ต่อยอด เจอ-แจก-จบ สู่ สแกน(หรือโทร)-แจก-จบ เพิ่มช่องทางรักษาโควิด 19
เจอ-แจก-จบ สู่ สแกน(หรือโทร)-แจก-จบ
นายแพทย์สมศักดิ์ อรรฆศิลป์ อธิบดีกรมการแพทย์ เปิดเผยว่า จากสถานการณ์ผู้ติดเชื้อรายใหม่ที่เพิ่มขึ้นในช่วงนี้ รัฐบาลโดยนายอนุทิน ชาญวีรกูล รองนายกรัฐมนตรีและรัฐมนตรีว่าการกระทรวงสาธารณสุข พร้อมด้วยดร.สาธิต ปิตุเตชะ รัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงสาธารณสุข มีความห่วงใยประชาชน จึงมอบหมายให้กรมการแพทย์ประสานงานการบริหารจัดการการรักษาร่วมกับกรุงเทพมหานครและหน่วยงานเครือข่ายต่าง ๆ ได้แก่ โรงพยาบาลภาคีเครือข่าย UHosNeT กรุงเทพมหานคร กลาโหม โรงพยาบาลเอกชน ภาคประชาสังคมและหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง ทั้งนี้ กรมการแพทย์ได้ต่อยอดระบบการดูแลจากเดิม เจอ-แจก-จบ สู่ สแกน(หรือโทร)-แจก-จบ ซึ่งเป็นการจัดทำ QR code หรือโทรศัพท์ติดต่อสถานพยาบาลสังกัดกรมการแพทย์สำหรับผู้ป่วยที่มีโทรศัพท์ เพื่อเพิ่มช่องทางให้ผู้ป่วยสามารถเข้าถึงการรักษาได้โดยไม่ต้องมาสถานพยาบาลในกลุ่มที่ไม่มีอาการหรืออาการไม่รุนแรง
การระบาดของโควิด 19 ในขณะนี้มีแนวโน้มจำนวนผู้ติดเชื้อเพิ่มสูงขึ้น ส่วนมากเป็นกลุ่มอาการสีเขียว การรักษาผู้ป่วยส่วนใหญ่จึงเป็นรูปแบบแยกกักตัวที่บ้าน (Out-patient with self Isolation : OPSI) จึงยังมีเตียงรองรับกลุ่มอาการหนัก สำหรับการรักษาผู้ป่วยโควิด 19 เป็นไปตามแนวทางเวชปฏิบัติ การวินิจฉัย ดูแลรักษา และป้องกันการติดเชื้อในโรงพยาบาล กรณีโรคติดเชื้อไวรัสโคโรนา 2019 (COVID-19) สำหรับแพทย์และบุคลากรสาธารณสุข ฉบับปรับปรุง ครั้งที่ 24 วันที่ 11 กรกฎาคม 2565 แบ่งเป็น 4 กลุ่ม
1.กลุ่มที่ไม่มีอาการหรือสบายดี ให้การรักษาแบบผู้ป่วยนอก โดยแยกกักตัวที่บ้าน (Out-patient with self Isolation)
2. ผู้ป่วยที่มีอาการไม่รุนแรง ไม่มีปอดอักเสบ ไม่มีปัจจัยเสี่ยงต่อการเป็นโรครุนแรง/โรคร่วมสำคัญและภาพถ่ายรังสีปอดปกติ
3. ผู้ป่วยที่มีอาการไม่รุนแรง แต่มีปัจจัยเสี่ยงต่อการเป็นโรครุนแรงหรือมีโรคร่วมสำคัญ หรือ ผู้ป่วยที่ไม่มีปัจจัยเสี่ยงแต่มีปอดอักเสบ (pneumonia) เล็กน้อยถึงปานกลางยังไม่ต้องให้ออกซิเจน
และ 4. กลุ่มที่มีอาการปอดอักเสบต้องได้รับการรักษาด้วยออกซิเจน โดยในกลุ่มที่ 1 ที่ไม่มีอาการหรือสบายดี ตามแนวทางแล้วไม่มีความจำเป็นต้องได้รับการรักษาด้วยยาต้านไวรัส อย่างไรก็ตามขอความร่วมมือประชาชนยังคงปฏิบัติตามมาตรการต่าง ๆ เพื่อป้องกันการติดเชื้อโดยเฉพาะการใส่หน้ากากอนามัยเมื่ออยู่ในที่ชุมชน ล้างมือ และรักษายะยะห่างระหว่างบุคคล
แอปพลิเคชัน MorDee (หมอดี) และ Good Doctor Technology แอปพลิเคชัน
นอกจากนี้ สำนักงานหลักประกันสุขภาพแห่งชาติ (สปสช.) ได้ระบว่า ตั้งแต่วันที่ 11 กรกฎาคม 2565 นี้ สปสช.สานต่อการดูแลผู้ป่วยโควิด-19 กลุ่มอาการสีเขียว ผ่านการร่วมมือกับ 2 บริษัทผู้ให้บริการด้านสุขภาพดิจิทัล
บริษัท ทรู ดิจิทัล กรุ๊ป จำกัด ผู้ให้บริการแอปพลิเคชัน MorDee (หมอดี) และ บริษัท กู๊ด ด็อกเตอร์ เทคโนโลยี (ประเทศไทย) ผู้ให้บริการ Good Doctor Technology แอปพลิเคชัน
เพื่อทำการดูแลผู้ป่วยฯ ผ่านบริการการแพทย์ทางไกล (Telemedicine) พร้อมบริการจัดส่งยาถึงบ้าน
***รับเฉพาะผู้ป่วยโควิด-19 สิทธิบัตรทอง 30 บาท (สิทธิหลักประกันสุขภาพแห่งชาติ) ที่อยู่ในพื้นที่ กทม.-ปริมณฑล 5 จังหวัด นนทบุรี นครปฐม ปทุมธานี สมุทรปราการ และสมุทรสาคร เท่านั้น***
เมื่อตรวจ ATK ขึ้น 2 ขีด ติดเชื้อโควิด-19 กลุ่มอาการไม่รุนแรง (ผู้ป่วยสีเขียว) ที่มีอาการดังต่อไปนี้
- มีไข้อุณหภูมิ 37.5 องศาขึ้นไป
- ไม่ได้กลิ่น ไม่รู้รส
- เจ็บคอ ไอ/มีน้ำมูก
- มีผื่น ถ่ายเหลว ตาแดง
สามารถเลือกลงทะเบียนตามแบบฟอร์มลงทะเบียนโครงการ Self-Isolation สำหรับผู้ป่วย COVID-19 สนับสนุนโครงการโดย สปสช. และ สวทช. ผ่านการให้บริการบน
1. แอปพลิเคชัน MorDee (หมอดี) ให้บริการโดย บริษัท ทรู ดิจิทัล กรุ๊ป จำกัด: https://form.typeform.com/to/cNKqNz3p
2.แอปพลิเคชัน Good Doctor Technology ให้บริการโดย บริษัท กู๊ด ด็อกเตอร์ เทคโนโลยี (ประเทศไทย): https://forms.gle/YKVMKy1p8FRDDBje7
เพื่อพบแพทย์ผ่านออนไลน์ ซักถามและจ่ายยาตามอาการ ให้คำแนะนำการใช้ยารักษาโควิด-19 พร้อมจัดส่งถึงบ้าน ฟรี ไม่เสียค่าใช้จ่าย
ภาพ TNNONLINE