รีเซต

รู้จัก สิทธิของลูกจ้าง จากการถูกเลิกจ้างไม่เป็นธรรม

รู้จัก สิทธิของลูกจ้าง จากการถูกเลิกจ้างไม่เป็นธรรม
TrueID
6 ตุลาคม 2563 ( 16:46 )
5.2K
รู้จัก สิทธิของลูกจ้าง จากการถูกเลิกจ้างไม่เป็นธรรม

ปัจจุบันในภาวะเศรษฐกิจที่ย่ำแย่จากสถานการณ์การแพร่ระบาดของไวรัสโควิด-19 รวมถึงสถานประกอบการหลายที่ได้นำเทคโนโลยี่เข้ามาใช้ในการดำเนินธุรกิจแทนการใช้แรงงานจากลูกจ้าง ดังนั้นเพื่อเป็นการลดต้นทุนผู้ประกอบการจึงลดการจ้างแรงงาน ทำให้พนักงานหรือลูกจ้างถูกเลิกจ้างอย่างฉับพลันโดยไม่ได้เตรียมพร้อมรับมือกับเหตุการณ์ที่เกิดขึ้น สิ่งสำคัญที่พนักงานหรือลูกจ้างต้องรู้เพื่อรับมือกับเหตุการณ์ที่เกิดขึ้น คือสิทธิที่ตนเองจะต้องได้รับจากนายจ้างกรณีที่ถูกเลิกจ้างโดยไม่เป็นธรรม 


การเลิกจ้างโดยไม่เป็นธรรมคืออะไร?

 

     การเลิกจ้างโดยไม่เป็นธรรม หมายความว่า การที่นายจ้างเลิกจ้างเลิกจ้างลูกจ้างโดยไม่มีเหตุอันสมควร ซึ่งเหตุอันสมควรดังกล่าว มาตรา 119 แห่งพระราชบัญญัติคุ้มครองแรงงาน พ.ศ. 2541 ได้บัญญัติถึงเหตุอันสมควรซึ่งนายจ้างสามารถเลิกจ้างลูกจ้างได้ โดยที่ลูกจ้างคนดังกล่าวไม่มีสิทธิเรียกร้องใดๆ กับนายจ้างได้เลย กล่าวคือ ลูกจ้างไม่มีสิทธิเรียกร้องเอาค่าชดเชยจากการถูกเลิกจ้างกับนายจ้างได้ โดยเหตุอันสมควร ตามมาตรา 119 มี 6 ประการ ดังนี้
 

          1.  ลูกจ้างทุจริตต่อหน้าที่หรือกระทำความผิดอาญาโดยเจตนาแก่นายจ้าง
 

          2.  ลูกจ้างจงใจทำให้นายจ้างได้รับความเสียหาย
 

          3.  ลูกจ้างประมาทเลินเล่อเป็นเหตุให้นายจ้างได้รับความเสียหายอย่างร้ายแรง
 

          4.  ลูกจ้างฝ่าฝืนข้อบังคับเกี่ยวกับการทำงาน ระเบียบ หรือคำสั่งของนายจ้างอันชอบด้วยกฎหมายและเป็นธรรม และนายจ้างได้ตักเตือนเป็นหนังสือแล้ว เว้นแต่กรณีที่ร้ายแรง นายจ้างไม่จำเป็นต้องตักเตือน     หนังสือเตือนให้มีผลบังคับได้ไม่เกิน 1 ปีนับแต่วันที่ลูกจ้างได้กระทำผิด
 

          5.  ลูกจ้างละทิ้งหน้าที่เป็นเวลาสามวันทำงานติดต่อกันไม่ว่าจะมีวันหยุดคั่นหรือไม่ก็ตามโดยไม่มีเหตุอันสมควร
 

          6.  ลูกจ้างได้รับโทษจำคุกตามคำพิพากษาถึงที่สุด หากเป็นความผิดซึ่งลูกจ้างได้กระทำโดยประมาทหรือความผิดลหุโทษต้องเป็นกรณีที่เป็นเหตุให้นายจ้างได้รับความเสียหายด้วย


     กรณีที่ลูกจ้างถูกนายจ้างเลิกจ้างโดยไม่ได้มีเหตุอันสมควรดังกล่าวตามมาตรา 119 แห่งพระราชบัญญัติคุ้มครองแรงงาน พ.ศ. 2541 หรือถึงแม้ว่าลูกจ้างจะได้กระทำความผิดตามเหตุอันสมควรดังกล่าว แต่การเลิกจ้างของนายจ้างนั้นไม่ได้ระบุข้อเท็จจริงอันเป็นเหตุที่เลิกจ้างไว้ในหนังสือบอกเลิกสัญญาจ้างหรือไม่ได้แจ้งเหตุที่เลิกจ้างให้ลูกจ้างทราบในขณะที่เลิกจ้าง ลูกจ้างย่อมมีสิทธิที่จะได้รับค่าชดเชยตามกฎหมาย ซึ่งมาตรา 118 แห่งพระราชบัญญัติคุ้มครองแรงงาน พ.ศ. 2541 ได้กำหนดการได้รับค่าชดเชยของลูกจ้างไว้ดังนี้
 

          1.  ลูกจ้างซึ่งทำงานติดต่อกันครบ 120 วันแต่ไม่ครบ 1 ปี ให้จ่ายไม่น้อยกว่าค่าจ้างอัตราสุดท้าย 30 วัน
 

          2.  ลูกจ้างซึ่งทำงานติดต่อกันครบ 1 ปีแต่ไม่ครบ 3 ปี ให้จ่ายไม่น้อยกว่าค่าจ้างอัตราสุดท้าย 90 วัน
 

          3.  ลูกจ้างซึ่งทำงานติดต่อกันครบ 3 ปีแต่ไม่ครบ 6 ปี ให้จ่ายไม่น้อยกว่าค่าจ้างอัตราสุดท้าย 180 วัน
 

          4.  ลูกจ้างซึ่งทำงานติดต่อกันครบ 6 ปีแต่ไม่ครบ 10 ปี ให้จ่ายไม่น้อยกว่าค่าจ้างอัตราสุดท้าย 240 วัน
 

          5.  ลูกจ้างซึ่งทำงานติดต่อกันครบ 10 ปีขึ้นไป ให้จ่ายไม่น้อยกว่าค่าจ้างอัตราสุดท้าย 300 วัน
 

     กรณีที่นายจ้างเลิกจ้างลูกจ้างโดยไม่ได้บอกกล่าวให้ลูกจ้างทราบล่วงหน้า นอกจากค่าชดเชยตามมาตรา 118 ลูกจ้างยังมีสิทธิได้รับค่าชดเชยแทนการบอกกล่าวล่วงหน้า เท่ากับค่าจ้างอัตราสุดท้าย 30 วันหรือ 60 วันแล้วแต่กรณี โดยขึ้นอยู่กับว่าข้อกำหนดในสัญญาจ้างแรงงานนั้น กำหนดให้การเลิกจ้างหรือการลาออกต้องบอกกล่าวล่วงหน้าเป็นเวลาเท่าใด
 

     จากที่ได้กล่าวมาแล้ว หากลูกจ้างซึ่งถูกเลิกจ้างไม่เป็นธรรมไม่ได้รับค่าชดเชยตามที่กฎหมายกำหนด ลูกจ้างสามารถร้องเรียนไปยังพนักงานตรวจแรงงาน สำนักงานสวัสดิการและคุ้มครองแรงงานเขตพื้นที่ซึ่งสำนักงานของนายจ้างตั้งอยู่ หรือใช้สิทธิทางศาล โดยยื่นฟ้องต่อศาลแรงงานซึ่งสำนักงานของนายจ้างอยู่ในเขตอำนาจ ทั้งนี้ ไม่ต้องใช้ทนายความ และไม่มีค่าใช้จ่ายใดๆ ทั้งสิ้น ซึ่งการที่ลูกจ้างจะยื่นฟ้องนายจ้างต่อศาลแรงงาน ลูกจ้างเพียงเตรียมเอกสารเกี่ยวกับการที่ตนเองถูกเลิกจ้างไม่เป็นธรรม และสามารถยื่นฟ้องด้วยวาจาต่อศาลแรงงานที่มีเขตอำนาจได้


     การยื่นฟ้องคดีต่อศาลแรงงานของลูกจ้างนั้น ศาลอาจจะกำหนดให้นายจ้างจ่ายค่าเสียหายให้แก่ลูกจ้างได้อีกด้วย ตามมาตรา 49 แห่งพระราชบัญญัติจัดตั้งศาลแรงงานและวิธีพิจารณาคดีแรงงาน พ.ศ. 2522 ซึ่งบัญญัติว่า “การพิจารณาคดีในกรณีนายจ้างเลิกจ้างลูกจ้าง ถ้าศาลแรงงานเห็นว่าการเลิกจ้างลูกจ้างผู้นั้นไม่เป็นธรรมต่อลูกจ้าง ศาลแรงงานอาจสั่งให้นายจ้างรับลูกจ้างผู้นั้นเข้าทำงานต่อไปในอัตราค่าจ้างที่ได้รับในขณะที่เลิกจ้าง ถ้าศาลแรงงานเห็นว่าลูกจ้างกับนายจ้างไม่อาจทำงานร่วมกันต่อไปได้ ให้ศาลแรงงานกำหนดจำนวนค่าเสียหายให้นายจ้างชดใช้ให้แทนโดยให้ศาลคำนึงถึงอายุของลูกจ้าง ระยะเวลาการทำงานของลูกจ้าง ความเดือดร้อนของลูกจ้างเมื่อถูกเลิกจ้าง มูลเหตุแห่งการเลิกจ้างและเงินค่าชดเชยที่ลูกจ้างมีสิทธิได้รับ ประกอบการพิจารณา


     หากลูกจ้างมีปัญหาเกี่ยวกับการถูกนายจ้างเลิกจ้างไม่เป็นธรรม หรือมีข้อสงสัย หรือต้องการปรึกษาเกี่ยวกับเรื่องสภาพการจ้างต่างๆ สามารถติดต่อสอบถามหรือขอคำปรึกษาได้ที่สำนักงานสวัสดิการและคุ้มครองแรงงานเขตพื้นที่ซึ่งสำนักงานของนายจ้างตั้งอยู่ 

 

ข่าวที่เกี่ยวข้อง

 

ภาพโดย Gerd Altmann จาก Pixabay 

++++++++++++++++++++

ยอดนิยมในตอนนี้

แท็กยอดนิยม

ข่าวที่เกี่ยวข้อง