมเทคโนโลยีการขับขี่ที่สะดวกสบาย โดยเฉพาะระบบออโต้ไพล็อต (Autopilot) ระบบที่เกิดขึ้นเป็นครั้งแรกในปี 2013 พร้อมการประกาศสุดตะลึงของซีอีโอ (CEO) ว่าจะทำให้ระบบนี้ขับเคลื่อนรถยนต์แบบอัตโนมัติในปี 2022 หรือปีนี้ ถึงแม้ว่าตอนนี้จะยังไม่ใกล้เคียงกับระบบขับเคลื่อนอัตโนมัติโดยสมบูรณ์ แต่ก็สร้างเสียงฮือฮาและทำให้ผู้ผลิตรถยนต์ทุกค่ายต้องทำมาแข่งอย่างเลี่ยงไม่ได้


รถยนต์แทบทุกรุ่น โดยเฉพาะรถยนต์พลังงานไฟฟ้าในปัจจุบันจะมาพร้อมกับระบบช่วยเหลือผู้ขับขี่ (Advanced-Driver Assistance System: ADAS) ที่แตกต่างกันตามระดับราคา 


รถยนต์ขับเคลื่อนอัตโนมัติเอ็กซ์เพ็ง (Xpeng) 


นอกจากเทสลา (Tesla) ที่เคลมว่าจะทำให้เป็นระบบขับเคลื่อนอัตโนมัติ (Autonomous Driving) ในล่าสุดก็ยังมีเสี่ยวเผิง หรือเอ็กซ์เพ็ง (Xpeng) ที่เปิดตัวรถยนต์ที่มีระบบ ADAS สุดล้ำซึ่งถูกเปรียบเทียบว่ามีความสามารถพอกันกับเทสลา (Tesla) เช่น ระบบการขับขี่อัตโนมัติภายในเมืองและบนทางด่วน อีกทั้งยังเกิดขึ้นจริงในประเทศจีนจากการจำหน่ายภายในเดือนตุลาคมนี้อีกด้วย


แม้ว่าเอ็กซ์เพ็ง (Xpeng) จะไม่ใช่รถยนต์ค่ายหลัก แต่การเปิดตัวเมื่อเร็ว ๆ นี้ก็สะเทือนไปยังทุกแบรนด์ ดังจะเห็นได้ว่าทุกค่ายรถยนต์แม้แต่รถยนต์เครื่องยนต์สันดาปยังต้องหันมาชูระบบช่วยเหลือผู้ขับขี่ นั่นแปลว่าการพัฒนารถยนต์ต่อจากนี้นอกจากจะต้องมุ่งเน้นการพัฒนารถยนต์ที่เป็นมิตรกับสิ่งแวดล้อมแล้ว ยังต้องพัฒนาภายใต้แนวคิดที่ผลักดันให้รถยนต์ของค่ายนั้นรองรับระบบ ADAS ขั้นสูง หรือแม้แต่การทำให้เป็นรถยนต์ขับเคลื่อนด้วยตัวเอง (Self-Driving Car) ที่คาดว่าจะถูกพัฒนาให้เป็นมาตรฐานใหม่ในอนาคตต่อไป


รถยนต์ขับเคลื่อนอัตโนมัติไป่ตู้ (Baidu)


บริษัทไป่ตู้ (Baidu) บริษัทผู้นำด้านเทคโนโลยีจากประเทศจีนพัฒนารถยนต์พลังงานไฟฟ้ารุ่นใหม่ Apollo RT6 สุดยอดเทคโนโลยีขับเคลื่อนอัตโนมัติ ชูจุดเด่นที่พวงมาลัยของรถยนต์สามารถพับเก็บได้ โดยคาดว่าจะส่งมอบรถยนต์พลังงานรถไฟฟ้ารุ่นดังกล่าวจำนวน 800,000 คัน ได้ภายในปี 2028 ส่วนปัจจุบันบริษัท นำรถยนต์พลังงานไฟฟ้า Apollo RT6 มาให้บริการในรูปแบบรถแท็กซี่ขับเคลื่อนอัตโนมัติเสริมจากบริการแท็กซี่รูปแบบอื่น ๆ ใน 10 เมืองของประเทศจีน เช่น เมืองเซินเจิ้น เซี่ยงไฮ้ และปักกิ่ง ตัวรถติดตั้งเซนเซอร์วัดระยะความลึกด้วยเลเซอร์ (LiDAR) จำนวน 8 จุดรอบทิศทางตัวรถ เซนเซอร์อัลตราโซนิกจำนวน 12 ตัว เพิ่มความปลอดภัยสูงสุด กล้องจับภาพรอบทิศทางเพื่อประมวลผลอีก 12 ตัว เพื่อเก็บรายละเอียดวัตถุรอบตัวรถยนต์ ในอนาคตบริษัทมีแผนการขยายรูปแบบการให้บริการเพิ่มเติมไปยังเมืองต่าง ๆ ของจีน


อากาศยานพลังงานไฟฟ้า 


อากาศยานพลังงานไฟฟ้าบินขึ้นลงในแนวดิ่ง (eVTOL)


รถบินได้ อนาคตที่อยู่ใกล้แค่เอื้อม การพัฒนาระบบมอเตอร์ไฟฟ้าให้มีประสิทธิภาพสูงเพื่อตอบรับการเปลี่ยนผ่านการทำงานสู่การใช้พลังงานไฟฟ้าที่เป็นมิตรต่อสิ่งแวดล้อม กับการพัฒนาระบบช่วยเหลือผู้ขับขี่ที่มีพื้นฐานมาจากระบบปัญญาประดิษฐ์ (AI) เป็น 2 ปัจจัยสำคัญที่ทำให้การสร้างยานพาหนะที่เรียกว่า eVTOL หรืออากาศยานขึ้นลงทางดิ่งพลังงานไฟฟ้าเติบโตอย่างต่อเนื่อง


eVTOL (Electric Vertical Take-Off and Landing) หรืออากาศยานขึ้นลงทางดิ่งมีประวัติมานับพันปี ทั้งรูปแบบเฮลิคอปเตอร์ หรือเครื่องบินทางการทหารขนาดใหญ่ แต่การประดิษฐ์และใช้งานโดรน (Drone) ที่เป็นอากาศยานขนาดเล็ก ทำให้เกิดการพัฒนาระบบ VTOL ให้สามารถใช้งานกับขนาดอากาศยานที่เล็กลงได้เป็นผลสำเร็จและกลายเป็น eVTOL ที่ใช้มอเตอร์ไฟฟ้า ประกอบด้วยมอเตอร์สำหรับยกตัว (Propeller) และมอเตอร์ทั่วไปสำหรับทำการบิน และมักมีพิสัยการบินไม่เกิน 300 กิโลเมตร โดยประมาณ และเทคโนโลยีนี้จะถูกนำมาใช้จริงตั้งแต่ปีหน้า และคาดว่าจะเริ่มใช้อย่างแพร่หลายมากขึ้นหลังจากปี 2024 ซึ่งเป็นช่วงเวลาที่ค่ายผู้ผลิต eVTOL ต่าง ๆ ทยอยเปิดตัวและวางจำหน่าย


อย่างไรก็ตาม รถบินได้โดยทั่วไปจะถูกนำมาใช้งานในรูปแบบแท็กซี่บินได้ (Air Taxi) เป็นหลัก เนื่องจากระยะทางการบินที่จำกัด รวมถึงข้อจำกัดทางการบินที่มีกฎการบินต่าง ๆ เข้ามาเกี่ยวข้อง ผู้ผลิตส่วนใหญ่จึงเลือกติดตั้งระบบขับขี่อัตโนมัติ (Autonomous Driving) ที่คล้ายคลึงกันกับที่อยู่ในรถยนต์มาใช้ขับขี่ตามเส้นทางที่กำหนด ในขณะที่รถบินได้แบบอื่น ๆ ที่เป็นไปได้ในปัจจุบันก็มีรถจักรยานยนต์บินได้ (Flying Bike) เอ็กซ์ทูริสโม ลิมิติด เอดิชัน (XTurismo Limited Edition) ที่สร้างเสียงฮือฮาไปเมื่อเร็ว ๆ นี้ แต่ทั้งหมดก็มีข้อจำกัดที่สำคัญก็คือระยะทางการบิน วิถีการบินตามกฎหมาย และแม้แต่จำนวนผู้โดยสารที่สูงสุดแค่ 4 คน สำหรับ eVTOL


เครื่องบินพลังงานไฟฟ้า (Electric Plane)


เครื่องบินพลังงานไฟฟ้าเป็นเทคโนโลยีที่ได้รับการพัฒนาต่อยอดจากเครื่องบินที่ใช้พลังงานน้ำมันเพื่อแก้ไขปัญหาด้านสิ่งแวดล้อม โดยจากผลการศึกษาพบว่าเครื่องบินเป็นรูปแบบการเดินทางที่ปล่อยมลพิษมากที่สุดรูปแบบหนึ่ง และเป็นสาเหตุสำคัญของภาวะโลกร้อน ส่งผลให้คณะมนตรีท่าอากาศยานระหว่างประเทศ (Airports Council International: ACI) องค์การการบินพลเรือนระหว่างประเทศ (International Civil Aviation Organization: ICAO) ออกมาตรฐานสนับสนุนการใช้พลังงานทางเลือกและเครื่องบินพลังงานไฟฟ้า 


ตัวอย่างการพัฒนาเครื่องบินพลังงานไฟฟ้า  เช่น เครื่องบินอลิซ (Alice) พัฒนาโดยบริษัท อิเวียเอชั่น (Eviation) ที่เริ่มทดสอบบินเป็นครั้งแรกในช่วงเดือนกันยายนที่ผ่านมา เครื่องบินถูกออกแบบให้ขนส่งผู้โดยสารได้ 9 ที่นั่ง หากการพัฒนาเสร็จสมบูรณ์เครื่องบินอาจมีพิสัยการบินมากถึง 814 กิโลเมตร


เครื่องบินโดยสารความเร็วเหนือเสียง (Supersonic Passenger Airplanes)


เครื่องบินโดยสารความเร็วเหนือเสียงไม่ใช่เทคโนโลยีใหม่ แต่ถูกพัฒนาขึ้นมาได้ระยะหนึ่งแล้ว โดยเครื่องบินรุ่นแรก ๆ ที่ถูกนำมาให้บริการ เช่น เครื่องคองคอร์ดที่เคยให้บริการในระหว่างปี 1976-2003 แต่ต้องปิดบริการลงเนื่องจากปัญหาในด้านต้นทุนค่าบริการและจำนวนผู้โดยสาร


สำหรับปัจจุบันหลายบริษัทกำลังพัฒนาเครื่องบินโดยสารความเร็วเหนือเสียงด้วยเทคโนโลยีที่ล้ำสมัยมากกว่า เช่น เครื่องบินโดยสารความเร็วเหนือเสียง Overture ที่พัฒนาโดยบริษัท บูม ซูเปอร์โซนิก (Boom Supersonic) ที่มีแผนการพัฒนาเครื่องบินโดยสารความเร็วสูงถึง 1.7 มัค หรือราว ๆ 2,000 กิโลเมตรต่อชั่วโมง มาให้บริการเป็นเที่ยวบินแรกในปี 2029 อย่างไรก็ตามบริษัทกำลังประสบปัญหาในด้านของบริษัทยักษ์ใหญ่ที่เป็นพาร์ตเนอร์ถอนตัวและบริษัทจำเป็นต้องเร่งหาพาร์ตเนอร์รายใหม่เข้าร่วมพัฒนาเครื่องบินเพื่อให้ทันตามกำหนดการเปิดให้บริการ



ระบบขนส่งมวลชน


รถไฟแม็กเลฟ (MAGLEV)


ปัจจุบันเทคโนโลยีรถไฟความเร็วสูงถูกพัฒนาอย่างรวดเร็วโดยใช้จุดเด่นในด้านของความเร็วและใช้พลังงานไฟฟ้าที่เป็นมิตรกับสิ่งแวดล้อม การแข่งขันด้านสถิติความเร็วของรถไฟแม็กเลฟเกิดขึ้นระหว่างประเทศจีนและญี่ปุ่น 

เทคโนโลยีรถไฟพลังงานแม่เหล็กไฟฟ้าของประเทศจีนพัฒนาอย่างรวดเร็ว รถไฟพลังงานแม่เหล็กไฟฟ้าที่เปิดใช้งานอยู่ คือ Shanghai Maglev Line เชื่อมต่อสนามบินนานาชาติไฮ้ผู่ตง สามารถทำความเร็วสูงสุด 430 กิโลเมตรต่อชั่วโมง นอกจากนี้ในเดือนกรกฎาคม 2021 จีนเคยเปิดตัวรถไฟแม็กเลฟ (MAGLEV) พลังงานแม่เหล็กที่หากถูกพัฒนาสมบูรณ์แบบสามารถทำความเร็วได้ 600 กิโลเมตรต่อชั่วโมง 


เทคโนโลยีรถไฟพลังงานแม่เหล็กไฟฟ้าของประเทศญี่ปุ่นถูกพัฒนาอย่างต่อเนื่องมาก่อนหน้าประเทศจีน ปัจจุบันญี่ปุ่นพัฒนารถไฟพลังแม่เหล็กไฟฟ้า L0 Series Maglev จุดสูงสุดของของการวิจัยพัฒนาเทคโนโลยีรถไฟความเร็วสูงและพลังแม่เหล็กไฟฟ้า รถไฟพลังแม่เหล็กไฟฟ้า L0 Series Maglev ถูกทดสอบในช่วงปี 2021 รถไฟทั้งขบวนลอยตัวเหนือรางแม่เหล็กไฟฟ้า แม้จะอยู่ในขั้นตอนการวิจัยพัฒนาแต่มันก็ทำความเร็วเป็นสถิติโลกเอาไว้ที่ 602 กิโลเมตรต่อชั่วโมง โดยมีแผนการเปิดให้บริการเต็มรูปแบบในปี 2027


ไฮเปอร์ลูป (Hyperloop)

 

เทคโนโลยีไฮเปอร์ลูป (Hyperloop) อาศัยหลักการพื้นฐานของแม่เหล็กไฟฟ้าและสุญญากาศจะไม่มีแรงเสียดทาน มาผสานกับตู้ขบวนโดยสารแบบรถไฟ กลายเป็นขบวนรถที่วิ่งในอุโมงค์สุญญากาศ แม้ว่าตามแนวคิดไฮเปอร์ลูป (Hyperloop) ทำความเร็วสูงสุดถึง 1,200 กิโลเมตร แต่ปัจจุบันความเร็วที่ต้นแบบไฮเปอร์ลูปทำได้ยังคงห่างไกลความเร็วดังกล่าวมาก โดยในปี 2017 บริษัท Virgin Hyperloop ทำการทดสอบแคปซูลต้นแบบ XP-1 ด้วยความเร็ว 387 กิโลเมตรต่อชั่วโมง นอกจากนี้ยังมีข้อกังขาถึงความปลอดภัย โดยเฉพาะเรื่องของอัคคีภัย และการขาดอากาศกรณีตู้โดยสารมีรูรั่ว ในปัจจุบันนอกจากบริษัท เวอร์จิน ไฮเปอร์ลูป (Virgin Hyperloop) ยังมีบริษัทอื่น ๆ ที่พัฒนา Hyperloop อยู่เช่น โครงการไฮเปอร์ลูป (Hyperloop) ของสเปซเอ็กซ์ (SpaceX) และทรานส์พ็อด (Transpod) จากแคนาดา เป็นต้น



ยานพาหนะทางเลือก 


ระบบขนส่งใต้ดิน LOOP


เทคโนโลยีการนำรถยนต์พลังงานไฟฟ้าขับเคลื่อนอัตโนมัติเข้าไปวิ่งในอุโมงค์ใต้ดินที่ซ้อนกันหลายชั้นใต้ดิน เรียกว่าระบบ ลูป (Loop) โดยบริษัท เดอะ บอริ่ง คอมพานี (The Boring Company) เป็นระบบอุโมงค์ที่ใช้ต้นทุนการขุดราคาถูก รองรับการปรับใช้เป็นรูปแบบอื่น ลดปัญหาการต่อสร้างที่กระทบชุมชนบนพื้นผิวดิน และลดปัญหาการจราจรติดขัด หลีกเลี่ยงการสร้างทางด่วนบดบังทรรศนียภาพของเมือง ปลอดภัยและเดินทางได้ในทุกสภาพอากาศ ปัจจุบันระบบขนส่งนี้ถูกก่อสร้างและเริ่มต้นใช้งานแล้วในบางเมืองของสหรัฐอเมริกา เช่นลอสแอนเจลิสและลาสเวกัสภายใต้ชื่อว่าเวกัส ลูป (Vegas Loop)  ซึ่งก่อสร้างแล้วเสร็จบางส่วนและเปิดตัวภายในปีนี้ ส่วนโครงการทั้งหมดที่มีระยะทาง 55 กิโลเมตร นั้นไม่ได้มีกำหนดที่ชัดเจน แต่คาดว่าจะเริ่มก่อสร้างในปีนี้เช่นกัน


บทสรุป


โดยสรุปแล้ว ยานพาหนะหลักในปัจจุบันจะยังคงมีหน้าตาและรูปแบบการใช้งานที่อาจจะไม่ได้ต่างจากเดิมมากนักในอนาคต แต่ทั้งหมดจะถูกบีบให้คำนึงถึงสิ่งแวดล้อมเป็นอย่างมาก เพื่อเป้าหมาย Net Zero ซึ่งเป็นแกนนโยบายใหญ่สุดของโลกในตอนนี้ รวมถึงการพัฒนาระบบการเดินทางที่ลดการพึ่งพาการตัดสินใจของมนุษย์และก้าวเข้าสู่การขับเคลื่อนอัตโนมัติต่อไป อย่างไรก็ตาม ยานพาหนะที่จะเกิดขึ้นในอนาคตนั้นจะเข้ามาแทนที่หรือแม้แต่เปลี่ยนรูปแบบการเดินทางในปัจจุบันของหรือไม่นั้นยังคงเป็นคำถามที่สำคัญที่สุดที่ต้องจับตาอย่างใกล้ชิดต่อไป


ยานพาหนะทางเลือกจะเพิ่มขึ้นในอีก 10 ปี ต่อจากนี้ เมื่อสำรวจการเปลี่ยนแปลงตั้งแต่ต้นปี 2022 ก็จะพบว่ามีตัวเลือกการเดินทางรูปแบบใหม่ ๆ อย่างต่อเนื่อง โดยมีการพัฒนาทางอากาศยานโดยเฉพาะ eVTOL เป็นกระแสหลัก ซึ่งผู้เชี่ยวชาญทั่วโลกต่างเห็นพ้องต้องกันว่า eVTOL จะกลายเป็นหนึ่งในการเดินทางรูปแบบใหม่ที่สำคัญในอนาคต ส่วนทางบกนั้นจะมีรถยนต์พลังงานไฟฟ้าที่ผสานการขับเคลื่อนที่เป็นมิตรต่อสิ่งแวดล้อมเข้ากับระบบช่วยเหลือผู้ขับขี่ที่อาจจะก้าวข้ามเข้าสู่รถยนต์ขับเคลื่อนดัวยตัวเอง (Self-Driving Car) เป็นตัวชูโรง ส่วนการขนส่งสาธารณะที่ดูมีอนาคตไกลที่สุดที่ควรจับตามองก็คือไฮเปอร์ลูป (Hyperloop) ซึ่งเหลือเพียงผู้ผลิตรายใดจะสามารถเริ่มใช้งานสำหรับมนุษย์ได้จริงก่อนเท่านั้น 

 

แม้ว่า eVTOL จะสร้างการเดินทางสาธารณะรูปแบบใหม่ที่เรียกว่าการเดินทางทางอากาศระหว่างเมือง (Urban Air Mobility) แต่ก็ยังปฏิเสธไม่ได้ว่าเครื่องบินที่ใช้เชื้อเพลิงฟอสซิลหรือเชื้อเพลิงสำหรับการบิน (Aviation Fuel) เป็นสิ่งจำเป็น แม้ว่าจะมีการเพิ่มประสิทธิภาพการเผาผลาญ แต่ก็ยังไม่มีแนวโน้มจะดีขึ้นนัก โดยล่าสุด บูม โอเวอร์เชอร์ (Boom Overture) พยายามผลักดันเครื่องยนต์เครื่องบินเจ็ตที่ใช้เชื้อเพลิงพลังงานสะอาด (Sustainable Aviation Fuel: SAF) กับโรลซ์-รอยซ์ (Rolls-Royce) ที่สุดท้ายก็ล่มลงไป ทำให้บริษัทต้องแบกรับความเสี่ยงด้วยตัวเอง และก็ไม่มีใครการันตีได้ว่าบริษัทจะสามารถผลิตเครื่องยนต์เองได้สำเร็จ



ที่มาของข้อมูลและรูปภาพ nationalgrid, Business Insider, Forbes, Department of Energy (US), Wikipedia (Autopilot), Wikipedia (ADAS) 

ยอดนิยมในตอนนี้

แท็กยอดนิยม

ข่าวที่เกี่ยวข้อง