รีเซต

เปิดสูตรสำเร็จ เลี้ยงกุ้งก้ามกราม “โตเร็ว-ราคาดี”

เปิดสูตรสำเร็จ เลี้ยงกุ้งก้ามกราม “โตเร็ว-ราคาดี”
เทคโนโลยีชาวบ้าน
4 ตุลาคม 2564 ( 12:42 )
207
เปิดสูตรสำเร็จ เลี้ยงกุ้งก้ามกราม “โตเร็ว-ราคาดี”

คุณพนิดา ภูทองหล่อ ก็เป็นเกษตรกรรายหนึ่งของตำบลบัวบาน อำเภอยางตลาด ซึ่งยึดอาชีพเลี้ยงกุ้งมานานกว่า 10 ปีแล้ว โดยเลี้ยงกันมาตั้งแต่รุ่นพ่อรุ่นแม่ ซึ่งคุณพนิดามาสานอาชีพนี้ต่อ และยังได้รับเลือกเป็นเกษตรกรต้นแบบการเลี้ยงสัตว์น้ำ ปี 2561 โครงการ Smart Farmer จังหวัดกาฬสินธุ์ ของกรมประมง

 

คุณพนิดา ภูทองหล่อ

 

สานอาชีพต่อจากรุ่นพ่อรุ่นแม่

ตัวคุณพนิดาเองนั้น หลังจบ ม.6 ก็ไปทำงานในโรงงานที่กรุงเทพฯ กระทั่งพ่อแม่เสียชีวิตจึงกลับมาบ้านเกิด เริ่มเลี้ยงกุ้ง เมื่อปี 2545 ในพื้นที่ 9 ไร่ จำนวน 2 แปลง และเช่าพี่สาวทำนากุ้งอีก 5 ไร่ ซึ่งแต่ละปีคุณพนิดาสามารถเลี้ยงกุ้งได้ 2 รอบ รอบละ 5 เดือน หักลบค่าใช้จ่ายต่างๆ แล้ว รอบหนึ่งๆ มีกำไรหลายหมื่นบาท ทำให้มีชีวิตความเป็นอยู่ดีขึ้น พูดได้ว่าเข้าขั้นเศรษฐินีเลยก็ว่าได้

 

ในการเลี้ยงกุ้งเพื่อให้ได้ผลผลิตที่ดีและได้ราคานั้น คุณพนิดา แจกแจงว่า ต้องเริ่มจากการเตรียมบ่อให้ดี กรณีบ่อมีเลนมาก ให้ปาดเลนออกก่อน ต่อมาหว่านปูนขาว 80-100 กิโลกรัม ต่อไร่ ทั่วพื้นบ่อเพื่อปรับสภาพความเป็นกรด-ด่าง ตากบ่อประมาณ 1 สัปดาห์ ให้เปลี่ยนจากสีดำให้เป็นสีเทา เพื่อจะย่อยสลายขี้กุ้ง

 

จากนั้นปล่อยน้ำเข้าบ่อ พร้อมปล่อยลูกกุ้ง ขนาด 5-7 เซนติเมตร จำนวน 10,000-12,000 ตัว ต่อไร่ และหลังจากอนุบาลได้ 2 เดือน จะมีอัตราการรอด 50-60% ลูกกุ้ง 100,000 ตัว ซื้อมาในราคา 10,000-30,000 บาท

 

 

สำหรับการให้อาหารมี 3 เวลา เช้า เที่ยง และเย็น กรณีอาหารของกุ้งที่อยู่ในช่วงอนุบาล ใช้อาหาร ซีพี เบอร์ 41S (ผง) ผสมกับไข่แดงคั่ว หมักร่วมกับหัวอาหารนาน 10 นาที เสริมวิตามินรวม และสารชวนกิน ให้กินเป็นระยะเวลา 1 เดือน

 

ต่อมาเปลี่ยนเป็น เบอร์ 42S (เกล็ด) ให้ระยะเวลา 2 เดือน พร้อมกระจายกุ้งลงไปแต่ละบ่อ จากนั้นเปลี่ยนอาหารเป็น เบอร์ 43S (เม็ด) โดยให้แต่ละบ่อ ระยะเวลา 2 เดือน

 

ทั้งนี้ จะต้องตรวจสอบจำนวนลูกกุ้งทุกๆ 15 วัน เมื่อทางชลประทานปิดการจ่ายน้ำจากเขื่อนลำปาว ซึ่งจะอยู่ในช่วงเดือนเมษายน-พฤษภาคม และปิดอีกครั้งในเดือนพฤศจิกายน-ธันวาคม ช่วงนี้จะต้องเปิดน้ำบาดาลเข้ามาทดแทน และหากน้ำในบ่อมีลักษณะสีเขียวเข้ม ต้องรีบถ่ายน้ำออกบางส่วน เพื่อเติมน้ำใหม่เข้าไป พร้อมกันนั้นจะต้องกำจัดวัชพืชคันบ่อด้วย

 

นอกจากนี้ จะต้องเติมอากาศ หรือเพิ่มออกซิเจนเข้าไปในบ่อด้วย โดยการใช้รถไถต่อเข้ากับอุปกรณ์สูบน้ำ และใช้ปั๊มลง เวลาการให้อากาศมีหลายช่วงคือ 05.00-08.00 น. 13.00-15.00 น. และเวลา 18.00-22.00 น.

 

ขายดี ช่วงปีใหม่-สงกรานต์

คุณพนิดา เล่าว่า ปกติกุ้งจะขายดีในช่วงเทศกาลปีใหม่และสงกรานต์ จึงต้องวางแผนเลี้ยงเพื่อให้ผลผลิตออกมาทันในช่วงนั้นพอดี จะปล่อยลูกกุ้งประมาณปลายเดือนกรกฎาคม จำนวน 120,000 ตัว จากนั้นอีก 5 เดือน ก็จับขายได้ โดยจะได้กุ้งขนาด 20-30 ตัว ต่อกิโลกรัม อย่างไรก็ตาม การจะได้ผลผลิตมากน้อยแค่ไหน ขึ้นอยู่กับจำนวนลูกกุ้งที่ปล่อยเลี้ยงในบ่อด้วยว่าจะมีเปอร์เซ็นต์รอดมากน้อยเท่าไร

 

ลูกกุ้งที่ซื้อมาปล่อยเลี้ยงในบ่อ

 

ทั้งนี้ การจัดซื้อลูกกุ้งในแต่ละรอบก็มีความสำคัญต่อการเลี้ยงด้วย อย่างที่คุณพนิดาให้ข้อมูลว่า ปกติซื้อลูกกุ้งบริษัทใหญ่แห่งหนึ่ง แต่ระยะหลังเจอปัญหา เนื่องจากมีแต่ตัวเมียจำนวนมากกว่าตัวผู้ ซึ่งทำให้เลี้ยงยากกว่า เพราะเมื่อเลี้ยงไปแล้วตัวเมียจะมีขนาดเล็ก เลี้ยงโตช้ากว่าตัวผู้ และมีไข่ติดท้อง ซึ่งไข่พวกนี้กินไม่ได้ ขณะที่ตัวผู้จะตัวโตกว่าเกือบ 2 เท่า ด้วยเหตุนี้บางรอบคุณพนิดาจึงเปลี่ยนไปซื้อลูกกุ้งกับอีกบริษัทหนึ่ง ซึ่งขายราคาถูกกว่า อีกทั้งปัจจุบันมีหลายบริษัทที่ขายลูกกุ้ง แตกต่างจากสมัยก่อนที่มีบริษัทยักษ์ใหญ่เพียงรายเดียวที่ขายลูกกุ้ง

 

 

10 กว่าปีในการเลี้ยงกุ้งก้ามกราม คุณพนิดาบอกว่า เจอปัญหาทุกปี โดยเฉพาะในช่วงเดือนเมษายน เพราะทางเขื่อนลำปาวปิดน้ำขณะที่อากาศร้อน กุ้งจะมีปัญหาเรื่องน็อก และมีน้ำเสีย ทำให้กุ้งตาย จึงแก้ปัญหาด้วยการเจาะน้ำบาดาล และมีเครื่องตีน้ำที่ใช้เครื่องปั๊มลม ซึ่งพอพยุงให้ผ่านช่วงเวลายากลำบากนี้ไปได้ แต่ก็ไม่สามารถแก้ได้ 100%

 

นอกจากจะเจอปัญหากุ้งน็อกแล้ว เกษตรกรเลี้ยงกุ้งยังอาจจะเจอปัญหากุ้งเกิดโรคที่เรียกว่า กุ้งหางไหม้ และกุ้งหลังขาว เพราะเป็นโรคหลังขาว ซึ่งถ้าเป็นโรคพวกนี้แล้วกุ้งจะตาย แต่ถึงไม่ตายก็ขายไม่ได้ราคา

 

ปลูกตะไคร้คันบ่อเสริมรายได้

สำหรับบ่อเลี้ยงกุ้งของคุณพนิดานั้น พูดได้ว่าเจ้าตัวใช้ประโยชน์คุ้มจริงๆ เพราะใช่จะสร้างรายได้ก้อนโตจากการขายกุ้ง กิโลกรัมละ 250 บาท จากการที่คุณพนิดาดูแลเอาใจใส่อย่างดีแล้ว ในส่วนของคันบ่อ คุณพนิดายังปลูกต้นตะไคร้ไว้ขายด้วย ซึ่งนอกจากจะได้เงินในการขายตะไคร้ต้นแล้ว ต้นตะไคร้ดังกล่าวยังช่วยป้องกันไม่ให้คูบ่อพังทลายด้วย โดยจะปลูกช่วงหน้าฝนประมาณเดือนพฤษภาคม จำนวน 200 กอ  

 

ในการปลูกช่วงแรก คุณพนิดา บอกว่า ต้องรดน้ำ เพื่อให้รากขึ้น จากนั้นไม่ต้องรดน้ำ เพราะได้น้ำจากฝน ขณะที่น้ำในนากุ้งก็มีปุ๋ยมีแร่ธาตุอยู่แล้ว เมื่อเก็บผลผลิตได้จะมีพ่อค้าแม่ค้ามารับซื้อถึงที่ ในราคา 4-5 กอ 100 บาท ทำให้แต่ละปีมีรายได้เสริมจากการเลี้ยงกุ้งอีกหลายพันบาท

 

 

เรียกว่าเป็นการใช้พื้นที่ได้อย่างคุ้มค่า และยังนำเลนจากการทำความสะอาดบ่อมาใส่เป็นปุ๋ยด้วย ทำให้ตะไคร้ที่ปลูกอยู่ริมขอบบ่อกุ้งเจริญเติบโตดี ไม่ต้องบำรุงอะไรมาก

 

คุณพนิดา ให้คำแนะนำสำหรับผู้ที่สนใจจะเลี้ยงกุ้งก้ามกรามว่า ต้องเตรียมบ่อให้ดี และต้องศึกษาพันธุ์กุ้ง รวมทั้งต้องมีเงินลงทุนหลักแสน และมีพื้นที่อย่างน้อย 4-5 ไร่

เกษตรกรเลิกทำนา หันมาเลี้ยงกุ้ง

 

ด้าน คุณเสกสรร ดวงศรี หัวหน้ากลุ่มพัฒนาและส่งเสริมอาชีพการประมง สำนักงานประมงจังหวัดกาฬสินธุ์  ระบุว่า ในแต่ละปีจะมีเกษตรกรเลี้ยงกุ้งเพิ่มขึ้นทุกปี ซึ่งมีจำนวนไม่น้อยเปลี่ยนจากการทำนาข้าวมาเป็นนากุ้งแทน เพราะให้ค่าตอบแทนสูงกว่าถ้าเทียบกับการทำนาข้าว และไม่ต้องเสียค่าใช้จ่ายมากในการจ้างแรงงาน อีกทั้งเหนื่อยน้อยกว่า ที่สำคัญราคากุ้งไม่ผันผวนไม่แกว่งเหมือนราคาข้าว ซึ่งหลายปีมานี้ขายได้ กิโลกรัมละ 250 บาท ประมาณ 25-30 ตัว โดยไม่คัดแยกขนาด มีต้นทุนเฉลี่ยกิโลกรัมละ 150 บาท ทั้งนี้ กุ้งจะขายดีมากในช่วงเทศกาลปีใหม่และสงกรานต์

 

“สมัยก่อนเกษตรกรเลี้ยงกุ้งเจอปัญหามาก เพราะแต่ละบ่อเลี้ยงกันถึง 15,000-20,000 ตัว หนาแน่นมาก แต่ปัจจุบันลดจำนวนเหลือ 8,000-10,000 ตัว ต่อบ่อ และมีการแยกเลี้ยงในบ่ออนุบาลก่อน ทำให้ลดอัตราการตายและได้ผลผลิตดี” คุณเสกสรร กล่าวและว่า ปัญหาอีกอย่างของเกษตรกรเลี้ยงกุ้งคือ ทางชลประทานจะปิดน้ำจากเขื่อนลำปาวช่วงเดือนเมษายน-พฤษภาคม และช่วงเดือนพฤศจิกายน-ธันวาคม ทำให้กุ้งในบ่อของเกษตรกรบางรายเกิดอาการน็อก

 

 

คุณเสกสรร บอกด้วยว่า แต่ละปีมักมีจำนวนเกษตรกรมาลงทะเบียนเลี้ยงกุ้งกันเพิ่มขึ้น อย่างปี 2561 ก็เพิ่มจากปีที่แล้ว ประมาณ 100 ราย จากเหตุผลหลักๆ คือรายได้ดีกว่าทำนา ซึ่งสามารถคำนวณได้ว่าลงทุนไปเท่านี้ จะได้กำไรเท่าไร กรณีที่ไม่มีปัญหาเรื่องโรค ขณะที่ตอนนี้เกษตรกรเองก็ได้เรียนรู้ว่า อย่าโลภมาก อย่าเลี้ยงกุ้งจำนวนมากเกินไปในแต่ละบ่อ

 

อย่างไรก็ตาม คุณเสกสรร แจกแจงว่า แม้จะมีเกษตรกรเลี้ยงกุ้งเพิ่มขึ้น แต่ก็มีข้อจำกัดของการใช้น้ำ ซึ่งต้องอาศัยน้ำจากเขื่อนลำปาว ส่วนมากผู้ที่มาเลี้ยงกุ้งรายใหม่นี้มักเป็นเกษตรกรที่อยู่นอกเขตชลประทาน หมายถึงว่าคลองชลประทานไม่ได้ผ่าน แต่สามารถสูบน้ำจากเขื่อนลำปาวไปใช้ได้

 

ใครที่ไปกาฬสินธุ์แล้วไม่ได้กินกุ้งที่นี่ ถือว่ายังไม่ถึงกาฬสินธุ์ ขอแนะนำให้ไปลองลิ้มชิมรสกันดู ซึ่งมีทั้งกุ้งที่เลี้ยงในบ่อและกุ้งที่อยู่ในเขื่อนลำปาว แล้วจะรู้ว่ากุ้งเมืองนี้รสชาติดีไม่แพ้กุ้งก้ามกรามของจังหวัดอื่น

ยอดนิยมในตอนนี้

แท็กยอดนิยม

ข่าวที่เกี่ยวข้อง