ผลวิจัยชี้โควิด-19 ทุกสายพันธุ์ ตั้งแต่อดีตจนถึงปัจจุบันทำลายเซลล์ในสมองได้
"หมอธีระ" เปิดข้อมูลผลวิจัยชี้โควิด-19 ทุกสายพันธุ์ ตั้งแต่อดีตจนถึงปัจจุบันทำลายเซลล์ในสมองได้
รศ.นพ.ธีระ วรธนารัตน์ คณะแพทยศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย โพสต์ผ่านเฟซบุ๊ก Thira Woratanarat ระบุถึงคำแนะนำในการป้องกัน Long COVIDว่า
1. คำแนะนำในการป้องกัน Long COVID
ปัจจุบัน ทั่วโลกมีการออกคำแนะนำให้ประชาชนได้ตระหนักถึงความสำคัญในการป้องกันภาวะผิดปกติระยะยาวหลังติดเชื้อโรคโควิด-19 หรือ Long COVID เนื่องจากมีผู้ป่วยจำนวนมากที่ประสบปัญหานี้ และส่งผลกระทบต่อการดำเนินชีวิต บั่นทอนคุณภาพชีวิต และสมรรถนะในการทำงาน เรียน และอื่นๆ รวมถึงเพิ่มภาระค่าใช้จ่ายอีกด้วย
องค์การอนามัยโลก (WHO) ย้ำเตือนอย่างสม่ำเสมอถึงเรื่องนี้ โดยเน้นให้ทราบว่า แม้จะยุติการประกาศเรื่องภาวะฉุกเฉินทางสาธารณสุขไปแล้ว แต่การระบาดของโควิด-19 ยังมีต่อเนื่อง การป้องกันภาวะ Long COVID ที่ดีที่สุดคือ การป้องกันตัวไม่ให้ติดเชื้อ ได้แก่ พฤติกรรมป้องกันตัวโดยการเลี่ยงที่แออัด ปรับปรุงการระบายอากาศในสถานที่ต่างๆ ให้ดีขึ้นกว่าในอดีต การใส่หน้ากากป้องกันตัว รักษาความสะอาด และอีกประการที่สำคัญคือ การได้รับวัคซีนให้ครบถ้วนตามกำหนด
นอกจาก WHO แล้ว รัฐบาลต่างๆ ก็ประกาศคำแนะนำเช่นกัน อาทิ นิวซีแลนด์ สหรัฐอเมริกา สหราชอาณาจักร ฯลฯ
...ด้วยความรู้จนถึงปัจจุบัน ได้เคยนำเสนอข้อมูลวิชาการแพทย์ที่พิสูจน์ให้เราเห็นว่ามีวิธีลดความเสี่ยงที่จะเกิด Long COVID ได้แก่ การรับวัคซีน การได้ยาต้านไวรัส Paxlovid หรือ Molnupiravir หรือ Ensitrelvir รวมถึงยา Metformin
การฉีดวัคซีนครบเข็มกระตุ้น จะช่วยลดเสี่ยง Long COVID ได้ 43%
ยา Metformin ช่วยลดได้ 42%
ยา Ensitrelvir ช่วยลดได้ราว 30-40%
ยา Paxlovid ช่วยลดได้ 26%
และยา Molnupiravir ช่วยลดได้ 14%
ย้ำดังๆ ว่า "กัญชา กัญชง อาหารเสริม สมุนไพร ฟ้าทะลายโจร รวมถึงสิ่งเสพติด ยาผีบอกต่างๆ ยังไม่มีข้อมูลทางการแพทย์ที่เชื่อถือได้ และไม่ควรหลงไปซื้อหาหรือนำมาใช้เพื่อวัตถุประสงค์ต่อ Long COVID ดังกล่าว"
2. ไวรัสโรคโควิด-19 ทุกสายพันธุ์นั้นสามารถทำลายเซลล์ในสมองได้
ทีมงานจาก Francis Crick Institute สหราชอาณาจักร ได้เผยแพร่ผลการศึกษาในวารสารทางการแพทย์ Journal of Neuroinflammation เมื่อวันที่ 3 สิงหาคมที่ผ่านมา
โดยทำการวิจัยทางห้องปฏิบัติการเพื่อพิสูจน์เปรียบเทียบไวรัสโรคโควิด-19 สายพันธุ์ต่างๆ ตั้งแต่อดีตจนถึงปัจจุบันว่าจะสามารถติดเชื้อในเซลล์สมองชนิดต่างๆ ที่นำมาทดสอบ ได้แก่ human pericytes, foetal astrocytes, endothelial cells และ microglial cell และส่งผลต่อเซลล์สมองนั้นหรือไม่
ผลการศึกษาพบว่า ทุกสายพันธุ์สามารถติดเชื้อเข้าสู่เซลล์สมองได้ และทำให้เกิดความผิดปกติต่อเซลล์สมอง
โดย สายพันธุ์ดั้งเดิมนั้นติดเชื้อต่อเซลล์สมองหลายชนิดยกเว้น Astrocytes,
ในขณะที่อัลฟ่าและเบต้านั้นจะส่งผลต่อ pericytes ส่วน Omicron นั้นจะส่งผลต่อ endothelial cells และ pericytes ซึ่งเป็นเซลล์สำคัญที่บุอยู่บริเวณผิวหลอดเลือดสมอง
ทุกสายพันธุ์ยกเว้นเบต้า ส่งผลให้เกิดการสะสมของสารเคมีกลูตาเมตในบริเวณภายนอกเซลล์ ซึ่งทำให้เกิดการทำงานผิดปกติของการสื่อกระแสประสาทในสมอง
กลไกพยาธิสภาพที่ค้นพบจากการศึกษานี้ จึงเป็นข้อมูลสำคัญหนึ่งที่สามารถนำมาใช้อธิบายปัญหาอาการผิดปกติในระบบประสาทที่เกิดขึ้นภายหลังจากที่มีการติดเชื้อโรคโควิด-19 ในผู้ป่วยได้
...ใช้ชีวิตอย่างมีสติ ไม่ประมาท ป้องกันตัวเสมอ
ป้องกันตัวไม่ให้ติดเชื้อ หรือไม่ติดซ้ำ ย่อมดีที่สุด
การใส่หน้ากากอย่างถูกต้อง จะช่วยลดความเสี่ยงลงไปได้มาก
อ้างอิง
1. International Guidance on Preventing Long Covid. John Snow Project. 7 August 2023.
2. How to Prevent Long COVID. WHO. 8 August 2023.
3. Differential effects of SARS-CoV-2 variants on central nervous system cells and blood–brain barrier functions. Journal of Neuroinflammation. 3 August 2023.
ข้อมูลจาก รศ.นพ.ธีระ วรธนารัตน์
ภาพจาก AFP