รีเซต

อนุทิน เปิดเฟส 3 รพ.บุษราคัม อีก 1,500 เตียง รอ กทม.ส่งต่อผู้ป่วย

อนุทิน เปิดเฟส 3 รพ.บุษราคัม อีก 1,500 เตียง รอ กทม.ส่งต่อผู้ป่วย
มติชน
4 กรกฎาคม 2564 ( 14:11 )
63
อนุทิน เปิดเฟส 3 รพ.บุษราคัม อีก 1,500 เตียง รอ กทม.ส่งต่อผู้ป่วย

 

เมื่อวันที่ 4 กรกฎาคม ที่โรงพยาบาล (รพ.) บุษราคัม นายอนุทิน ชาญวีรกูล รองนายกรัฐมนตรี และรัฐมนตรีว่าการกระทรวงสาธารณสุข (สธ.) พร้อมด้วย นพ.เกียรติภูมิ วงศ์รจิต ปลัด สธ. และผู้บริหาร สธ. ตรวจความพร้อมการขยายศักยภาพเตียงของ รพ.บุษราคัม ซึ่งเปิดเตียงรองรับผู้ป่วยโรคติดเชื้อไวรัสโคโรนา 2019 หรือ โควิด-19 ในระยะที่ 3 อีก 1,500 เตียง

 

 

 

 

 

นายอนุทิน กล่าวว่า สธ.มีความต้องการที่จะช่วยเหลือสถานการณ์เตียงในพื้นที่กรุงเทพมหานคร แบ่งเบาผู้ป่วยจากกรุงเทพฯ ไปที่ รพ.บุษราคัม ให้มากที่สุด ตามนโยบายของ ศบค. และ พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรีและรมว.กลาโหม ในวันนี้ตนและคณะผู้บริหาร สธ. จึงตรวจความพร้อมการขยายเตียง ฮอลล์กลาง ของอิมแพ็คอารีนา เมืองทองธานี อีก 1,500 เตียง ซึ่งทำให้เพิ่มศักยภาพรองรับได้ประมาณ 3,700 เตียง ที่ผ่านมา สธ. ได้เปิดไปแล้ว 2 ฮอลล์ จำนวน 2,161 เตียง มีผู้ป่วยสะสม 5,000 ราย รักษาหายกลับบ้านแล้วกว่า 3,000 ราย และขณะนี้มีรักษาอยู่ประมาณ 2,000 ราย ขณะเดียวกัน รพ.บุษราคัม มีเตียงสำหรับผู้ป่วยสีแดงอีก 12 เตียง

 

 

 

นายอนุทิน กล่าวว่า ขณะนี้ รพ.บุษราคัม เพิ่มศักยภาพเพียงเพื่อรองรับผู้ป่วยในกลุ่มสีเขียวที่เริ่มมีอาการแล้ว ไปจนถึงกลุ่มสีเหลือง ขณะเดียวกัน ก็รองรับผู้ป่วยที่มีอาการดีขึ้นจากใน รพ.ต่างๆ ออกมา เพื่อทำให้ รพ.มีเตียงมากขึ้น โดยจะมีการสับเปลี่ยนหมุนเวียนบุคลากรแพทย์เพื่อเข้ามาช่วยดูแลผู้ป่วยในส่วนนี้ทุกๆ 2 สัปดาห์ และจะมีการเตรียมความพร้อมในเรื่องของเวชภัณฑ์ ยารักษาเพื่อรองรับสถานการณ์

 

 

“วันนี้กรุงเทพฯ และปริมณฑล ก็จะมีเตียงเพิ่มขึ้นอีก 1,500 เตียง รวมกับที่เราเพิ่งเปิด รพ.สนามมณฑลทหารบกที่ 11 อีก 180 เตียง ซึ่งมีเตียงไอซียูประมาณ 58 เตียง และบริหารศักยภาพรพ.สนามทุกแห่งให้ดีที่สุด ดังนั้น หากประชาชนที่มีปัญหาป่วยอยู่ที่บ้านก็ขอให้ติดต่อมาที่ รพ.บุษราคัม เพื่อรอการประสานเรื่องเตียง ดังนั้น หากกรุงเทพมหานคร (กทม.) ได้รับแจ้งผู้ป่วยจาก 1669 ก็ไม่ต้องปฏิเสธ ขอให้ประสาน สธ. ที่เรามีเครือข่ายแพทย์ฉุกเฉินเพื่อจัดรถไปรับผู้ป่วยมาที่นี่ได้ เราต้องพร้อมรับเต็มที่เพื่อไม่ให้มีภาพผู้ป่วยเจ็บอยู่ที่บ้าน” นายอนุทิน กล่าว

 

 

 

 

นายอนุทิน กล่าวว่า ส่วนผู้ป่วยกลุ่มสีเขียวที่ยังไม่มีอาการ กรมการแพทย์ได้ออกแนวทางแยกกักตัวเองที่บ้าน (Home isolation) เพื่อบริหารสถานการณ์ให้มีความคล่องตัวมากที่สุด ส่วนกรณีการตรวจหาเชื้อโควิด-19 เราก็ได้เพิ่มตามทรัพยากรให้เรามีอยู่อย่างเต็มที่

 

 

“ส่วนของกรุงเทพฯ ก็ต้องฝากให้สำนักอนามัย กทม. ได้ช่วยทำการเพิ่มจุดตรวจให้มากที่สุด สธ.พร้อมให้ความสนับสนุนเต็มที่ ขณะนี้จะพบว่าปัญหายังอยู่ที่กทม.และปริมณฑล เราต้องเน้นให้จุดนี้มีการทำงานร่วมมือกันให้มากที่สุด สธ. พยายามทำทุกวิถีทาง เพราะ ในกรุงเทพฯ เราไปจัดการอะไรมากไม่ได้ แต่เราก็ไม่ยอมแพ้ เราก็อยู่ด้านหลังคอยรับภาระช่วยกัน อะไรที่ถ่ายมาให้เราได้เราก็ช่วยกันคนละไม้คนละมือ” นายอนุทิน กล่าว

 

 

 

 

ด้าน นพ.กิตติศักดิ์ อักษรวงศ์ ผู้อำนวยการโรงพยาบาลบุษราคัม กล่าวว่า ขณะนี้พื้นที่กรุงเพทฯ และปริมณฑล มีการระบาดขยายวงกว้าง ดังนั้น การส่งต่อผู้ป่วยที่มีอาการรุนแรงจึงค่อนข้างเป็นไปได้ยาก ทั้งนี้ ตามนโยบายของ รมว.สาธารณสุข ที่อยากให้ผู้ป่วยทุกประเภทได้รับการดูแล เราจึงขยายเตียงเพิ่งอีก 1,500 เตียง จากเดิมที่มี 2,161 เตียง เพื่อรองรับผู้ป่วยที่เกินกำลังของกรุงเทพฯ เพื่อส่งมาให้เราช่วยดูแล

 

 

“แม้ว่าภารกิจของเราจะรองรับผู้ป่วยกลุ่มสีเหลือง ที่มีอาการปานกลางถึงรุนแรง แต่เราก็ต้องดูแลผู้ป่วยในทุกกลุ่ม โดยเฉพาะกรณีที่กรุงเทพฯ ส่งต่อให้เรา เราก็จะสนับสนุนในส่วนนี้” นพ.กิตติศักดิ์ กล่าว

 

 

ผู้สื่อข่าวถามว่าประชาชนที่ทราบผลว่าตัวเองติดเชื้อโควิด-19 จะสามารถ วอล์ก-อิน มารับเตียงได้หรือไม่ นพ.กิตติศักดิ์ กล่าวว่า ข้อตกลงของ ศปก.ศบค. ร่วมกับ กทม.ที่แบ่งพื้นที่เป็น 6 กลุ่มเขต และแต่ละเขตก็จะดูแลผู้ป่วยของตัวเอง บริหารสถานบริการทั้งภาครัฐ เอกชนและมหาวิทยาลัย เพื่อประสานเตียงระหว่างโซน แต่กรณีที่ประสานแล้วมีปัญหา หรือผู้ป่วยรอนานก็ให้ประสานมาที่ รพ.บุษราคัม ได้ในเบื้องต้น

 

 

“แต่ขณะนี้ยังไม่สามารถเปิดให้ประชาชนวอล์ก อิน เข้ามา เพราะมีประเด็นเรื่องของการคัดกรองผู้ป่วย เนื่องจากบางรายมีการใช้ชุดตรวจเร็ว หาแอนติเจน ซึ่งไม่ได้เป็นมาตรฐาน เจ้าหน้าที่จึงต้องมีการตรวจด้วยวิธี RT-PCR อีกรอบ อีกทั้งการเข้าสู่ระบบเตียงจะต้องมีขั้นตอนข้อมูลเตรียมพร้อมไว้ เมื่อมาถึงจะมีการคัดกรองอีกครั้ง เพราะเจ้าหน้าที่ของเรามีจำกัด ดังนั้นการบริหารจัดการในแต่ละฮอลล์ก็ต่างกัน หากเราไม่มีระบบที่ชัดเจน และหากทุกคนเดินเข้ามาก็จะเกิดความวุ่นวาย” นพ.กิตติศักดิ์ กล่าว

 

 

นพ.กิตติศักดิ์ กล่าวด้วยว่า ขณะเดียวกัน กทม.ได้ร่วมกับโรงพยาบาลต่างๆ ก็พยายามขยายเตียงอยู่ ดังนั้น การบริหารผ่านกลุ่มเขตจะเป็นวิธีที่ดีที่สุด ซึ่งกรณีการส่งต่อผู้ป่วยที่มีอาการมาก เพื่อมาอยู่เตียง รพ.บุษราคัม ก็จะต้องพิจารณารายบุคคล ไม่สามารถดำเนินการได้ทุกคน

ข่าวที่เกี่ยวข้อง