สงกรานต์ไม่คึกคัก ใช้จ่ายเหลือ1.1แสนล้าน สำรวจคนไทยอ้างต้องประหยัดและเชื่อมั่นฉีดวัคซีนต้านโควิดยังต่ำ
ที่มหาวิทยาลัยหอการค้าไทย นายธนวรรธน์ พลวิชัย อธิการบดีมหาวิทยาลัยหอการค้าไทย และประธานที่ปรึกษาศูนย์พยากรณ์เศรษฐกิจและธุรกิจ มหาวิทยาลัยหอการค้าไทย เปิดเผยผลสำรวจการใช้จ่ายของผู้บริโภคในช่วงเทศกาลสงกรานต์ จำนวน 1,256 คน ระหว่างวันที่ 22-29 มีนาคม 2564 พบว่า ประชาชน 43.3 % ระบุการใช้จ่ายไม่เปลี่ยนแปลง และ 34.9% ระบุใช้จ่ายลดลง โดยให้เหตุผลว่าต้องประหยัด สินค้าและบริการแพงขึ้น และวิตกการแพร่ระบาดของโควิด19 แต่ 64.7% ระบุวางแผนไปเที่ยวในช่วงสงกรานต์ เฉลี่ย 4-5 วันถือว่าเป็นจำนวนวันท่องเที่ยวช่วงสงกรานต์มากสุดในรอบ 10 ปีจากปกติเฉลี่ย 3 วัน และเน้นการเดินทางไปเที่ยวในจังหวัดภาคใต้เพิ่มเท่าตัวผลจากค่าใช้จ่ายน้อยลงทั้งค่าห้องพักและการเดินทาง เฉลี่ยค่าใช้จ่าย 5.1 พันบาทต่อคน ส่วนแผนใช้จ่ายอื่นๆส่วนใหญ่ลดลงยกเว้นการซื้อสุราที่ระบะว่าจะซื้อเพิ่ม โดยมูลค่าใช้จ่ายอันดับแรกยังเป็นทำบุญ ตามด้วยทำอาหารทานที่บ้าน ซื้อของไปรดน้ำดำหัวผู้ใหญ่ โดยปีนี้คนใช้เงินออมสูงขึ้นกว่าทุกปี และส่วนใหญ่ระบุใช้เงินจากมาตรการรัฐ จึงประเมินว่าสงกรานต์ปีนี้ จะมีเงินใช้จ่ายสะพัดประมาณ 1.13 แสนล้านบาท ลดลง 16.9% เทียบปี 2562 แต่เพิ่ม 63.6% จากปี 2563 ซึ่งเป็นปีที่ไม่วันหยุดสงกรานต์และรัฐบาลใช้มาตรการล็อกดาวน์ จึงถือเป็นการติดลบในรอบ 9 ปีนับจากปี 2553 ที่ติดลบ 4.67%
” 99% ของผู้สอบระบุว่าบรรยากาศสงกรานต์ปีนี้ไม่ได้สนุกสนานเพิ่มขึ้นกว่าปีก่อน โดย 60.8% ระบุวิตกการแพร่ระบาดของโควิด-19 และ54.3 % วิตกเรื่องความปลอดภัยในการดินทาง ประกอบกับคนประหยัดการใช้จ่าย มองเศรษฐกิจยังไม่ฟื้นตัว และการไม่มีกิจกรรมสงกรานต์ ทำให้เงินใช้จ่ายสงกรานต์เดิมคาดไว้ 1.4 แสนล้านบาท หายไป 2-3 หมื่นล้านบาท สะท้อนให้ว่าไม่เห็นสัญญาณของการฟื้นตัวของเศรษฐกิจ และประชาชนได้เปลี่ยนมุมมองจากสำรวจเดิมเดือนมกราคม คาดว่าเศรษฐกิจไทยจะโตเกิน 3-3.5% ลดลงเหลือต่ำกว่า 2.5% สะท้อนว่าประชาชนมองว่าเศรษฐกิจจะซึมยาวต่อถึงปีหน้า จึงทำให้บรรยากาศสงกรานต์ปีนี้ไม่คึกคักอย่างที่คาดไว้เดิมว่าจะดีใกล้เคียงปี 2562 ” นายธนวรรธน์ กล่าว
นายธนวรรธน์ กล่าวต่อว่า เมื่อได้สอบถามถึงการแพร่ระบาดของโควิด-19 พบว่า ประชาชนกลับมาวิตกมากขึ้นต่อเศรษฐกิจและความเป็นอยู่ หลังจากเกิดการแพร่ระบาดรอบใหม่ ปลายปี 2563 จนถึงขณะนี้ โดยวิตกมากสุดกับปัญหาเศรษฐกิจโดยรวม ตามด้วยสุขภาพ การใช้ชีวิตปกติ มาตรการห้ามออกนอกพื้นที่ และเกิดึความเครียดจากการถูกเลิกจ้าง นอกจาก 59.4% ระบุว่ามีความเชื่้อมั่นระดับปานกลางถึงน้อยมากในเรื่องการป้องกันโควิดระบาดหลังฉีดวัคซีน อีก 15.5% ระบุไม่มีความเชื่อมั่น เพียง 25.1% ระบุว่ามีความเชื่อมั่นมาก โดยประชาชนยังต้องการให้รัฐบาล เร่งกระตุ้นเศรษฐกิจและสร้างรายได้ ลดค่าครองชีพ แก้ปัญหาสภาพคล่องการเงิน
” ประชาชนและเอกชนต้องการมากสุดตอนนี้ คือ ความเชื่อมั่นต่อการเร่งฉีดวัคซีนให้ทั่วถึงและมากสุดในเดือนเมษายน-พฤษภาคม เพื่อให้สามารถเปิดรับต่างชาติได้ในไตรมาส3 ปีนี้ และติดตามผลสำเร็จของการฉีดวัคซีนในภูเก็ต เพราะหากยังไม่สามารถสร้างความเชื่อมั่นเรื่องลดระบาดโควิดและการฉีดวัคซีได้ทั่วถึง ก็จะกระทบต่อการใช้จ่าย การเดินทาง การท่องเที่ยว และการลงทุนรายย่อย ซึ่งประชาชนได้ระบุว่าคาดว่าจะใช้จ่ายได้ตามปกติอีกครั้งก็อีก 6-12 เดือนข้างหน้า และสามารถซื้อสินค้าคงทนอีกครั้งหลังปี 2565 ”
นายธนวรรธน์ กล่าวว่า แม้รัฐจะมีการใช้งบประมาณผ่านมาตรการเยียวยา เช่น เราชนะ คนละครึ่ง เที่ยวด้วยกัน ซึ่งก็ใช้จ่ายแล้ว3-3.5 แสนล้านบาท แต่ก็เป็นเพียงการพยุง เพราะเศรษฐกิจไทยยังพึ่งพาภาคท่องเที่ยวเดือนละ 2-2.5 แสนล้านบาท และหากยังไม่สามารถสร้างความมั่นใจเปิดประเทศ ใช้งบประมาณเยียวยาต่อเนื่องในเฟส3-4 ก็จะเป็นทั้งการเพิ่มภาระงบประมาณและรายได้เข้ารัฐไม่มีเพียงพอ ก่อหนี้สาธารณะเพิ่มสูงขึ้นอีก ดังนั้น จึงสนับสนุนการเลื่อนปรับภาษีมูลค่าเพิ่ม(แวต)ไปอีก 2 ปี หรือเลยปี 2566 เพราะปี 2565 ภาษีที่ดินจะปรับมาเป็นอัตราเดิม หากมีการปรับแวตอีกจะเป็นแรงกดดันต่อการขยายตัวทางเศรษฐกิจ และการฟื้นตัวของเศรษฐกิจอีกครั้ง