รวมเหตุ ไฟป่าเชียงใหม่ ปีนี้หนักกว่าหรือไม่ ?
ข่าววันนี้ ประเด็นร้อนแรงที่สร้างข่าวสนใจให้ชาวโซเชียล จน #ไฟป่าเชียงใหม่ ไต่พุ่งติดอันดับทวิตเตอร์ ซึ่งสถานการณ์ดังกล่าวยังคงเป็นสร้างผลกระทบให้ประเทศไทยเป็นอย่างมาก
หลังจากที่ก่อนหน้านี้การเกิดไฟป่าเชียงใหม่ เมื่อเวลา 22.38 น. วันที่ 29 มี.ค.ที่ผ่านมา โดยเพจเฟซบุ๊ก จังหวัดเชียงใหม่ CM108.com รายงานว่า เกิดไฟป่าเชียงใหม่ บนภูเขา บริเวณบ้านศาลา ต.สะเมิงใต้ อ.สะเมิง #ส่งกำลังใจให้เจ้าหน้าที่ดับไฟป่าทุกท่าน
นายจักรา ดิษยนันท์ หัวหน้าสถานีฯ รายงานเบื้องต้น ไฟป่าบนภูเขา บริเวณบ้านศาลา ต.สะเมิงใต้ อ.สะเมิง จนท.สถานีควบคุมไฟป่าขุนขาน-สะเมิง สบอ.16 ชุดเหยี่ยวไฟ กรมป่าไม้ และชุดอาสาดับไฟของหมู่บ้าน ได้ร่วมกันควบคุมไฟ โดยการดับและทำแนวกันไฟ เพื่อสกัดไฟ ตั้งแต่เช้าวันนี้โดยมี ฮ.ของ ทส.จำนวน 2 ลำ บินสนับสนุนทิ้งน้ำ สามารถควบคุมไฟได้บางส่วน
หลังจาก จนท.พักรับประทานอาหารเย็น เจ้าหน้าที่ได้เข้าปฏิบัติต่อ กำลังพยายามควบคุมไฟให้อยู่ในวงจำกัด การปฏิบัติงานเป็นไปด้วยความยากเนื่องจากเป็นเขาสูง ผาหิน และเป็นป่าไผ่ แห้ง ไฟไหม้รุนแรงควบคุมได้ยาก ขณะนี้ จนท.กำลังปฏิบัติงานอยู่
วราวุธ ย้ำ ดับไฟป่าเชียงใหม่ ได้แล้ว เผยต้องตรวจสอบสภาพอากาศ เอื้อเกิดฝุ่นพีเอ็ม 2.5 หรือไม่
ล่าสุด เมื่อเวลา 08.50 น. วันที่ 30 มีนาคม นายวราวุธ ศิลปอาชา รัฐมนตรีว่าการกระทรวงทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม (ทส.) ให้สัมภาษณ์ก่อนการประชุมคณะรัฐมนตรี (ครม.) ถึงกรณีไฟป่าเชียงใหม่ ว่า ได้รับรายงานสถานการณ์ล่าสุดว่าสามารถดับไฟป่าเชียงใหม่ได้เรียบร้อยแล้ว สำหรับภาพเหตุการณ์ที่ปรากฏออกมานั้นยอมรับว่าน่ากลัวมาก
นายวราวุธกล่าวว่า พื้นที่ อ.สะเมิง มีความลาดชันสูง และ มีพื้นที่ที่เป็นหินอยู่บางส่วน ทำให้เจ้าหน้าที่ที่จะเข้าไปดับไฟทำงานได้ยาก จึงต้องใช้วิธีดับไฟที่เรียกว่า ใช้ไฟดับไฟ คือการจุดเป็นแนวกันไฟขึ้นมา แล้วใช้ไฟนั้นไล่กลับเข้าไป จึงทำให้ภาพที่ออกมาเห็นว่ามีปริมาณเพลิงสูง ยืนยันว่าขณะนี้สามารถดับไฟได้เรียบร้อยแล้ว
เมื่อถามว่า ต้นเหตุของไฟเกิดจากฝีมือมนุษย์หรือธรรมชาติ นายวราวุธกล่าวว่า ไม่ต้องถามเลย เพราะโอกาสที่จะเกิดไฟป่าตามธรรมชาติในประเทศไทยมีไม่ถึง 1% เพราะส่วนใหญ่เกิดจากฝีมือมนุษย์ ไม่ว่าจะเป็นด้วยความตั้งใจ หรือบางครั้งก็ไม่ได้เกิดจากความตั้งใจ บางคนอาจจะเผาเพียงแค่พื้นที่ส่วนหนึ่ง แต่ไฟกับลุกลามจนเกิดสถานการณ์อย่างที่เราเห็น
นายวราวุธกล่าวว่า สิ่งเหล่านี้จึงเป็นสาเหตุให้กระทรวง ทส.ต้องร่วมมือกั[ภาคเอกชนและประชาชน ดำเนินการเก็บเชื้อเพลิงต่างๆ ในโครงการชิงเก็บก่อนเผา แต่ไม่วายก็ยังเกิดสถานการณ์เช่นนี้อีก ซึ่งก็เป็นเรื่องน่าเสียใจ และต้องขออภัยพี่น้องชาว จ.เชียงใหม่ ที่เกิดสถานการณ์เช่นนี้ แต่ทางกระทรวง ทส.ได้จัดกำลังพลเตรียมรับมือกับสถานการณ์
เมื่อถามว่า จากเหตุการณ์ดังกล่าวจะทำให้ปริมาณฝุ่นพีเอ็ม 2.5 เพิ่มมากขึ้นหรือไม่ นายวราวุธกล่าวว่า จะต้องขอตรวจสอบสภาพอากาศจากกรมอุตุนิยมวิทยาว่าทางภาคเหนือมีสภาพลมเป็นอย่างไร ถ้ามีลมแรงก็จะสามารถพัดพาฝุ่นเหล่านี้ไปกระจายไปตามพื้นที่อื่นได้ แต่หากมีสภาพอากาศกดทับ ก็จะทำให้พีเอ็ม 2.5 รุนแรงขึ้น
"เชียงใหม่-น่าน-ตาก" เสี่ยงเกิดไฟป่าสูงสุดต่อเนื่อง
เมื่อวันที่ 30 มีนาคม ข้อมูลภาพจากดาวเทียมฮิมาวาริ (Himawari) และดาวเทียมอื่นๆ ของระบบการติดตามปริมาณฝุ่นละอองขนาดเล็ก (PM2.5) ของวันที่ 30 มีนาคม 2564 ในช่วงเวลา 09.00 น. พบว่าในพื้นที่ของภาคเหนือพบค่าคุณภาพอากาศที่มีผลกระทบต่อสุขภาพ (สีแดง) โดยเฉพาะในพื้นที่ของจังหวัด เชียงราย ที่พบค่า AQI สูงถึง 247 ตามด้วย แม่ฮ่องสอน ที่มีค่า AQI อยู่ที่ 113 ในส่วนของภูมิภาคอื่นๆ พบค่าคุณภาพอากาศที่เริ่มมีผลกระทบต่อสุขภาพ (สีส้ม) กระจายตัวอยู่ในบางพื้นที่ สลับกับคุณภาพอากาศปานกลาง (สีเหลือง) และคุณภาพอากาศดี (สีฟ้า สีเขียว) ที่ปกคลุมเกือบทั่วภูมิภาค รวมถึงกรุงเทพฯ และปริมณฑลด้วย
ส่วนข้อมูลเฉพาะพื้นที่ท่านสามารถติดตามจากหน่วยงานหลักที่รับผิดชอบโดยตรงได้
ทั้งนี้ GISTDA จะติดตามและรายงานสถานการณ์อย่างต่อเนื่อง เพื่อเป็นข้อมูลให้กับทุกหน่วยงานหลักและที่เกี่ยวข้องได้นำไปใช้บริหารจัดการในพื้นที่ รวมทั้งจะเพิ่มประสิทธิภาพในการติดตามสถานการณ์ PM2.5 อย่างดีที่สุด เพื่อให้ทุกท่านรับทราบข้อมูลอย่างทันท่วงที โดยท่านสามารถติดตามข้อมูลเพิ่มเติมได้ที่ http://pm25.gistda.or.th/
นอกจากนี้ ยังพบว่า ข้อมูลภาพจากดาวเทียมระบบ MODIS เฝ้าติดตามสถานการณ์ความเสี่ยงพื้นที่เกิดไฟป่าอย่างต่อเนื่อง จากภาพแสดงให้เห็น 17 จังหวัดภาคเหนือที่เป็นพื้นที่เสี่ยงต่อการเกิดไฟป่าในช่วง 29 มีนาคม-4 เมษายน 2564 โดยพบ 3 จังหวัดมีความเสี่ยงสูงต่อการเกิดไฟป่า ได้แก่ #เชียงใหม่ #น่าน #ตาก ตามลำดับ ซึ่งเป็น 3 พื้นที่เสี่ยงสูงสุดติดต่อกันเป็นสัปดาห์ที่ 3 แล้ว ส่วนอีก 14 จังหวัดที่เหลือยังคงมีพื้นที่เสี่ยงกระจายอยู่โดยรอบ เนื่องจากสภาพอากาศที่มีอุณหภูมิสูงขึ้นและสภาพพื้นผิวแห้งแล้งอาจจะทำให้เกิดประกายไฟได้ง่าย โดยพื้นที่ที่ต้องจับตาเป็นพิเศษ คือ เชียงราย และ แม่ฮ่องสอน
ทั้งนี้ ข้อมูลดังกล่าวจะถูกส่งต่อให้กับหน่วยงานที่เกี่ยวข้องได้นำไปวางแผนเพื่อการจัดการเชื้อไฟ และจัดทำแนวกันไฟในพื้นที่เสี่ยง ซึ่งจะช่วยลดความรุนแรงและความเสียหายที่จะเกิดขึ้นได้อย่างมีประสิทธิภาพ
GISTDA ยังติดตามและรายงานสถานการณ์อย่างต่อเนื่อง เพื่อเป็นข้อมูลให้กับทุกหน่วยงานที่เกี่ยวข้องได้นำไปใช้บริหารจัดการในพื้นที่ ท่านสามารถติดตามข้อมูลเพิ่มเติมได้ที่ http://fire.gistda.or.th
รายงานข่าวระบุว่า จากภาพจะเห็นได้ว่าจุดความร้อนทั่วทั้งประเทศที่เพิ่มขึ้นนั้น มีการกระจายตัวในภาคกลาง ภาคตะวันออกเฉียงเหนือ แต่ยังคงกระจุกตัวอยู่มากในบริเวณภาคเหนือเช่นเคย สำหรับจุดความร้อนในประเทศเพื่อนบ้านได้กลับมาเพิ่มสูงขึ้นอีกครั้ง โดยพบมากในสาธารณรัฐประชาธิปไตยประชาชนลาว 3,446 จุด รองลองมาเป็นสาธารณรัฐแห่งสหภาพเมียนมาร์ จำนวน 2,517 จุด และราชอาณาจักรกัมพูชา 928 จุด ตามลำดับ
อย่างไรก็ตาม สถานการณ์ของจุดความร้อนที่พบจากประเทศเพื่อนบ้านอาจส่งผลให้พื้นที่จังหวัดใกล้เคียงได้รับผลกระทบจากฝุ่นละอองและหมอกควัน ที่ลอยข้ามแดนเข้ามาได้
ทั้งนี้ GISTDA ยังติดตามและรายงานสถานการณ์อย่างต่อเนื่อง เพื่อเป็นข้อมูลให้กับทุกหน่วยงานที่เกี่ยวข้องได้นำไปใช้บริหารจัดการในพื้นที่ ท่านสามารถติดตามข้อมูลเพิ่มเติมได้ที่ http://fire.gistda.or.th
ข้อมูล : มติชน, ข่าวสด
ข่าวเกี่ยวข้อง :
- พิษไฟป่าสะเมิงดัน ‘เชียงใหม่’ คุณภาพอากาศแย่อันดับ 3 โลก
- รู้แล้ว! เหตุไฟไหม้ป่าสะเมิง ฟังชุดดับไฟพูดแล้วเศร้า
- ไฟป่าโหมไหม้ภูเขา อ.สะเมิง จ.เชียงใหม่ รุนแรง กลายเป็นทะเลเพลิงท่ามกลางความมืด