รมช.ประภัตร เปิดโครงการคุมโรค 'ลัมปีสกิน' ชิมผลิตภัณท์จากโค สร้างความเชื่อมั่น ไม่ติดสู่คน
รมช.ประภัตร เปิดโครงการรณรงค์การป้องกันและควบคุมโรคลัมปี สกิน จังหวัดเชียงใหม่ ชื่นชมการบริหารจัดการในที่ พร้อมชิมเนื้อโค นมโคและผลิตภัณท์จากโค สร้างความเชื่อมั่น “ลัมปี – สกิน เป็นแล้วรักษาหาย เนื้อทานได้ ไม่ติดต่อสู่คน”
วันที่ 27 มิ.ย.64 นายประภัตร โพธสุธน รัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ ลงพื้นที่สหกรณ์โคนมแม่ออน จำกัด อำเภอแม่ออน จังหวัดเชียงใหม่ เป็นประธานพิธีเปิดโครงการรณรงค์การป้องกันและควบคุมโรคลัมปี สกิน (Lumpk Skin Disesae) ในโค – กระบือ พร้อมมอบเวชภัณฑ์อาหารสัตว์ ยารักษาสัตว์ป่วยตามอาการ ยากำจัดแมลง และหญ้าแห้งอาหารสัตว์ ให้กับเกษตรกรที่ได้รับผลกระทบในพื้นที่ และเยี่ยมชมการบริหารจัดการฟาร์มโคนมที่วรากรฟาร์ม โดยมีนายเจริญฤทธิ์ สงวนสัตย์ ผู้ว่าราชการจังหวัดเชียงใหม่ นายสุรเดช สมิเปรม รองอธิบดีกรมปศุสัตว์ หัวหน้าส่วนราชการในพื้นที่ ตลอดจนผู้นำภาคประชาชนเข้าร่วม
“ขณะนี้กระทรวงเกษตรและสหกรณ์ กำลังพิจารณาดำเนินการของบกลาง และจะนำเข้าครม. โดยเร็วที่สุด เพื่อให้กรมปศุสัตว์มีงบประมาณในการสั่งซื้อวัคซีนเพิ่มอีก 5 ล้านโดส จากเดิมที่นำเข้ามาแล้ว 360,000 โด๊ส เพื่อใช้ในการควบคุมโรคลัมปี – สกิน นอกจากนี้ กระทรวงเกษตรและสหกรณ์เตรียมเสนอต่ออธิบดีกรมบัญชีกลางและปลัดกระทรวงการคลังเพื่อปรับปรุงระเบียบการจ่ายเงินเยียวยากรณีโค -กระบือ เสียชีวิต โดยอัตราเงินเยียวยาใหม่ จะเยียวยาโคต่ำสุด 13,000 บาทต่อตัว สูงสุด 35,000 บาทต่อตัว กระบือเยียวยาต่ำสุด 16,000 บาทต่อตัว สูงสุด 41,000 บาทต่อตัว นอกจากนี้ยังจะให้เพิ่มการเยียวยาให้เกษตรกรเจ้าของโค-กระบือ จ่ายตามจริง แต่ไม่เกินรายละ 5 ตัว” รมช.ประภัตร กล่าว
รมช.ประภัตรยังได้แนะนำโครงการประกันโค – กระบือ ของกรมปศุสัตว์ ให้กับเกษตรกรในพื้นที่ โดยจ่ายเบี้ยเพียงเดือนละ 100 บาท จ่ายทั้งสิ้น 4 เดือน คุ้มครองการตายทุกกรณี จ่ายเงิน 30000 บาทต่อตัว และโครงการเงินกู้อัตราดอกเบี้ยต่ำ ล้านละร้อย โดยเกษตรกรต้องรวมกลุ่มให้ได้ 7 คน จัดตั้งเป็นวิสาหกิจชุมชน ทำเกษตรกรรม โดยมีตลาดรองรับผลผลิต ก็สามารถยื่นกู้กับธนาคารเพื่อการเกษตรและสหกรณ์การเกษตร (ธกส.) โดยไม่ต้องมีหลักทรัพย์ ระยะเวลากู้ 3 ปี หากเกษตรกรสนใจโครงการดังกล่าว สามารถติดต่อขอคำแนะนำเพิ่มเติมได้ที่สำนักงานปศุสัตว์หรือธกส. ในพื้นที่
นอกจากนี้ รมช.ประภัตรและคณะ ยังได้ร่วมรับประทานเนื้อโค นมโคและผลิตภันณ์แปรรูปจากนมโค ซึ่งเป็นผลผลิตของเกษตรกรจังหวัดเชียงใหม่ เพื่อสร้างความมั่นใจในการบริโภคให้กับประชาชน “ลัมปี – สกิน เป็นแล้วรักษาหาย เนื้อทานได้ ไม่ติดต่อสู่คน”