รู้จัก มณีแดง หรือ RED-GEMs ยาต้านความชรา ไทยค้นพบครั้งแรกของโลก!
วันนี้ (19 ต.ค.64) ศ.นพ.อภิวัฒน์ มุทิรางกูร อาจารย์ประจำคณะแพทยศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย หัวหน้าทีมวิจัย สำนักงานพัฒนาวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีแห่งชาติ หรือ สวทช. เปิดเผยความสำเร็จในการต่อยอดยาต้านความชรา จากโมเลกุล “มณีแดง”
โดย “มณีแดง” คือยีนชนิดหนึ่งของมนุษย์ที่มีหน้าที่ทำให้ “ดีเอ็นเอ” แข็งแรง เนื่องจากความชราเกิดจากดีเอ็นเอถูกทำลาย และโมเลกุลมณีแดงมีความสามารถปกป้องดีเอ็นเอไม่ให้ถูกทำลาย
ผู้วิจัยจึงตั้งชื่อภาษาอังกฤษตามหน้าที่ของมันว่า “REjuvenating DNA by GEnomic stability Molecules” หรือ เรียกชื่อย่อว่า RED-GEMs (เรดเจม) มีความหมายว่า “มณีแดง”
คณะผู้วิจัยได้ค้นพบรอยแยกของดีเอ็นเอ ซึ่งลักษณะของดีเอ็นเอจะเป็นสายโพลิเมอร์ 2 เส้นจับกันเป็นเกลียวคู่ เวลาทำงานดีเอ็นเอเกลียวคู่นี้ จะต้องแยกออกจากกัน ทำให้เกิดแรงบิดและถูกทำลายได้ง่าย
การที่ดีเอ็นเอ ถูกทำลายจากแรงบิดนี้ เป็นจุดเริ่มต้นทำให้เซลล์แก่ลง รอยแยกของดีเอ็นเอที่ค้นพบใหม่นี้จะช่วยลดแรงบิดลง และปกป้องไม่ให้ดีเอ็นเอถูกทำลายคล้ายกับรอยแยกรางรถไฟ ที่ช่วยปกป้องไม่ให้รางรถไฟผิดรูปจากความร้อน โดยในเซลล์ที่ชราจะมีรอยแยกของดีเอ็นเอน้อยกว่าเซลล์หนุ่มสาว ดังนั้นดีเอ็นเอของคนแก่ถึงถูกทำลายมากกว่า
ทั้งนี้ คณะผู้วิจัยได้ทดสอบฉีดมณีแดงเข้าที่ช่องท้องหนูทดลองที่ชราแล้ว พบว่า มณีแดงสามารถสร้างข้อต่อดีเอ็นเอได้ สามารถย้อนวัยหนูที่มีเซล์ชราให้กลับมามีรูปร่างและการทำงานเหมือนเซลล์ปกติ เหมือนหนูหนุ่มสาว หนูชรามีความจำดีขึ้นและคล่องแคล่วว่องไวขึ้น
นอกจากนี้ ยังพบว่าแผลไฟไหม้ในหนูทดลองที่ชราหายเร็วขึ้นด้วย โดยผู้วิจัยได้ตรวจวัดจำนวนเซลล์ชรา, การทำหน้าที่ของตับ, ความทรงจำ, พังผืดของตับ, และโปรตีนอื่น ๆในตับ และในสมอง พบว่าทุกค่าที่หนูชราที่ได้รับ “มณีแดง” มีสภาพร่างกายย้อนเวลากลับเป็นเหมือนวัยหนุ่มสาว
แสดงศักยภาพของมณีแดงในการประยุกต์ใช้รักษาโรคที่เกิดจากการสะสมสิ่งผิดปกติต่าง ๆ เช่น อมัลลอยในโรคสมองเสื่อม จากอัลไซเมอร์ หรือ ปอดเป็นพังผืดจากการติดเชื้อโควิด หรือการมีเส้นเลือดแข็งจากการมีไขมันสะสมตามผนังหลอดเลือด เป็นต้น
สำหรับศักยภาพของ “มณีแดง” สามารถนำไปใช้ประโยชน์คือ
1. รักษาโรคที่มีกลไกมาจากเซลล์ เนื้อเยื่อ และอวัยวะเสื่อมสภาพที่พบในคนชรา หรือชราเร็วจากโรคบางชนิด เช่น เบาหวาน โดยในปัจจุบันยังไม่สามารถรักษาให้หายขาดได้ เช่น สมองเสื่อม อัลไซเมอร์ หัวใจวาย ความดันโลหิตสูง เส้นเลือดแข็ง และการเสื่อมสมรรถภาพใน อวัยวะต่างๆ เป็นต้น
2. รักษาโรคที่อวัยวะเสื่อมสภาพ จากการทำลายจากสิ่งแวดล้อม เช่น ไฟไหม้ น้ำร้อนลวก ปอดพังจากบุหรี่ ตับสมองพังจากสุรา ไตพังจากสารพิษ เป็นต้น
3. เสริมสมรรถภาพของคนชราให้มีศักยภาพทางกาย รูปร่างหน้าตา เท่ากับคนหนุ่มสาว
4. อาจใช้ป้องกันและรักษามะเร็งได้ โดยการแก้ไขความชราของเซลล์เม็ดเลือดขาวที่มีหน้าที่ทำลายเซลล์มะเร็ง และป้องกันมะเร็งจากการลดโอกาสเกิดการแตกทำลายของดีเอ็นเออันนำไปสู่การกลายพันธุ์ของยีน
5. ใช้ชะลอการเสื่อมของร่างกายในเด็กที่มีความผิดปกติของยีนซ่อมแซมดีเอ็นเอ
6. ใช้เสริมความงาม
7. ใช้เพิ่มผลิตผลทางการเกษตร
8. ใช้ป้องกันความพิการแต่กำเนิด
อย่างไรก็ตาม เมื่อเปรียบเทียบกับงานวิจัยในต่างประเทศ พบว่าผลการศึกษายังไม่สามารถย้อนวัยได้สมบูรณ์เท่ามณีแดงที่นักวิจัยไทยค้นพบครั้งนี้ ซึ่งขั้นตอนต่อไปจะทำการทดสอบในลิงและในมนุษย์ คาดว่าจะใช้เวลาประมาณ 2 ปี
นอกจากนี้ อาจจะมีการปรับโครงสร้างมณีแดง และวิธีการให้ยาที่เหมาะสม เช่น ทดสอบการให้โดยวิธีสูดดม หรือการฉีดเข้าเส้น เป็นต้น
ด้าน นายณรงค์ ศิริเลิศวรกุล ผู้อำนวยการ สวทช. กล่าวว่า ความสำเร็จของการทดลองนี้มีผลที่ดีเหนือความคาดหมาย ซึ่งต้องรอผลทดสอบในลิง และมนุษย์ นอกจากนี้ จะมีการทดสอบแก้ไขความชราในอิมมูนเซลล์ เพื่อรักษามะเร็งด้วย เนื่องจากมณีแดงอาจสร้างรายได้ให้ประเทศไทยมูลค่ามหาศาล
ดังนั้น รัฐบาลอาจจะต้องวางแผนเพื่อให้เกิดรายได้จากองค์ความรู้ทางวิทยาศาสตร์นี้ เพราะมณีแดงอาจเป็นกุญแจสำคัญในการแก้ปัญหาสังคมผู้สูงวัยในปัจจุบันและอนาคต ซึ่งการวางแผนที่ดีจะทำให้ประเทศไทยเป็นผู้นำในการแก้ปัญหานี้.