รีเซต

กักตัวโควิด 5 วัน สธ.ยืนยันตามหลักวิชาการ ความเสี่ยงแพร่เชื้อไม่ต่างกับ 7 วัน

กักตัวโควิด 5 วัน สธ.ยืนยันตามหลักวิชาการ ความเสี่ยงแพร่เชื้อไม่ต่างกับ 7 วัน
TNN ช่อง16
21 สิงหาคม 2565 ( 20:13 )
190
กักตัวโควิด 5 วัน สธ.ยืนยันตามหลักวิชาการ ความเสี่ยงแพร่เชื้อไม่ต่างกับ 7 วัน

โฆษก สธ.แจงแนวทางรักษา “โควิด” กลุ่มไม่มีอาการหรืออาการเล็กน้อย แบบ 5+5 คือ แยกกักรักษาที่บ้าน 5 วัน และป้องกันเข้มอีก 5 วัน ถูกต้องตามข้อมูลวิชาการเป็นไปตามสถานการณ์ปัจจุบัน ชี้โอกาสเสี่ยงแพร่เชื้อไม่แตกต่างกับการแยกกัก 7 วันหรือนานกว่านั้น เหตุประชาชนรับวัคซีนจำนวนมาก และเมื่อติดเชื้อจะมีการป้องกันตนเองไม่ให้แพร่เชื้อต่อ

วันนี้ (21 ส.ค.65) นพ.รุ่งเรือง กิจผาติ หัวหน้าที่ปรึกษาระดับกระทรวง (นายแพทย์ทรงคุณวุฒิ 11) และโฆษกกระทรวงสาธารณสุข กล่าวถึงแนวทางการรักษาโรคโควิด 19 กลุ่มไม่มีอาการหรือมีอาการเล็กน้อยแบบ 5+5 ว่า การกำหนดให้แยกกักรักษา 5 วัน และเฝ้าระวังสังเกตอาการและเคร่งครัดมาตรการป้องกันตนเอง คือ สวมหน้ากาก ล้างมือ และเว้นระยะห่างอีก 5 วัน 

เป็นแนวทางการที่เป็นไปตามสถานการณ์ ถูกต้องตามหลักวิชาการ และผ่านคำปรึกษาของผู้ทรงคุณวุฒิทั้งในและนอกกระทรวงสาธารณสุข มีความเหมาะสมกับสถานการณ์ปัจจุบันและสมดุลของการควบคุมโรคกับการใช้ชีวิตปกติสุขของประชาชน

ทั้งนี้ มีข้อมูลการศึกษาในหลายประเทศ พบว่า ผู้ป่วยโรคโควิด 19 สามารถแพร่เชื้อได้ตั้งแต่ก่อนเริ่มป่วย 1-2 วัน และวันเริ่มป่วยจะเป็นระยะที่มีโอกาสแพร่โรคให้ผู้อื่นได้มากที่สุด ซึ่งจำเป็นต้องแยกกักที่บ้าน เพื่อลดโอกาสการแพร่เชื้อในชุมชน

“ช่วงแรกเราใช้ระยะเวลา 14 วัน แต่เมื่อเชื้อมีความรุนแรงลดลง ประชาชนฉีดวัคซีนป้องกันโควิด 19 เพิ่มมากขึ้น ทำให้มีภูมิคุ้มกันจำนวนมาก ส่วนใหญ่จึงเป็นการติดเชื้อที่ไม่แสดงอาการ หรือมีอาการเล็กน้อย และไม่ได้ตรวจหาเชื้อโควิด 19 ซึ่งเรามีคำแนะนำให้ตรวจเมื่อมีอาการ 

เพื่อให้กลับมาใช้ชีวิตได้ตามปกติมากขึ้น และอยู่ร่วมกับโควิด 19 รวมถึงเดินหน้าสังคมและเศรษฐกิจต่อไปได้ จึงมีการลดระยะเวลาแยกกักรักษาเป็น 10 วันลดเหลือ 7+3 และขณะนี้เป็นแนวทางของ 5+5” นพ.รุ่งเรือง กล่าว

นพ.รุ่งเรือง กล่าวว่า การพิจารณาปรับระยะเวลาแยกกักที่บ้านลงนั้น เป็นการตัดสินใจบนข้อมูลข้อเท็จจริงทางวิชาการ ที่พบว่าการแยกกักที่บ้าน 5 วัน หรือ 7 วัน หรือนานกว่านั้น สามารถลดโอกาสเสี่ยงในการแพร่เชื้อต่อชุมชนไม่แตกต่างกัน 

ที่สำคัญคือ คนจำนวนมากฉีดวัคซีนแล้วทำให้มีภูมิคุ้มกันช่วยป้องกันอาการรุนแรง รวมถึงเมื่อทราบว่าตนเองติดเชื้อก็มีความรู้ความเข้าใจ และป้องกันตนเองอย่างเต็มที่ 

ดังนั้น การสังเกตอาการและเข้มมาตรการป้องกันตนเองเพิ่ม 3 วัน หรือ 5 วัน จึงไม่ได้แตกต่างกันมาก เพราะผู้ติดเชื้อจะมีการเฝ้าระวังตนเองไม่ให้แพร่เชื้อต่อ

“ส่วนกลุ่มที่เราเป็นห่วง คือ กลุ่มเสี่ยงต่อการป่วยหนัก หรือมีอาการรุนแรงหากติดเชื้อ ได้แก่ กลุ่ม 608 ที่ยังไม่เคยฉีดวัคซีนโควิดหรือยังไม่ได้รับวัคซีนเข็มกระตุ้น จึงต้องเน้นให้มารับวัคซีนเข็มกระตุ้น หากได้รับวัคซีนเข็มล่าสุดมาแล้วในช่วง 3-4 เดือน เพื่อคงระดับภูมิคุ้มกันต่อโรคโควิด 19 

นอกจากนี้ หากประชาชนยังคงร่วมมือกันสวมหน้ากากขณะทำกิจกรรมร่วมกันในกลุ่มคนจำนวนมาก หรือสวมหน้ากากขณะอยู่ในที่สาธารณะ รวมทั้งผู้ที่มีอาการป่วยในระบบทางเดินหายใจ เช่น ไข้ ไอ น้ำมูกไหล เจ็บคอ ปวดตามตัว มีการสวมหน้ากาก ขณะอยู่ใกล้ชิดผู้อื่น จะช่วยลดการแพร่โรคได้” นพ.รุ่งเรือง กล่าว.


ภาพจาก แฟ้มภาพ Reuters

ยอดนิยมในตอนนี้

แท็กยอดนิยม

ข่าวที่เกี่ยวข้อง