AMATA "เอเซีย พลัส" คาดจีนเปิดประเทศ ย้านฐานการผลิต ดันกำไร
![AMATA "เอเซีย พลัส" คาดจีนเปิดประเทศ ย้านฐานการผลิต ดันกำไร](https://cms.dmpcdn.com/contentowner/2020/08/18/15980f10-e133-11ea-8e82-0b494f6be91c_original.jpg)
#AMATA #ทันหุ้น-บล.เอเซีย พลัส ออกบทวิเคราะห์หุ้นบริษัท อมตะ คอร์ปอเรชัน จำกัด (มหาชน) หรือ AMATA โดยแนะนำซื้อ ให้ราคาเป้าหมายที่ 27 บาทต่อหุ้น ซึ่งราคาหุ้นยังมี upside 29.8% จากราคาปิดวานนี้ แม้ผลประกอบการจะลดลงในช่วงที่โควิด-19 แพร่ระบาด แต่ก็กลับมาพลิกฟื้นได้อย่างรวดเร็วในระยะเวลาเพียง 1 ปี ในระยะถัดไปหลังจากที่จีนมีนโยบายเปิดประเทศประกอบกับความขัดแย้งทางภูมิรัฐศาสตร์ระหว่างสหรัฐฯ – จีน น่าจะเป็นตัวเร่งให้เกิดความต้องการที่จะโยกย้ายฐานการผลิตบางส่วนมายังประเทศไทยเพื่อกระจายความเสี่ยงทางธุรกิจ
ฝ่ายวิจัยคาดการณ์กำไรสุทธิของ AMATA ในช่วงปี 2565-2568 จะเติบโตเฉลี่ยปีละ 7.5% จาก 2,341 ล้านบาทในปี 2565 เป็น 2,908 ล้านบาทในปี 2568 โดยมองว่าหลังจากที่สายการบินประเทศต่างๆ กลับมาเปิดให้บริการ ส่งผลให้จำนวนผู้โดยสารระหว่างประเทศปรับเพิ่มตาม ปัจจัยดังกล่าวจะช่วยส่งผลให้นักลงทุนสามารถเดินทางเข้ามาเยี่ยมชมพื้นที่ในนิคมฯ และตัดสินใจทำสัญญาซื้อได้มากขึ้น ประกอบกับยังมีปัจจัยบวกจาก ความขัดแย้งทางภูมิรัฐศาสตร์ระหว่างสหรัฐฯ และจีน รวมถึงสงครามรัฐเซีย-ยูเครนที่ยังคงยืดเยื้อ ที่จะช่วยหนุนให้นักลงทุนต่างชาติย้ายฐานการผลิตมาประเทศไทย
สถานการณ์แพร่ระบาดของ covid-19 ที่มีแนวโน้มดีขึ้นอย่างชัดเจน จากการกระจายวัคซีนและความรุนแรงของอาการการเจ็บป่วยที่ลดลง ส่งผลให้กิจกรรมเศรษฐกิจทยอยฟื้นตัวและมีการเปิดประเทศ โดยหากดูข้อมูลจำนวนผู้โดยสารระหว่างประเทศของทั้ง 6 สนามบินในประเทศไทย (สุวรรณภูมิ, ดอนเมือง, เชียงใหม่, หาดใหญ่, ภูเก็ต และเชียงราย)พบว่าจำนวนผู้โดยสารระหว่างประเทศปรับเพิ่มขึ้นมาอย่างมีนัยสำคัญตั้งแต่ช่วงไตรมาส 2/65 ที่
ผ่านมาและคาดว่าจะมีแนวโน้มปรับเพิ่มต่อ หลังจากที่จีนมีนโยบายเปิดประเทศ
ท่ามกลางเหตุการณ์ที่เกิดขึ้นมากมายในช่วง 3 – 5 ปีที่ผ่านมา ไม่ว่าจะเป็น สงครามการค้าความขัดแย้งทางภูมิรัฐศาสตร์ระหว่างสหรัฐฯ และจีน รวมถึงสงครามรัฐเซีย-ยูเครนที่ยังคงยืดเยื้อ ได้สร้างผลกระทบในวงกว้าง เช่น การขาดแคลนอาหาร วิกฤตพลังงาน และ ภาวะเศรษฐกิจถดถอยในหลายประเทศ ส่งผลให้เกิดความไม่แน่นอนต่อการดำเนินธุรกิจ จึงเกิดความต้องการที่จะโยกย้ายฐานการผลิตบางส่วนไปยังภูมิภาคอื่นๆ เพื่อกระจายความเสี่ยง
จากข้อมูลการลงทุนโดยตรงจากต่างประเทศ (FDI) ของ UNCTAD ในปี 2564 พบว่าตัวเลขการลงทุนโดยตรง ปี 2564 ทั่วโลกคิดเป็นมูลค่า 1.6 ล้านล้านเหรียญสหรัฐฯ เติบโต 64%YoY แสดงถึงการฟื้นตัวด้านการลงทุนหลังจากการระบาดของโควิด-19 ได้เป็นอย่างดี
นอกจากนี้หากพิจารณาภูมิภาคอาเซียนพบว่าเป็นหนึ่งในภูมิภาคที่ได้รับความสนใจเนื่องจากหากพิจารณาจากตัวเลข FDI พบว่ามีเงินทุนไหลเข้าเฉพาะภูมิภาคอาเซียนกว่า11% ของ FDI โลกที่ 175 พันล้านเหรียญสหรัฐ เติบโต 44%YoYประเทศไทยได้รับอานิสงส์จากการย้ายฐานการผลิต ตัวอย่างเช่น เมื่อเดือน ม.ค. ที่ผ่านมา SONY ตัดสินใจเลือกไทยเป็นตลาดยุทธศาสตร์สำคัญในการย้ายฐานการผลิตกล้องดิจิทัลเพื่อส่งออกต่างประเทศ (ยกเว้นจีน) มาที่ไทยแบบเบ็ดเสร็จ หลังความตึงเครียดระหว่างสหรัฐกับจีนทวีความรุนแรงมากขึ้น
นอกจากนี้ยังมี Bridgestone ผู้ผลิตยางล้อรายใหญ่จากญี่ปุ่น ประกาศจะปิดโรงงานหล่อดอกยางเครื่องบินที่ฮ่องกงและย้ายมาตั้งที่จ.ชลบุรี ภายในเดือน มิ.ย. 2566 และจะใช้โรงงานในไทยเป็นฐานการผลิตและจัดจำหน่าย
ในแถบเอเชียและโอเชียเนียแทน ขณะที่ Apple พยายามลดความเสี่ยงทางการเมืองระหว่างสหรัฐฯ กับจีนลงโดยการย้ายฐานการผลิต iPhone บางส่วนมายังประเทศอินเดียเรียบร้อยแล้ว ในอนาคตคาดว่า Apple มีโอกาสที่จะย้ายฐานการผลิต MacBook มาประเทศไทยในอนาคตเช่นกัน โดย Quanta Computer บริษัทผู้ผลิตชิ้นส่วน MacBookได้ขยายฐานการผลิตมาที่ไทยระยะหนึ่งแล้ว
ฝ่ายวิจัยประเมินว่ายอดการโอนที่ดินจะเติบโตทั้งในประเทศและนอกประเทศ โดย บริษัทร่วมทุน ไทย-จีน จะเปิดนิคมฯ แห่งใหม่ที่หนองละลอก จ.ระยอง ภายในครึ่งแรกปีนี้ โดยมีพื้นที่ขาย 1,500 ไร่ และ AMATA นำที่ดินขนาด 700 ไร่ ที่อมตะสมาร์ท ซิตี้ ชลบุรีออกมาขายจากแผนเดิมที่จะให้เช่าระยะยาว สำหรับที่ดินที่ Ha Long และ Long Tan ประเทศเวียดนาม มีความล่าช้าจากการออกใบอนุญาต ส่งผลให้ต้องเลื่อนออกไปจากแผนเดิมที่วางไว้ช่วงไตรมาส 4/65 อย่างไรก็ตาม คาดว่าจะออกใบอนุญาตได้ทันในครึ่งแรกปีนี้ ส่งผลให้ยอดขายที่ดินและรายได้จากการขายที่ดินจะเติบโตอย่างมีนัยสำคัญในปี 2566 ด้วยอานิสงส์จากการย้ายฐานการผลิตที่เกิดจากความขัดแย้งทางด้านภูมิรัฐศาสตร์ระหว่างสหรัฐ – จีน ฝ่ายวิจัยเชื่อว่าจะมีนักลงทุนต่างชาติย้ายฐานการผลิตเข้ามาและหนุนให้AMATA มีรายได้จากการโอนที่ดินในปี 2566 เติบโต