รีเซต

เปิดผลงาน "เตียงพลิกตัวอัตโนมัติ" รองรับสังคมสูงวัย เตรียมผลักดันเข้าระบบประกันสุขภาพ

เปิดผลงาน "เตียงพลิกตัวอัตโนมัติ" รองรับสังคมสูงวัย เตรียมผลักดันเข้าระบบประกันสุขภาพ
TNN ช่อง16
5 ตุลาคม 2567 ( 11:14 )
44

เมื่อวันที่ 5 ต.ค. 2567  รศ.ดร.จิณพิชญ์ชา สาธิยมาส อาจารย์คณะพยาบาลศาสตร์ มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ ฐานะหัวหน้าโครงการวิจัย เปิดเผยถึงนวัตกรรมเพื่อสังคม  คือ เตียงพลิกตัวอัตโนมัติป้องกันแผลกดทับ ซึ่งพัฒนาภายใต้การสนับสนุนทุนจากสำนักงานการวิจัยแห่งชาติ (วช.) ผ่านกองทุนส่งเสริมวิทยาศาสตร์ วิจัยและนวัตกรรม (ววน.)  เพื่อสนับสนุนการดูแลผู้ป่วยติดเตียงอย่างมีประสิทธิภาพ ถูกต้องตามหลักวิชาการ  ทั้งนี้ผลงานวิจัยดังกล่าวมีจุดเด่นคือ สามารถควบคุมผ่านแอปพลิเคชั่นในแท็บเล็ต สามารถพลิกตะแคงตัวได้ตามองศาที่ต้องการเพื่อให้ผู้ป่วยติดเตียงได้เคลื่อนไหวร่างกาย โดยผลงานดังกล่าวสามารถรองรับน้ำหนัก ได้ 100 กิโลกรัม นอกจากนั้นแล้วในนวัตกรรมที่พัฒนายังมีระบบแจ้งเตือนการเกิดแผลกดทับ ผ่านเซ็นเซอร์ที่ติดตั้งมาในเบาะนอน


ส่วนประกอบหลักของเตียงแบ่งออกเป็น 2 ส่วน ได้แก่ 1. ส่วนของเตียงที่สามารถจัดท่าตะแคงซ้ายและขวา ใช้ระบบควบคุมผ่านระบบจอสัมผัสของโทรศัพท์/แท็บเล็ต ให้เตียงตะแคงทำมุมตั้งแต่ 0 ถึง 30 องศา และสามารถปรับให้หัวเตียงสูงทำมุมตั้งแต่ 0 ถึง 60 องศา และสามารถปรับข้อเข่างอทำมุมตั้งแต่ 0 ถึง 45 องศา รับน้ำหนักได้ 100 กิโลกรัม กลไกการทำงานของเตียงจะใช้ Linear Actuator 4 ตัว และผ่านการคำนวนความแข็งแรงโครงสร้างของเตียงตามแกนแนวขวางและแกนตามแนวยาว ตามมาตรฐานและได้ที่ผ่านการทดสอบมาตรฐาน IEC 60601-1 และ IEC 60601-2  

2. เป็นส่วนของระบบแจ้งเตือนการเกิดแผลกดทับ มีการติดตั้งที่เบาะนอนผ่านการทำงานของเซ็นเซอร์ แล้วมาแสดงผลที่จอรับข้อมูล การควบคุมสั่งการได้ผ่านทางเว็ปไซด์ (Web Application) และทางแอปพลิเคชันมือถือ แสดงผลแบบReal-time แจ้งเตือนเป็นลักษณะสัญญาณ LED 


รศ.ดร.จิณพิชญ์ชา เปิดเผยด้วยว่าเตียงยังมีฟังก์ชันบอกอุณหภูมิ เพื่อช่วยบ่งชี้ว่าผู้ป่วยมีไข้หรือไม่ และมีการติดตั้งระบบตรวจจับความชื้นแฉะของเตียงด้วย หากเตียงมีความชื้นซึ่งอาจเกิดจากการขับถ่าย เพื่อลดปัญหาการเกิดแผลอักเสบจากความชื้นและการติดเชื้อ  ซึ่งการทำงานของระบบจะส่งสัญญาณเตือนผู้ดูแลผ่านแทบเล็ตได้ทันที


"ปัจจุบันมีการนำนวัตกรรมธรรมศาสตร์ชิ้นนี้ไปใช้แล้วกับผู้ป่วยไม่ต่ำกว่า 250 เคส ในพื้นที่รอบมหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ ศูนย์รังสิต และ ชุมชนใน จ.ปทุมธานี รวมถึงมีการนำไปใช้ในโรงพยาบาลธรรมศาสตร์เฉลิมพระเกียรติด้วย  และภาคเอกชน ศูนย์ดูแลผู้สูงอายุ และองค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น หลายแห่งทั่วประเทศ ได้ประสานติดต่อมาเพื่อขอนำนวัตกรรมนี้ไปใช้งานด้วย ซึ่งถือเป็นการส่งมอบนวัตกรรมไปรับใช้สังคมได้ตามวัตถุประสงค์  สำหรับนวัตกรรมชิ้นนี้ ต้นทุนการผลิตอยู่ที่ 40,000-50,000 บาท มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ได้จดอนุสิทธิบัตรเป็นที่เรียบร้อยแล้ว ขณะนี้อยู่ระหว่างผลักดันและขับเคลื่อนให้นวัตกรรมนี้ไปใช้ประโยชน์ในระบบหลักประกันสุขภาพแห่งชาติ"รศ.ดร.จิณพิชญ์ชา กล่าว


สำหรับเตียงพลิกตัวอัตโนมัติป้องกันแผลกดทับ นวัตกรรมเพื่อสังคมที่ถูกคิดค้นและพัฒนาขึ้นจากอาจารย์คณะพยาบาลศาสตร์ มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ (มธ.) ได้รับความสนใจอย่างล้นหลาม จากผู้เข้าร่วม “มหกรรมงานวิจัย 90 ปี นวัตกรรมธรรมศาสตร์เพื่อประชาชน” ที่จัดขึ้นระหว่างวันที่ 10-11 ก.ย. 2567 ณ หอศิลปวัฒนธรรมแห่งกรุงเทพมหานคร เนื่องจากเตียงพลิกตัวอัตโนมัติ ป้องกันแผลกดทับ เป็นนวัตกรรมที่เข้ามาสนับสนุนการดูแลผู้ป่วยติดเตียงอย่างมีประสิทธิภาพ ถูกต้องตามหลักวิชาการ และสามารถแก้ Pain Point ที่หลายๆ ครัวเรือนกำลังประสบอยู่

ข่าวที่เกี่ยวข้อง