เฝ้าระวังหลุมยุบขุมยวม หลังแผ่นดินไหวเมียนมา ผู้ว่าฯ ชี้เกิดบนรอยเลื่อนแม่ฮ่องสอน

นายเอกวิทย์ มีเพียร ผู้ว่าราชการจังหวัดแม่ฮ่องสอน พร้อมด้วยหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง ลงพื้นที่ตรวจสอบความเสียหายหลุมยุบขนาดใหญ่ บริเวณพื้นที่ทำกินของราษฎร โดยเหตุการณ์หลุมยุบเกิดขึ้นระหว่างวันที่ 29 - 30 มีนาคมที่ผ่านมา จำนวน 6 หลุม มีขนาดเส้นผ่านศูนย์กลางตั้งแต่ 2 เมตร - 30 เมตร มีการทรุดตัวและขยายตัวเพิ่มขึ้นอย่างต่อเนื่อง
ผู้ว่าราชการจังหวัดแม่ฮ่องสอน ให้ข้อมูลว่า หลุมยุบกระจุกตัวเป็นกลุ่มในแนวเหนือ-ใต้ อยู่บนรอยเลื่อนแม่ฮ่องสอน ซึ่งเป็นรอยเลื่อนมีพลัง มีลักษณะภูมิประเทศเป็นที่ราบแคบใกล้กับภูเขาหินปูน ชั้นดินที่เกิดหลุมยุบเป็นดินเหนียวปนทราย ทำให้น้ำขังในหลุมยุบมีลักษณะขุ่นข้น ปากหลุมมีลักษณะค่อนข้างกลมรวมทั้งเป็นรูปกรวย บ่งชี้ถึงชั้นดินยุบตัวในแนวดิ่งลงสู่โพรงด้านล่างอย่างรวดเร็ว
หลุมยุบ เกิดจากแรงสั่นสะเทือนของแผ่นดินไหวทำให้ระดับน้ำใต้ดินกวัดแกว่งขึ้นลงอย่างรวดเร็ว ส่งผลให้แรงดันในช่องโพรงใต้ดินมีการเปลี่ยนแปลงทำให้ชั้นดินถูกกัดเซาะ เมื่อโพรงมีขนาดใหญ่ขึ้นและเพดานโพรงบางลง จนไม่สามารถรับน้ำหนักชั้นดินด้านบนได้ จนทำให้พังทลายลงและกลายเป็นหลุมยุบในที่สุด
อย่างไรก็ตาม สำนักงานทรัพยากรธรณีเขต 1 แนะนำข้อปฏิบัติ คือ ล้อมรั้วรอบบริเวณ ห้ามคนหรือสัตว์เลี้ยงเข้าใกล้ เฝ้าระวังและติดตามการทรุดตัวของพื้นดิน งดใส่ปุ๋ย พ่นยาในพื้นที่จนกว่าจะมีการถมกลบหลุมยุบเพื่อป้องกันการปนเปื้อนน้ำใต้ดิน นอกจากนี้ได้ส่งหน่วยงานเข้าสำรวจธรณีวิทยาใต้ผิวดิน โดยวิธีธรณีฟิสิกส์ ซึ่งผลที่ได้จะนำมาใช้ในการกำหนดแนวทางลดผลกระทบต่อไป รวมถึงชี้แจงสาเหตุและแนวทางป้องกันแก่หน่วยงานและประชาชนในพื้นที่