รีเซต

“เมียนมา” ยังไม่ปลอดภัย เสี่ยง “แผ่นดินไหว” ต่อเนื่อง

“เมียนมา” ยังไม่ปลอดภัย เสี่ยง “แผ่นดินไหว” ต่อเนื่อง
TNN ช่อง16
11 เมษายน 2568 ( 11:00 )
13

หลังเกิดแผ่นดินไหวขนาด 8.2 หรือ 7.7 ตามการวัดของสำนักงานสำรวจธรณีวิทยาสหรัฐฯ (USGS) เมื่อวันที่ 28 มีนาคม บริเวณภูมิภาคสะกาย ทางภาคกลางของเมียนมา ขณะนี้นักวิชาการหลายฝ่ายเตือนถึงความเสี่ยงที่จะเกิดแผ่นดินไหวครั้งใหญ่ซ้ำอีกในอนาคตอันใกล้

 

รายงานจากสถาบันวิจัยด้านธรณีวิทยาระบุว่า เมียนมาตั้งอยู่บนแนวรอยเลื่อนสะกาย (Sagaing Fault) ซึ่งเป็นรอยเลื่อนหลักที่พาดผ่านประเทศจากเหนือจรดใต้ และยังมีรอยเลื่อนย่อยที่มีศักยภาพก่อแผ่นดินไหวขนาดใหญ่ได้ เช่น รอยเลื่อนพะโค และรอยเลื่อนในแถบอิระวดี

 

หน่วยงานด้านสิ่งแวดล้อมและความมั่นคงภายในของเมียนมาได้ประกาศเตือนภัยในเมืองใหญ่อย่าง มัณฑะเลย์ ย่างกุ้ง และเนปิดอว์ โดยรณรงค์ให้มีการเตรียมพร้อมรับมือภาวะฉุกเฉิน รวมถึงการปรับปรุงอาคารสถานที่ราชการ โรงเรียน และโรงพยาบาลให้สามารถทนแรงสั่นสะเทือนได้ อย่างไรก็ตาม ที่ผ่านมาพบว่า เมียนมายังขาดมาตรฐานด้านการก่อสร้างรองรับภัยแผ่นดินไหว และมีการขยายตัวของเมืองที่ไม่ได้คำนึงถึงภูมิประเทศ ทำให้ประเทศมีความเปราะบางต่อแผ่นดินไหวมากที่สุดแห่งหนึ่งในภูมิภาคนี้

ด้านพลตรีซอว์ มิน ทุน โฆษกรัฐบาลทหารเมียนมา แถลงว่า มีผู้เสียชีวิตจากแผ่นดินไหวแล้ว 3,645 ราย บาดเจ็บ 5,017 ราย และสูญหาย 148 ราย ขณะที่อาคารบ้านเรือนพังเสียหายเกือบ 49,000 หลัง และอาคารราชการเสียหายกว่า 2,100 หลัง และทางการเมียนมาประกาศภาวะฉุกเฉินใน 6 เมือง ได้แก่ สะกาย มัณฑะเลย์ พะโค มาเกว รัฐฉาน และเนปิดอว์ ขณะเดียวกัน สำนักงานป้องกันพลเรือนเมียนมาเปิดเผยว่า ได้ยุติปฏิบัติการค้นหาและกู้ภัยแล้ว และกำลังเข้าสู่ขั้นตอนการค้นหาร่างผู้เสียชีวิต

 

ข้อมูลจากกองเฝ้าระวังแผ่นดินไหว กรมอุตุนิยมวิทยา ของไทย ระบุว่า ตั้งแต่เกิดแผ่นดินไหวจนถึงวันที่ 10 เมษายน มีอาฟเตอร์ช็อกเกิดขึ้นรวมกว่า 439 ครั้ง ซึ่งแสดงถึงพลังงานที่ยังไม่คลายตัวเต็มที่ ซึ่งเมียนมาตั้งอยู่บนรอยต่อของแผ่นเปลือกโลกอินเดียและยูเรเซีย จึงเป็นปัจจัยหลักที่ทำให้เกิดแผ่นดินไหวบ่อยครั้ง และยังคงมีแนวโน้มเกิดอีกในอนาคต

ส่วนด้านทีมกู้ภัยจากจีนเดินทางกลับถึงกรุงปักกิ่งแล้วเมื่อวันที่ 9 เมษายน หลังปฏิบัติภารกิจช่วยเหลือเป็นเวลา 12 วัน โดยสามารถช่วยผู้รอดชีวิตได้ 9 ราย ตรวจสอบโครงสร้างอาคารและพื้นที่กว่า 287,000 ตารางเมตร และให้บริการคำปรึกษาทางการแพทย์แก่ผู้ได้รับผลกระทบกว่า 2,000 ราย

 

นักธรณีวิทยาเตือนว่า ประเทศไทย โดยเฉพาะพื้นที่ภาคเหนือและภาคตะวันตก จำเป็นต้องเฝ้าระวังอย่างใกล้ชิด เนื่องจากแรงสั่นสะเทือนจากรอยเลื่อนในเมียนมามีแนวโน้มส่งผลกระทบมายังพื้นที่ชายแดนไทยได้ ผู้เชี่ยวชาญจากหลายประเทศเห็นพ้องว่า เมียนมา และประเทศเพื่อนบ้าน ต้องเร่งจัดการด้านโครงสร้างพื้นฐาน ภาวะฉุกเฉิน และการให้ความรู้แก่ประชาชน เพื่อลดผลกระทบจากแผ่นดินไหวในอนาคต

ยอดนิยมในตอนนี้

แท็กยอดนิยม

ข่าวที่เกี่ยวข้อง