ใช้ยังไง “ดิจิทัล วอลเล็ต” “ซูเปอร์แอป” ตอบโจทย์สังคมยุคใหม่
“ยังตั้งเป้า 1 ก.พ.2567 แจกเงินดิจิทัล 10,000 บาท แต่หากไม่ทันเพราะมีข้อจำกัด ก็พร้อมบอกนายกรัฐมนตรี เพราะไม่สามารถจะแลกความรวดเร็วกับเรื่องความปลอดภัยได้ ต้องมีการทดสอบระบบ “ซูเปอร์แอป” เพื่อความเสถียร การป้องกันการแฮกข้อมูล ซึ่งหากจะเลื่อนโครงการไปก็เพราะปัญหาตรงนี้ ไม่เกี่ยวกับแหล่งที่มาของเงิน”
เป็นคำชี้แจงล่าสุดจากนาย จุลพันธ์ อมรวิวัฒน์ รมช.คลัง ในฐานะปธ.คณะอนุกรรมการขับเคลื่อนโครงการเติมเงิน 10,000 บาทผ่านดิจิทัลวอลเล็ต ในวันนี้(19 ต.ค.) และได้เลื่อนการประชุมคณะอนุกรรมการฯ ไปเป็น 24 ต.ค.นี้แทน
“โครงการนี้จะไม่ได้ดูเรื่องความรวยหรือจน เพราะเป็นโครงการกระตุ้นเศรษฐกิจ ไม่มีผลประโยชน์แอบแฝง เป็นโครงการที่โปร่งใส เม็ดเงินทุกบาทมีประชาชนรองรับผ่านเลขบัตรประชาชน ไม่มีทางที่เม็ดเงินจะรั่วไหลไปผ่านกระเป๋าคนอื่น และข้อมูลพื้นที่รองรับในระบบ “บล็อกเชน”มั่นใจได้มากกว่าระบบอื่นเพื่อติดตามตรวจสอบความผิดพลาดหรือการทุจริต”
ส่วนสาเหตุที่ไม่ใช้ “แอปฯเป๋าตัง” ที่มีอยู่แล้วแต่พัฒนา “ซูเปอร์แอป”มาแทนนั้น เพราะ “ดิจิทัลวอลเล็ต”เป็นการเติมเงิน 10,000 บาทเข้าไปในระบบ มีเงื่อนไขในเรื่องของระยะทางและห้ามใช้ในเรื่องของอบายมุข การออม การใช้หนี้ ซึ่งเงื่อนไขเหล่านี้ จะเป็นกลไกใหม่ของรัฐบาลในการผลักดันเม็ดเงินลงไประบบกระตุ้นเศรษฐกิจทั้ง SME การท่องเที่ยว เพื่อประโยชน์ในระยะยาว สมาคมธนาคารไทยจะไปพิจารณในเรื่องของผู้ทำระบบที่จะเติมเงิน เป็นลักษณะ e-Money มีเงื่อนไขผ่านทางกระเป๋าเงิน ที่สามารถต่อยอดโครงการอื่นของรัฐบาลในอนาคต เพื่อวางโครงสร้างพื้นฐานเศรษฐกิจดิจิทัล
ส่วนรัฐบาลและพรรคเพื่อไทยยืนยันว่า นโยบาย “ดิจิทัลวอลเล็ต”ส่งผลดีทั้งต่อเศรษฐกิจในท้องถิ่นและเศรษฐกิจภาพรวมของประเทศ พร้อมรับฟังความคิดเห็นจากทุกฝ่ายและพร้อมปรับปรุงให้เหมาะสมที่สุด จะมีการพัฒนาระบบแพลตฟอร์มรองรับธุรกรรมเงินดิจิทัลภาครัฐ หรือ ซูเปอร์แอปพลิเคชัน (Supper application)ที่เราอาจจะคุ้นเคยหลากหลายแอป เช่น LINE ,Shopee, Robinhood สามารถตอบโจทย์ทั้งการทำธุรกรรมออนไลน์ การสั่งอาหาร ส่งพัสดุ จองโรงแรมที่พัก ฯลฯ โดยให้ธนาคารในกำกับของรัฐเป็นผู้ดำเนินการพัฒนาซูเปอร์แอป ไม่มีการจัดซื้อจัดจ้างหรือให้ภาคเอกชนเข้ามาดำเนินการ เพื่อรองรับการแจกเงินดิจิทัลและการใช้จ่ายผ่านระบบบล็อกเชน(Block chain ) ซึ่งจะมีความปลอดภัยและโปร่งใส
สำหรับ “เงื่อนไข”การใช้จ่ายเงินดิจิทัลวอลเล็ต ก่อนหน้านี้มีข้อมูลออกมาว่า จะขยายขอบเขตรัศมีการใช้จ่ายจาก 4 กม. เป็นการใช้จ่ายภายในเขตอำเภอ หรือ ตำบลตามที่อยู่ในภูมิลำเนา ทั้งประชาชนที่เป็นผู้จ่ายเงินซื้อสินค้า และร้านค้าที่เข้าร่วมโครงการ เนื่องจากมีรหัสไปรษณีย์ตรวจสอบได้ กลุ่มเป้าหมายอายุ 16 ปีขึ้นไป ประมาณ 5.48 ล้านคน จึงต้องจับตาว่าในการประชุม 24 ต.ค.นี้จะได้ข้อสรุปเกี่ยวกับหลักเกณฑ์นี้ออกมาหรือไม่ หรือจะมีการปรับเปลี่ยน และจะมีการรับฟังเสียงสะท้อนเพิ่มเติมจากหลายฝ่ายที่เกี่ยวข้องอีกหรือไม่ ก่อนเสนอต่อคณะกรรมการชุดใหญ่ ที่มีนายกมนตรีเป็นประธาน เพื่อที่จะเดินหน้าสู่นโยบายดิจิทัลวอลเล็ต ตามที่รัฐบาลได้เคยประกาศไว้ ซึ่งหากจะช้ากว่าที่ตั้งเป้าไว้แต่ท้ายที่สุดแล้วประชาชนและประเทศได้ประโยชน์เต็มเม็ดเต็มหน่วย ช่วยฟื้นเศรษฐกิจ ก็ถือว่าคุ้มค่ากับการรอคอย
ขอบคุณข้อมูล
X : Srettha Thavisin
Facebook : พรรคเพื่อไทย
Facebook : กระทรวงการคลัง : Ministry of Finance
ทีมข่าวการเมือง TNN16