รีเซต

ยูเนสโกรับรอง Foodie Hawker Culture วัฒนธรรมอาหารแผงลอยสิงคโปร์ มรดกทางวัฒนธรรมที่จับต้องไม่ได้

ยูเนสโกรับรอง Foodie Hawker Culture วัฒนธรรมอาหารแผงลอยสิงคโปร์ มรดกทางวัฒนธรรมที่จับต้องไม่ได้
มติชน
17 ธันวาคม 2563 ( 18:15 )
82

สำนักข่าวรอยเตอร์รายงานว่า เมื่อวันที่ 16 ธันวาคม Foodie Hawker Culture หรือ วัฒนธรรมอาหารหาบเร่แผงลอย ที่เป็นแหล่งรวมร้านอาหารริมทางต่างๆ ไว้ในที่เดียวกัน ซึ่งกลายเป็นวัฒนธรรมการกินอาหารของคนสิงคโปร์ ได้รับการประกาศจากองค์การศึกษา วิทยาศาสตร์และวัฒนธรรมแห่งสหประชาชาติ (ยูเนสโก) ว่ามีความสำคัญทางวัฒนธรรม และให้จัดอยู่ใน “รายการตัวแทนมรดกทางวัฒนธรรมที่จับต้องไม่ได้ของมนุษยชาติ” (Representative List of the Intangible Cultural Heritage of Humanity) ที่ต้องได้รับการสงวนรักษาอย่างเร่งด่วนของทางยูเนสโกแล้ว ซึ่งมีขึ้นเป็นเวลาเกือบ 2 ปี หลังจากสิงคโปร์ได้ยื่นเสนอวัฒนธรรมการกินอาหารนี้ของชาวสิงคโปร์ต่อยูเนสโกให้พิจารณาเป็นมรดกทางวัฒนธรรม

 

“ศูนย์อาหารเหล่านี้ได้ให้บริการในฐานะเป็นที่รับประทานของชุมชนซึ่งผู้คนที่มีภูมิหลังหลากหลายมารวมตัวและแบ่งปันประสบการณ์กันในระหว่างนั่งรับประทานอาหารเช้า อาหารกลางวันและอาหารเย็น” ยูเนสโกระบุ

 

ศูนย์อาหารหาบเร่แผงลอยดังกล่าวก่อเกิดขึ้นในช่วงทศวรรษ 1970 หลังจากรัฐบาลสิงคโปร์ได้ทำการจัดระเบียบด้วยการนำร้านอาหารหาบแร่แผงลอยต่างๆ มารวมไว้อยู่ในที่เดียวกันเพื่อเป็นระเบียบเรียบร้อยในชุมชน เพื่อให้บริการอาหารที่หลากหลายในราคาย่อมเยา อย่างไรก็ดีวัฒนธรรมอาหารหาบเร่แผงลอยนี้ของสิงคโปร์กำลังเผชิญกับความท้าทายหลายด้านในปัจจุบัน ทั้งจากช่วงวัยของผู้ค้าที่มีอายุเฉลี่ยมากถึง 60 ปี ขณะที่คนหนุ่มสาวในวัยทำงานส่วนใหญ่ยังหลีกเลี่ยงศูนย์อาหารเหล่านี้ที่มีสภาพคับแคบและเต็มไปด้วยเหงื่อไคล ตลอดจนสถานการณ์แพร่ระบาดของไวรัสโควิด-19 ที่ทำให้ไร้นักท่องเที่ยวและคนท้องถิ่นยังไม่ออกมารับประทานอาหารนอกบ้านในช่วงล็อกดาวน์

ข่าวที่เกี่ยวข้อง