ไทยพบ "เดลตาครอน" 73 ราย หายดีแล้วทุกคน สธ.ระบุไม่แพร่เร็วเหมือนเชื้อเบต้าที่หายไปแล้ว
ข่าวโควิดวันนี้ การเฝ้าระวังสายพันธุ์โควิด-19 ในประเทศไทย สัปดาห์ที่ผ่านมา พบว่าโควิดในไทยตอนนี้ เป็นเชื้อโอมิครอนทั้งหมด ไม่มีเชื้อโควิดสายพันธุ์เดลต้าแล้ว ซึ่งจะมีผลถึงเรื่องลูกผสม หรือ ไฮบริด ที่เป็น “เดลตาครอน” เพราะเมื่อเชื้อเดลต้าหายไป โอกาสที่จะผสมกันอีกก็ไม่น่าจะเกิดขึ้นได้แล้ว ซึ่งพบผู้ติดเชื้อเดลตาครอน 73 รายแล้วในประเทศไทย
นพ.ศุภกิจ ศิริลักษณ์ อธิบดีกรมวิทยาศาสตร์การแพทย์ แถลงความคืบหน้าการเฝ้าระวังสายพันธุ์โควิด 19 ว่า จากการตรวจสายพันธุ์ย่อยของโอมิครอน เราสุ่มตรวจจากทุกกลุ่ม ทั้งประชาชนทั่วไป เดินทางมาจากต่างประเทศ กลุ่มที่อาการรุนแรงและเสียชีวิต บุคลากรทางการแพทย์ กลุ่มที่มีค่า CT ต่ำหรือติดเชื้อเยอะ กลุ่มคลัสเตอร์ 50 คนขึ้นไป และกลุ่มที่ได้รับวัคซีนครบโดส ซึ่งทุกกลุ่มมีสัดส่วนการติดเชื้อเป็น BA.2 ใกล้เคียงกัน เปอร์เซ็นต์ไม่ได้แตกต่างจากภาพรวม อย่างกลุ่มที่เสียชีวิตพบ BA.2 ประมาณ 60% ดังนั้น BA.2 จึงไม่ได้มีอิทธิฤทธิ์อิทธิเดชทำให้เสียชีวิตมากขึ้น
สำหรับ “เดลตาครอน” ที่มีรายงานว่า เกิดการปนเปื้อนจากการตรวจเชื้อ ในประเทศไซปรัส จึงเรียนกว่า การติดเชื้อ 2 ตัวในคนเดียว มี 2 กรณี คือ 1.ตรวจพบทั้ง 2 สายพันธุ์ใน 1 คน ซึ่งไม่เกี่ยวข้องกัน กับ 2.เกิดการผสมพันธุ์กัน แล้วเกิดเป็นไฮบริด เป็นการเกิดตัวใหม่ที่มี 2 สายพันธุ์อยู่ในตัวเดียว ขณะนี้ สิ่งที่เจอคือ เชื้อโอมิครอนสายพันธุ์ย่อย BA.1 แล้วเจอกับเชื้อเดลต้าสายพันธุ์ย่อย AY4 มาอยู่ในไวรัสตัวเดียวกัน เป็นเดลตาครอน ซึ่งขณะนี้มีการรายงานเข้าจีเสด 4,000 กว่าราย ได้รับการยอมรับ 64 ราย ส่วนใหญ่อยู่ในฝรั่งเศส 50 กว่าราย ส่วนที่รอใน 4,000 กว่าราย คือ รอวิเคราะห์เพิ่มเติมว่าจะใช่เชื้อเดลตาครอนหรือไม่ อย่างไรก็ตาม องค์การอนามัยโลก จัดให้เดลตาครอนอยู่ในสายพันธุ์ที่ต้องติดตาม ยังไม่ใช่สายพันธุ์ที่น่าสนใจ เพราะสูงสุดคือ สายพันธุ์ที่น่าห่วงกังวล ฉะนั้น ยังเป็นเด็กประถม ไม่ได้มีอะไรน่าตื่นเต้นมาก
“ใน 4,000 กว่าราย ที่ส่งเข้าจีเสด มีประเทศไทยส่งเข้าไป 73 ราย ถ้าใช่ ก็ไม่มีปัญหาอะไร อย่างที่เรียนว่า หากเชื้อเดลต้าลดลงเรื่อยๆ โอกาสจะผสมกันก็จะเกิดขึ้นได้ยาก เพียงแต่ว่าเดลตาครอนที่พบมีอิทธิฤทธิ์อะไรหรือไม่ เช่น แพร่เร็วขึ้น อนาคตก็จะเห็นเดลตาครอนครองตลาด ซึ่งตอนนี้ยังไม่เห็นวี่แววนั้น ส่วนความรุนแรงก็ยังไม่มีข้อมูล” นพ.ศุภกิจ กล่าวย้ำ
เมื่อถามถึงเดลตาครอนของไทย 73 รายเป็นอย่างไร นพ.ศุภกิจกล่าวว่า GISAID ยอมรับเดลตาครอนแล้ว 64 ราย เหลืออีก 4 พันรายที่รอตรวจสอบข้อมูล จริงๆ ที่ได้ยินข่าวเจอที่อังกฤษมาก แต่ยังไม่ได้มีการส่งข้อมูลเข้าไป ส่วนของไทยเมื่อถอดรหัสพันธุกรรมทั้งตัวพบ 73 รายเข้าข่ายว่าเป็นเดลตาครอน แต่ผู้เชี่ยวชาญยังต้องช่วยกันดูว่าสรุปแล้วใช่จริงหรือไม่ ทั้งหมดไม่ใช่ตัวอย่างที่เกิดใน 1-2 สัปดาห์นี้ แต่เกิดขึ้นช่วง ธ.ค. 2564- ม.ค. 2565 ซึ่งยังมีเดลตากับโอมิครอนกันมาก ทำให้มีโอกาสผสมกันได้มาก โดยคนไข้ทั้ง 73 รายหายเรียบร้อยดีแล้ว ไม่มีเสียชีวิต อาจจะเป็นพันธุ์ผสมอันหนึ่งที่ไม่ได้หนักหนา และถ้าไม่แพร่เร็ว อีกสักระยะก็จบ และแม้ว่าจะเป็นสายพันธุ์หนักแต่ไม่แพร่เร็วเหมือนเบตาก็จะหายไป
"เท่าที่เห็นโอมิครอนมีคุณสมบัติอย่างหนึ่ง คือ หลบภูมิคุ้มกันได้ค่อนข้างดี จะเห็นคนติดเดลตามาแล้ว ไม่ได้การันตีว่าจะไม่ติดโอมิครอนซ้ำ จึงเป็นอีกได้ เพราะฉะนั้นวัคซีนไม่ว่าอะไรฉีด 2 เข็มนานพอควร ภูมิฯจะตก ป้องกันติดเชื้อไม่ได้จะต้องมากระตุ้น แต่ช่วยป้องกันป่วยตายได้พอสมควร แต่ถ้าภูมิฯ ยิ่งสูงยิ่งช่วยได้มากขึ้น โดยเฉพาะในกลุ่ม 608 ซึ่งอัตราการติดเชื้อเสียชีวิตยังสูง" นพ.ศุภกิจกล่าว
ข้อมูล ข่าวสด,มติชน
--------------------
เกาะติดสถานการณ์โควิด-19 ทันความเคลื่อนไหว ได้ความรู้ที่ถูกต้อง ส่งตรงถึงมือคุณ
คลิกเลย!! >>> รู้ทันกันโควิด <<< หรือ กด *301*35# โทรออก
ทุกประเด็นร้อนข่าวสาร สาระ ทันเหตุการณ์ พูดคุยกันได้ 24 ชม.
คลิกเลย >>> TrueID Community <<<