รีเซต

"โลกร้อน" เมืองขยาย เพิ่มเสี่ยงงูเข้าใกล้คนเมืองหลวงปีละ "4 หมื่นตัว"

"โลกร้อน" เมืองขยาย เพิ่มเสี่ยงงูเข้าใกล้คนเมืองหลวงปีละ "4 หมื่นตัว"
TNN ช่อง16
28 มิถุนายน 2567 ( 12:33 )
28
"โลกร้อน" เมืองขยาย เพิ่มเสี่ยงงูเข้าใกล้คนเมืองหลวงปีละ "4 หมื่นตัว"

ฝนที่โปรยปรายลงมาอย่างต่อเนื่องในช่วงนี้ สร้างทั้งความชุ่มชื้น และ ยังสร้างเสียงพิเศษที่ปรากฏเฉพาะช่วงฝนตกเท่านั้น เสียงที่ว่านั้นก็คือ เสียงกบ เสียงเขียด ที่พากันออกมาร้องระงมเมื่อสายฝนร่วงหล่นลงมาจากฟากฟ้า ทว่าความชื้น และ เสียงร้องเหล่านี้ คือ ตัวการสำคัญที่ดึงดูดเพชฆาตจอมเลื้อยให้ออกมาจากที่ซ่อนของมัน 


เมื่อเข้าสู่ช่วงฤดูฝนเจ้าหน้าที่กู้ภัยทุกจุดต้องเตรียมพร้อมมากขึ้น เพื่อรับมือการรับแจ้งเหตุจับงูตามบ้านคนที่มักพบถี่ขึ้นกว่าฤดูกาลอื่น


"เมื่อไหร่ที่ฝนตกงูจะออกมามากขึ้น และ มักเข้าไปปรากฏตัวตามบ้านเรือนของคนมากขึ้น เพราะในเขตเมืองอย่างกรุงเทพฯ เมื่อฝนตกน้ำมักจะเข้าไปท่วมตามท่อระบายน้ำ หรือ ตามโพรงซึ่งเป็นที่อยู่ของงู ขณะเดียวกันอากาศที่เย็นลงยังส่งผลให้สัตว์เลือดเย็นอย่างงูต้องหาที่อุ่นๆ เพื่อช่วยในการปรับอุณหภูมิร่างกาย ดังนั้นบ้านคนโดยเฉพาะจุดที่มันสามารถซุกตัวได้ เช่น ในตู้รองเท้า หรือ แม้แต่ที่นอน และ ผ้าห่มจึงมักเป็นจุดที่เจองูในบ้าน " จ.ส.ต.ภิญโญ พุกภิญโญ เจ้าหน้าที่ป้องกันและบรรเทาสาธารณภัยชำนาญการ ในฐานะผู้เชี่ยวชาญการจับงู ของ กทม. เล่าให้ TNN ฟังถึงพฤติกรรมของงูในเขตเมือง


เมื่อตรวจสอบสถิติการแจ้งจับงูในพื้นที่ กทม. พบว่า

ปี 2564  มีการแจ้งให้เจ้าหน้าที่เข้าจับงู 40,020 ครั้ง 

ปี  2565 มีการแจ้งให้เจ้าหน้าที่เข้าจับงู 43,330 ครั้ง 

ปี  2566 มีการแจ้งให้เจ้าหน้าที่เข้าจับงู 38,320 ครั้ง 


นอกจากนี้ยังพบว่าสถิติการแจ้งจับงูยังมีตัวเลขพุ่งสูงขึ้นในช่วงฤดูฝนอย่างเห็นได้ชัด โดยจะมีการแจ้งจับงูเพิ่มขึ้นมากกว่าปกติ 1,000 - 2,000 ครั้ง ต่อเดือน


โดยสถิติของงูที่พบ และ ถูกจับมากที่สุด คือ งูเหลือม รองลงมา คือ งูเห่า  


ขณะที่ข้อมูลของ สปสช.พบว่า ในปี 2566 มีผู้ป่วยเข้ารับการรักษาพยาบาลจากการถูกงูพิษและสัตว์มีพิษกัด ประมาณ 12,000 คน ส่งผลกระทบต่อการดำรงชีวิตของคนในครอบครัว จึงทำให้กระทรวงสาธารณสุขเร่งเตรียมการรับมือกับผู้ป่วยถูกงูกัดมากเป็นพิเศษในฤดูฝน


แต่ดูเหมือนว่าความเสี่ยงของการถูกงูกัดในยุคที่โลกร้อน อากาศแปรปรวนจะไม่เฉพาะเจาะจงแต่เพียงฤดูฝนเท่านั้น เมื่อผลวิจัยล่าสุดเมื่อปี 2566 พบว่าปัญหาโลกร้อน และ การขยายตัวของเมืองที่เพิ่มขึ้น 


ส่งผลให้คนต้องเผชิญหน้ากับงูบ่อยขึ้น และ เสี่ยงถูกงูกัดเพิ่มถึง 6%

 

งานวิจัยจากมหาวิทยาลัย Emory ประเทศสหรัฐฯ โดยผู้ช่วยศาสตราจารย์  Noah Scovronick ได้ศึกษาข้อมูลผู้ป่วยฉุก เฉินทั้งหมดที่รายงานโดยสมาคมโรงพยาบาลแห่งรัฐจอร์เจีย ตั้งแต่ปี 2014 ถึง 2020 ซึ่งในช่วงเวลานั้นมีผู้ป่วยเข้ารับการรักษาในโรงพยาบาลมากกว่า 5,000 คน เนื่องจากถูกงูกัด 

นักวิจัยยังได้นำข้อมูลนั้นไปเปรียบเทียบกับอุณหภูมิในวันอื่นๆ ภายในเดือนเดียวกันและวันเดียวกันของสัปดาห์ เพื่อช่วยวิเคราะห์ความแปรปรวนของกิจกรรมของมนุษย์ด้วย


"ความเสี่ยงที่เพิ่มขึ้น 6% ต่ออุณหภูมิที่สูงขึ้น 1 องศาเซลเซียส เป็นผลกระทบที่รุนแรง และแน่นอนว่าสูงกว่าผลลัพธ์ด้านสุขภาพอื่นๆ ที่มักเชื่อมโยงกับความร้อน" Dr. Noah Scovronick ผู้ช่วยศาสตราจารย์ด้านสุขภาพสิ่งแวดล้อม และหัวหน้าผู้เขียนงานวิจัย 


องค์การอนามัยโลกคาดการณ์ว่าทุกปีจะมีรายงานงูกัดจำนวน 5.4 ล้านครั้งต่อปี ซึ่งครึ่งนึงเป็นงูพิษ และในจำนวนนั้นก็มีผู้เสียชีวิตประมาณ 138,000 คน ทีมวิจัยประเมินว่าตัวเลขเหล่านี้จะเพิ่มขึ้นเพราะอากาศที่ร้อนขึ้น


นายมนตรี สุมณฑา นักวิชาการประมงชำนาญการ กรมประมง ในฐานะผู้เชี่ยวชาญเรื่องงู มองว่าการปรากฏตัวของงูที่เพิ่มขึ้น ไม่อาจชี้ชัดได้ว่าเกิดจากอากาศที่ร้อนมากขึ้น แต่มีความเป็นไปได้สูงกว่าในเรื่องของการขยายตัวของเขตเมือง ที่ทำให้มนุษย์เริ่มเข้าไปรุกรานที่อยู่อาศัยของงูตามธรรมชาติ เช่น คนอาจไปตั้งบ้าน หรือ ที่อยู่อาศัยขวางระหว่างที่อยู่ของงู กับ แหล่งน้ำ ซึ่งเป็นจุดที่งูชอบออกล่าเหยื่อ


"การที่สังคมเข้าใจว่าคนกับงูเผชิญหน้ากันบ่อยขึ้น ส่วนหนึ่งอาจเป็นเรื่องของเทคโนโลยีที่สะดวกมากขึ้น ทำให้คนสามารถถ่ายรูป ถ่ายคลิป โพสต์ลงสื่อโซเชียล ซึ่งทำให้การรับรู้ของคนเข้าใจว่าปัจจุบันคนเจองูบุกเข้าบ้านบ่อยขึ้น เช่นเดียวกับภาพจำของงูมักถูกตรีตราให้เป็นผู้ร้าย เพราะเป็นสัตว์ที่คนหวาดกลัว แต่จริงๆแล้วงูเป็นสัตว์ที่กลัวคนจะไม่โจมตีคนก่อน เพราะเมื่อเผชิญหน้ากันมันมักเลือกที่จะซ่อน หรือ หนีมากกว่า ยกเว้นอาจจะเข้าไปใกล้ ไปทำให้มันตกใจ หรือ ทำให้มันกลัว ก็จะทำให้งูกัด หรือ โจมตีคนได้ " นายมนตรี กล่าว


ส่วนมือปราบอสรพิษแห่งเมืองหลวง จ.ส.ต.ภิญโญ กลับมองว่าเมื่อเกิดปรากฎการณ์โลกร้อน กลับทำให้งูออกมาน้อยลงเสียด้วยซ้ำ เช่นในปี 2566 ที่เกิดฝนทิ้งช่วง จากปรากฏการณ์ "เอลนีโญ" ก็พบว่าสถิติการแจ้งจับงูในภาพรวม และ ในฤดูฝนน้อยลงกว่าปกติ เช่นเดียวกับในปีนี้ ( 2567 ) ที่แม้เข้าสู่ฤดูฝนแต่ฝนยังตกไม่หนัก และ ถี่มากนัก ทำให้กู้ภัยในพื้นที่กรุงเทพฯยังไม่ได้รับแจ้งจากประชาชนให้เข้าจับงูมากเท่ากับปีก่อนๆ 


จ.ส.ต.ภิญโญ ยอมรับว่าไม่สามารถรู้ได้เลยว่าในเขตกรุงเทพมีอยู่งูจำนวนกี่ตัวกันแน่ จะสังเกตได้เมื่อเข้าไปจับเมื่อมันปรากฎตัวออกมา หรือ เข้าบ้านคนเท่านั้น แต่เท่าที่สังเกตเห็น คือ งูเหลือมที่เราเข้าจับมีขนาดตัวที่เล็กลง เดิมเราเคยจับได้ความยาวที่ 4 เมตร ปัจจุบันเจอแต่งูเหลือที่ความยาว 1 เมตรเท่านั้น

 

"งูเหลือม ถือเป็นสัตว์นักล่าที่อยู่บนสุดของห่วงโซ่อาหารในเขตกรุงเทพฯ ซึ่งการเข้าจับปีละหลายพันตัวก่อนนำไปปล่อยนอกเขต กทม. อาจทำให้จำนวนมันลดน้อยลง ซึ่งแน่นอนว่าจะส่งผลต่อสมดุลของห่วงโซ่อาหาร โดยเฉพาะจำนวนประชากรของตัวเงินตัวทอง หนู และ นกพิราบ ที่จะเพิ่มมากขึ้นกลายเป็นอีกหนึ่งปัญหาเข้ามาแทนปัญหางูเข้าบ้าน หากผู้ล่าอย่างงูเหลือมถูกลดจำนวนลง " จ.ส.ต.ภิญโญ กล่าว 


สุดท้ายปัญหาระหว่างงู กับ คน ก็ไม่ต่างกับปัญหาสังคมในหลายๆเรื่อง เพราะงูหากมีมากเกินไปก็ไม่ดี แต่ถ้าน้อยเกินไปก็มีผลเสีย  แต่ที่แน่ๆหากเมื่อไหร่คุณต้องเผชิญหน้ากับงูใช้หลักง่ายๆ อย่าตกใจ อย่าเข้าใกล้ พยามยามสังเกตว่ามันอยู่บริเวณไหน ก่อนจะถ่ายรูป และ รีบแจ้งให้เจ้าหน้าที่ หรือ มือโปร มาจัดการ คือ ทางออกที่ดีที่สุด 





ข่าวที่เกี่ยวข้อง