รีเซต

‘กลุ่มฟื้นฟู ปชต.’ ฝากรัฐ สร้างความเข้าใจ จัด ‘งบ-บริการ’ ให้สอดรับ หลังกม.ทำแท้งผ่านสภา

‘กลุ่มฟื้นฟู ปชต.’ ฝากรัฐ สร้างความเข้าใจ จัด ‘งบ-บริการ’ ให้สอดรับ หลังกม.ทำแท้งผ่านสภา
มติชน
26 มกราคม 2564 ( 17:17 )
79

เมื่อวันที่ 26 มกราคม ผู้สื่อข่าวรายงานว่า “กลุ่มฟื้นฟูประชาธิปไตย – Democracy Restoration Group” (DRG) ได้โพสต์ข้อความผ่านเฟซบุ๊ก โดยระบุว่า กฎหมายทำแท้งผ่านสภา เตรียมประกาศใช้

 

ที่ประชุมวุฒิสภา ในวันที่ 25 มกราคม พ.ศ.2564 มีมติเห็นชอบร่าง พ.ร.บ.แก้ไขประมวลกฎหมายอาญา (ป.อาญา) มาตรา 301 และมาตรา 305 ว่าด้วยการยุติการตั้งครรภ์ ตามคำวินิจฉัยของและความเห็นของศาลรัฐธรรมนูญ ด้วยมติเห็นชอบ 165 เสียง ต่อไม่เห็นชอบ 7 เสียง (งดออกเสียง 21 เสียง ไม่ลงคะแนน 1 เสียง) หลังการพิจารณาสามวาระรวดในวันเดียว การแก้ไขประมวลกฎหมายอาญามาตรา 301 และ 305 มีสาระสำคัญคือ

 

1. ให้หญิงที่มีอายุครรภ์ไม่ถึง 12 สัปดาห์สามารถทำแท้งได้โดยไม่มีความผิด หากเกิน 12 สัปดาห์ต้องระวางโทษจำคุกไม่เกิน 6 เดือน หรือปรับไม่เกิน 10,000 บาท (แก้ไข ป.อาญา มาตรา 301ในส่วนของเงื่อนไขและการปรับลดโทษ)

2. ให้หญิงที่มีอายุครรภ์ระหว่าง 12-20 สัปดาห์ทำแท้งได้ภายหลังการตรวจและรับคำปรึกษาทางเลือกจากผู้ประกอบวิชาชีพเวชกรรมและผู้ประกอบวิชาชีพอื่นตามหลักเกณฑ์ วิธีการและกฎหมายที่เกี่ยวข้อง (เพิ่มเติม ป.อาญา มาตรา 305(5) ในส่วนของการเปิดช่องให้สามารถทำได้ภายใน 20 สัปดาห์)

3. ให้แพทย์ที่ช่วยทำแท้งให้หญิงไม่มีความผิด ภายใต้เงื่อนไขบางประการ เช่น หากหญิงตั้งครรภ์ต่อไปเสี่ยงจะได้รับอันตรายต่อสุขภาพทางกายหรือจิตใจ หรือหากทารกคลอดออกมาจะมีความผิดปกติถึงขนาดทุพพลภาพอย่างร้ายแรง หรือหากการตั้งครรภ์ของหญิงเกิดจากการกระทำผิดเกี่ยวกับเพศ เช่น ถูกข่มขืน ฯลฯ (แก้ไข ป.อาญา มาตรา 305 จากเดิมที่ไม่ได้กำหนดกรณีทารกคลอดออกมาจะมีความเสี่ยงที่จะทุพพลภาพอย่างร้ายแรง)

 

หลังจากนี้ จะเสนอร่าง พ.ร.บ.เพื่อลงนาม และประกาศใช้เป็นกฎหมายต่อไป โดยจะมีผลบังคับใช้ในวันถัดจากวันที่ประกาศในราชกิจจานุเบกษา

จากการแก้ไขประมวลกฎหมายอาญามาตราดังกล่าว นับเป็นการเปิดช่องให้หญิงที่ตั้งครรภ์สามารถทำแท้งได้อันเนื่องมาจากคำวินิจฉัยของศาลรัฐธรรมนูญ ที่เห็นว่าบทบัญญัติดังกล่าวเป็นการขัดต่อสิทธิและเสรีภาพของตัวหญิงที่ตั้งครรภ์ ที่หญิงมีสิทธิที่จะตัดสินใจเกี่ยวกับเนื้อตัวร่างกายของหญิงเอง แต่กฎหมายที่แก้ไขดังกล่าวเป็นกำหนดให้ทำแท้งแบบมีเงื่อนไข กฎหมายยังคงกำหนดความผิดให้ผู้หญิงที่ทำแท้งยังคงมีความผิดอยู่ เหตุผลคือต้องการที่จะให้หญิงเข้าสู่ระบบบริการทางแพทย์ที่ปลอดภัยต่อตัวหญิงเอง

 

การต่อสู้ของภาคประชาชนที่ต่อสู้เรื่องสิทธิของหญิงที่ทำแท้งเล็งเห็นว่า ต้องการที่ให้ยกเลิกการกำหนดความผิดของหญิงที่ต้องการทำแท้ง เพื่อให้ผู้หญิงได้มีสิทธิที่จะตัดสินใจในร่างกาย โดยการคำนึงถึงหลักสิทธิมนุษยชนและศักดิ์ศรีความเป็นมนุษย์

ท้ายที่สุดแล้ว การที่กฎหมายฉบับนี้ผ่าน จะเป็นการเปลี่ยนความรับรู้ของสังคมครั้งยิ่งใหญ่ เพื่อให้คนทั่วไปมีความเข้าใจเรื่องสิทธิของผู้หญิงมากขึ้น และเป็นหน้าที่ของรัฐฯ ที่จะต้องประชาสัมพันธ์ สร้างความรู้ความเข้าใจที่ถูกต้องแก่คนในสังคม และจัดสรรงบประมาณ สร้างระบบการรับบริการที่สอดคล้องกับกฎหมายนี้ เพื่อให้หญิงสามารถเข้าถึงบริการทางแพทย์ที่ปลอดภัย รวมถึงการใช้สวัสดิการของรัฐในการเข้ารับบริการด้วย

ข่าวที่เกี่ยวข้อง