รีเซต

JAS 39 Gripen E VS F-16 Block 70 2 ตัวเลือกน่าจับตาที่กองทัพอากาศไทยเล็งพาเข้าฝูงบิน

JAS 39 Gripen E VS F-16 Block 70 2 ตัวเลือกน่าจับตาที่กองทัพอากาศไทยเล็งพาเข้าฝูงบิน
TNN ช่อง16
30 มกราคม 2567 ( 15:31 )
6.7K


ในปัจจุบันกองทัพอากาศไทยอยู่ระหว่างการจัดหาเครื่องบินขับไล่อเนกประสงค์ (Multirole fighter) เข้าประจำการ เพื่อทดแทนเครื่องบินที่ปลดประจำการและเกิดอุบัติเหตุ ซึ่งแผนในปี 2023 ที่ผ่านมานั้นเป็นข่าวว่ามีความสนใจในการสั่งซื้อ F-35 Lightning II แต่เมื่อไม่สามารถจัดหาได้ ตัวเลือกที่ทั้งผู้เชี่ยวชาญด้านการทหารและสังคมออนไลน์มองว่าเป็นตัวเต็งนั้นจึงหนีไม่พ้น ยาซ เตอร์ตี้ไนน์ กริพเพน บล็อก อี (JAS 39 Gripen E) จากสวีเดน และเอฟ ซิกซ์ทีน บล็อก เซเว่นตี้ (F-16 Block 70) หนึ่งในเครื่องบินขับไล่ยอดนิยมจากสหรัฐอเมริกา


ข้อมูล JAS 39 Gripen E ตัวเลือกของกองทัพอากาศไทย

JAS 39 Gripen E เป็นรุ่นล่าสุดในตระกูล ที่ปรับมาใช้เครื่องยนต์เจเนอรัล อิเล็กทริก (General Electric) รุ่น F414 จากบล็อกก่อนหน้า (A/B) ที่ใช้เครื่องยนต์ของวอลโว่ (Volvo) ตัวเครื่อง F414 สร้างแรงขับดันหลังการเผาไหม้รอบที่สอง (Afterburned) อยู่ที่ 98 กิโลนิวตัน (kN) ให้ความเร็วสูงสุด 2 มัค หรือ 2,450 กิโลเมตรต่อชั่วโมง โดยอัตราแรงขับดันต่อน้ำหนักตัวเครื่องอยู่ที่ 1.04 รองรับน้ำหนักขึ้นบิน (Maximun Take-off Weight: MTOW) ที่ 16,500 กิโลกรัม 


ตัวเครื่องบินขับไล่ JAS 39 Gripen E เป็นบล็อกที่ใช้นักบินเพียงคนเดียว มีระยะปฏิบัติภารกิจ (Mission Radius) แบบไม่ติดตั้งถังน้ำมันเสริมอยู่ที่ 1,500 กิโลเมตร รองรับภารกิจโจมตีจากอากาศสู่อากาศ (Air to Air) เช่น การติดตั้ง AIM-9 Sidewinder ของสหรัฐฯ หรือ MBDA Meteor จรวดทางอากาศนำวิถีด้วยเรดาร์มาตรฐานนาโต (NATO) รวมถึงภารกิจโจมตีจากอากาศสู่พื้น (Air to Ground) ด้วย GBU-12 Paveway II ระเบิดนำวิถีด้วยเลเซอร์ พร้อมภารกิจต่อต้านเรือผิวน้ำด้วยจรวด Rbs.15F


ข้อมูล F-16 Block 70 ตัวเลือกของกองทัพอากาศไทย

อีกหนึ่งเครื่องบินขับไล่ที่กองทัพอากาศไทยคุ้นเคยมากที่สุดก็คือ F-16 ซึ่งรุ่นล่าสุดอย่าง F-16 Block 70 หรือในอีกชื่อว่า F-16V (Super Viper) ใช้เครื่องยนต์เจเนอรัล อิเล็กทริก (General Electric) รุ่น F110 สร้างแรงขับดันหลังการเผาไหม้รอบที่สอง (Afterburned) อยู่ที่ 131 กิโลนิวตัน (kN) ให้ความเร็วสูงสุดมากกว่า 2 มัค อัตราแรงขับดันต่อน้ำหนักตัวเครื่องอยู่ที่ 1.371 มีค่า MTOW ที่ 21,800 กิโลกรัม 


ตัวเครื่องบินขับไล่ F-16 Block 70 เป็นบล็อกที่ใช้นักบินเพียงคนเดียวเช่นกัน มีระยะปฏิบัติภารกิจ (Mission Radius) แบบไม่ติดตั้งถังน้ำมันเสริมอยู่ที่ 1,700 กิโลเมตร รองรับภารกิจโจมตีจากอากาศสู่อากาศ (Air to Air) เช่น การติดตั้ง  AIM-9 Sidewinder และ AIM-120 AMRAAM รวมถึงภารกิจโจมตีจากอากาศสู่พื้น (Air to Ground) ด้วย GBU-12 Paveway II ระเบิดนำวิถีด้วยเลเซอร์ และรุ่นอื่น ๆ พร้อมภารกิจต่อต้านเรือผิวน้ำด้วยจรวด AGM-84 Harpoon


ราคา JAS 39 Gripen E VS F-16 Block 70 

ทั้งนี้ ราคาของ JAS 39 Gripen E ต่อลำโดยเฉลี่ยจะอยู่ที่ประมาณ 85 ล้านดอลลาร์สหรัฐ หรือประมาณ 3,000 ล้านบาท ซึ่งสามารถปรับเปลี่ยนได้ตามรายละเอียดการสั่งซื้อของกองทัพอากาศแต่ละประเทศ และค่าใช้จ่ายในการปฎิบัติการที่สืบค้นได้นั้นอยู่ที่ 4,500 ดอลลาร์สหรัฐ หรือ 160,000 บาทต่อชั่วโมง


ในขณะที่ราคาของ F-16 Block 70 ต่อลำอ้างอิงที่กองทัพอากาศบัลแกเรียซื้อไปในปีที่ผ่านมานั้นจะอยู่ที่ลำละ 162.5 ล้านดอลลาร์สหรัฐ หรือประมาณ 5,800 ล้านบาท ซึ่งสามารถปรับเปลี่ยนได้ตามรายละเอียดการสั่งซื้อของกองทัพอากาศแต่ละประเทศเช่นกัน และค่าใช้จ่ายในการปฎิบัติการที่สืบค้นได้นั้นอยู่ที่ 7,000 ดอลลาร์สหรัฐ หรือ 249,000 บาทต่อชั่วโมง 


โดย JAS 39 Gripen E/F นอกจากจะเป็นคู่แข่งสำคัญของ F-16 ยังเป็นคู่แข่งที่ใช้พิจารณากับ F-35 Lightning II ด้วยเช่นกัน แม้ว่าจะเป็นเครื่องบินขับไล่ที่ต่างยุคก็ตาม (Gen 4.5 VS Gen 5) เพราะราคาต่อลำและค่าใช้จ่ายต่อชั่วโมงที่คุ้มค่าของ JAS 39 Gripen E/F รวมถึงระบบอาวุธ NATO ที่สามารถใช้อาวุธของสหรัฐฯ ได้เช่นกัน ซึ่งผลการแข่งขันในหลายประเทศก็เลือกต่างกันไปตามลักษณะภารกิจและงบประมาณของแต่ละประเทศ


ข้อมูลจาก Aviatia, Indian Defence News, Quora, Aerotime, CZ Defence, Defense ExpressWikipedia


ยอดนิยมในตอนนี้

แท็กยอดนิยม

ข่าวที่เกี่ยวข้อง