รีเซต

“AI-ความเท่าเทียมสุขภาพ”: เยาวชนไทยนำเสนอแนวคิดสร้างสรรค์ในเวทีโลก

“AI-ความเท่าเทียมสุขภาพ”: เยาวชนไทยนำเสนอแนวคิดสร้างสรรค์ในเวทีโลก
TNN ช่อง16
24 กันยายน 2567 ( 22:09 )
11
“AI-ความเท่าเทียมสุขภาพ”: เยาวชนไทยนำเสนอแนวคิดสร้างสรรค์ในเวทีโลก

“One Young World” หรือเวทีการประชุมสุดยอดผู้นำเยาวชนที่ใหญ่สุดในโลก ซึ่งปีนี้จัดขึ้นระหว่างวันที่ 18 – 21 กันยายน 2567 ที่เมืองมอนทรีออล ประเทศแคนาดา เป็นพื้นที่ให้คนรุ่นใหม่จาก 190 ประเทศทั่วโลก เข้าร่วมแสดงศักยภาพผ่านการหารือ และแลกเปลี่ยนความคิดเห็นต่อประเด็นท้าทายโลก ซึ่งเครือเจริญโภคภัณฑ์ หรือ ซีพี และบริษัทในเครือฯ ได้ส่งผู้แทนเข้าร่วม จำนวน 20 คน


ตัวแทนคนรุ่นใหม่เหล่านี้ จะเข้านำเสนอความเห็น และหารือในกรอบ 5 ประเด็นท้าทายโลกได้แก่ 1. เสียงของคนพื้นเมือง (Indigenous Voices) 2. วิกฤตภูมิอากาศ และนิเวศวิทยา (The Climate and Ecological Crisis) 3. ปัญญาประดิษฐ์ (Artificial Intelligence) 4. ความเท่าเทียมทางสุขภาพ (Health Equality) และ 5. สันติภาพของโลก (Peace) หลังก่อนหน้านี้ได้เข้าอบรมความรู้ และพัฒนาความเชี่ยวชาญที่สถาบันผู้นำเครือเจริญโภคภัณฑ์ อ.ปากช่อง จ.นครราชสีมา 


โอกาสนี้นายแพทย์ชูชัย ศุภวงศ์ เจ้าของรางวัลผู้นำด้านสาธารณสุขจากมหาวิทยาลัยฮาร์วาร์ด และประธานมูลนิธิแพทย์ชนบท ผู้เชี่ยวชาญด้านความเท่าเทียมทางสุขภาพ (Health Equality) ได้แสดงความชื่นชมต่อตัวแทนเยาวชนไทยจากเครือเจริญโภคภัณฑ์ ที่จะเป็นกระบอกเสียงแทนเยาวชนไทย บอกเล่าความสำเร็จของการปฏิรูปโครงสร้างระบบสาธารณสุขของไทย  เป็นต้นแบบแลกเปลี่ยนประสบการณ์กับเยาวชนจากประเทศอื่นๆ ได้

“ไทยได้ปฏิรูปโครงสร้างระบบสาธารณสุขอย่างต่อเนื่อง ทั้งการบูรณาการการรักษาพยาบาล การส่งเสริมป้องกัน และการฟื้นฟู โดยเรามีหลักประกันสุขภาพถ้วนหน้า และกองทุนสนับสนุนการสร้างเสริมสุขภาพ หรือ สสส. เราสามารถบริหารจัดการการเข้าถึงบริการทางการแพทย์ได้อย่างทั่วถึง และเท่าเทียม ซึ่งสามารถเป็นต้นแบบให้กับประเทศอื่นได้” นายแพทย์ชูชัย กล่าว 


อย่างไรก็ตาม นายแพทย์ชูชัย ยังพบว่า ไทยยังเผชิญกับข้อจำกัดที่คนบางกลุ่มยังเข้าไม่ถึงบริการทางการแพทย์ได้อย่างมีประสิทธิภาพ โดยเฉพาะกลุ่มผู้ป่วยติดเตียง และผู้สูงอายุ ที่มีจำนวนเพิ่มมากขึ้น การปฏิรูประบบสุขภาพปฐมภูมิ จะเป็นอีกหนึ่งกลไกสำคัญเพื่อลดภาระค่าใช้จ่าย และยกระดับการดูแลสุขภาพให้เท่าเทียมมากขึ้น ผู้แทนเยาวชนไทยจึงควรใช้เวทีนี้แลกเปลี่ยน และเรียนรู้เพื่อนำมาต่อยอด และปรับใช้กับประเทศไทย 


“ผมคิดว่าคงมีเรื่องดีๆ ที่เป็นรูปธรรมที่เขาได้เรียนรู้จากประเทศอื่นๆ รวมไปถึงเรื่องดีๆจากประเทศไทย ที่สามารถแลกเปลี่ยนซึ่งกันและกันได้ และหากเรื่องไหนเป็นเรื่องที่ดีก็สามารถนำมาปรับใช้กับประเทศไทยได้ ที่สำคัญคือคนรุ่นใหม่ควรมี connectivity เครือข่ายกับเยาวชนต่างๆ ที่ต่อไปคนเหล่านี้จะกลายเป็นผู้นำในประเทศต่างๆทั่วโลก ซึ่งเป็นเรื่องที่ดีมากที่เครือซีพีเข้ามาสนับสนุน”  นายแพทย์ชูชัย กล่าว


อีกหนึ่งหัวข้อที่เป็นความท้าทายใหม่ของโลก และได้รับการหยิบยกขึ้นมาเป็น 1 ใน 5 ประเด็นในเวที One Young World ปีนี้ คือ ปัญญาประดิษฐ์ (Artificial Intelligence) หรือเอ ไอ โดย ดร.ชยกฤต เจริญศิริวัฒน์ ประธานเจ้าหน้าที่บริหารฝ่ายปฏิบัติการ บริษัท กรุงเทพโปรดิ๊วส จำกัด ระบุว่า ปัจจุบันปัญญาประดิษฐ์ หรือ เอไอ มีบทบาทสำคัญ โดยเฉพาะภาคอุตสาหกรรม การนำเอไอมาใช้ต้องมีความรู้ความเข้าใจอย่างถูกต้อง เพื่อป้องกันความเสี่ยง และผลกระทบที่อาจเกิดขึ้น อย่างไรก็ตามผู้ที่มีทักษะการใช้เอไอ จะได้เปรียบอย่างมากในโลกปัจจุบัน เวที One Young World จึงเป็นโอกาสอันดี ที่เยาวชนไทยจะเรียนรู้ และสร้างเครือข่าย

“One Young World เป็นเวทีใหญ่ที่จะมีเยาวชนจากทั่วโลก ซึ่งจะทำให้เห็นไอเดียใหม่ๆ อย่างคนซีกโลกอื่นๆ ว่าเขาได้นำเทคโนโลยีใหม่ๆ อะไรไปโชว์บ้าง นอกจากเอไอ และเขานำสิ่งเหล่านี้ไปใช้ตอบโจทย์อะไรบ้าง ได้เห็นมุมมองที่หลากหลายกว่าที่เราคุยกันเองในประเทศไทย หรือ แถบเอเชีย ก็หวังว่าน้องๆจะนำสิ่งเหล่านี้มาทำประโยชน์ เก็บประสบการณ์ให้ได้มากที่สุด พูดคุยสร้างเพื่อนใหม่ๆ ให้ได้มากที่สุด เพื่อสร้างคอนเนคชั่นและกลับมาทำในประเทศไทยของเราต่อไป” ดร.ชยกฤต กล่าว


สอดคล้องกับความเห็นของคุณวรกมล ภู่นาค 1 ใน 20 ตัวแทนเยาวชนไทยเวที One Young World ด้านเอไอ จากบริษัท ทรู คอร์ปอเรชั่น จำกัด (มหาชน) ที่ระบุว่า ปัจจุบัน เอไอ ได้เข้ามาพัฒนาอุตสาหกรรมแขนงต่างๆ ทั้งธุรกิจ การแพทย์ และการศึกษา ถือได้ว่าเป็นหัวใจของการปฏิวัติอุตสาหกรรมครั้งถัดไป อย่างไรก็ตาม ความท้าทายที่สังคมจะต้องพิจารณาคือ เราจะป้องกันความเสี่ยง และผลกระทบการใช้ไอไอในทางที่ไม่ถูกอย่างไร 

“ไอเอพัฒนาชีวิต และการทำงานในหลายแง่มุม แต่เราก็ไม่ควรมองข้ามผลกระทบจากเอไอ อาทิ ทำอย่างไรจะไม่ใช้เอไอไปละเมิดสิทธิส่วนบุคคล ไม่ละเมิดสิทธิการสร้างสรรค์ผลงาน ทำอย่างไรที่เราสอน และใช้เอไอ โดยไม่ทำให้โลกร้อนขึ้น และที่สำคัญเราจะทำอย่างไรให้ประชาชนมีทักษะทันการเปลี่ยนแปลงนี้ของโลก” คุณวรกมล กล่าว 


ความเท่าเทียมทางการแพทย์และปัญญาประดิษฐ์ ล้วนเป็นความท้าทายที่ใกล้ชิดกับชีวิตของทุกคนในสังคม มุมมองและประสบการณ์จากผู้เชี่ยวชาญทั้งสองจะช่วยเสริมสร้างองค์ความรู้ให้กับน้อง ๆ ตัวแทนเยาวชน One Young World ทำให้พวกเขาเป็นกระบอกเสียงของคนรุ่นใหม่ และสามารถเปลี่ยนแปลงโลกได้อย่างมีประสิทธิภาพยิ่งขึ้น

ยอดนิยมในตอนนี้

แท็กยอดนิยม

ข่าวที่เกี่ยวข้อง