รีเซต

นักวิจัยจีนรื้อแนวคิด ชี้ 'ที่ราบสูงชิงไห่-ทิเบต' ยกตัวเร็วกว่าที่คาด

นักวิจัยจีนรื้อแนวคิด ชี้ 'ที่ราบสูงชิงไห่-ทิเบต' ยกตัวเร็วกว่าที่คาด
Xinhua
14 ธันวาคม 2563 ( 12:25 )
59

ปักกิ่ง, 14 ธ.ค. (ซินหัว) -- "ที่ราบสูงชิงไห่-ทิเบต" สูงขึ้นจนครองฉายา "หลังคาโลก" ได้อย่างไร? การศึกษาใหม่ที่นำโดยคณะนักวิจัยชาวจีนพบหลักฐานบ่งชี้ว่าที่ราบสูงแห่งนี้ยกตัวขึ้นจนถึงความสูงในปัจจุบันเร็วกว่าที่เคยคาดไว้

 

ผลการศึกษาที่เผยแพร่ทางออนไลน์เมื่อต้นสัปดาห์ที่ผ่านมาในวารสารไซแอนซ์ แอดวานซ์ (Science Advances) ระบุว่าที่ราบสูงชิงไห่-ทิเบต บริเวณตอนกลางและตอนใต้ สูงขึ้นถึงระดับ 3,500-4,500 เมตร ในช่วงเวลาราว 26-21 ล้านปีก่อน โดยการค้นพบนี้ท้าทายความเชื่อที่ยึดถือกันอย่างแพร่หลายว่าที่ราบสูงแห่งนี้มีความสูงถึง 4,600 เมตรเมื่อช่วง 40 ล้านปีก่อน

 

ฟางเสี่ยวหมิ่น หัวหน้านักวิจัยจากสถาบันวิจัยที่ราบสูงทิเบต สังกัดสถาบันบัณฑิตวิทยาศาสตร์จีน กล่าวว่าผลการศึกษาดังกล่าวมาจากการวิเคราะห์ดินฟอสซิลของแอ่งลันโพลา (Lunpola) ซึ่งเป็นแหล่งสำคัญในการพิจารณาประวัติศาสตร์การยกตัวของที่ราบสูง

 

แอ่งลันโพลาตั้งอยู่ทางตอนกลางของที่ราบสูงชิงไห่-ทิเบต มีดินฟอสซิลสภาพดีมากมาย รวมถึงพืชและสัตว์เขตร้อน ซึ่งสามารถใช้วิเคราะห์การยกตัวของที่ราบสูงบริเวณตอนกลางและตอนใต้ ตลอดจนประวัติศาสตร์การเปลี่ยนแปลงของสภาพภูมิอากาศและสิ่งแวดล้อม

 

การวิเคราะห์แสดงให้เห็นว่าที่ราบสูงตอนกลางและตอนใต้เริ่มมีการเปลี่ยนรูปอย่างช้าๆ ทรุดตัวลงระหว่าง 25-42 ล้านปีก่อน และยกตัวขึ้นเมื่อ 20-25 ล้านปีก่อน ซึ่งบ่งชี้ว่าที่ราบสูงแห่งนี้มีความสูงต่ำกว่า 2,300 เมตรเมื่อประมาณ 40 ล้านปีก่อน และสูงกว่า 3,500 เมตรเมื่อประมาณ 21-26 ล้านปีก่อน

 

ฟางกล่าวกับสำนักข่าวซินหัวว่าการวัดเทียบประวัติศาสตร์การยกตัวของที่ราบสูงชิงไห่-ทิเบตเป็น "การวิจัยที่มีความสำคัญมหาศาล"

 

ฟางกล่าวว่าที่ราบสูงแห่งนี้เป็นพื้นที่ที่มีการเปลี่ยนรูปและยกระดับภายในทวีปอย่างมีมาตรฐานที่สุดในโลก ทั้งยังเป็นพื้นที่ที่อุดมด้วยภูเขาไฟและแผ่นดินไหวที่มีพลัง การทำความเข้าใจวิวัฒนาการการยกตัวของที่ราบสูงจึงมีความสำคัญต่อการเรียนรู้กลไกการเติบโตและโครงสร้าง ตลอดจนธรณีพิบัติภัยและลักษณะภูมิประเทศที่เกี่ยวข้อง

 

นอกจากนี้ผลการศึกษายังช่วยให้เราเข้าใจถึงอิทธิพลของการยกตัวที่มีต่อสภาพอากาศ สภาพแวดล้อม และความหลากหลายทางชีวภาพในระดับภูมิภาคและระดับโลก ซึ่งทีมงานได้ตั้งเป้าศึกษาความเชื่อมโยงระหว่างการยกตัวของที่ราบสูงกับวิวัฒนาการของมรสุมทวีปเอเชีย

 

ทั้งนี้ การศึกษาข้างต้นร่วมเขียนโดยนักวิจัยจากมหาวิทยาลัยธรณีศาสตร์จีน มหาวิทยาลัยหลานโจวของจีน มหาวิทยาลัยพ็อทซ์ดัมของเยอรมนี และมหาวิทยาลัยแรนส์ของฝรั่งเศส

ข่าวที่เกี่ยวข้อง