‘จุดเริ่มต้นประกวดนางงาม’ เวทีที่ไม่ได้มีแค่ความสวย แต่บ่งบอกคุณค่าผู้หญิงและประเทศ
คำว่า “ประกวดนางงาม” ในอดีต ดูเหมือนเป็นการประกวดที่ตอกย้ำ ความคิดว่า ผู้หญิงควรมีคุณค่าทางรูปลักษณ์ภายนอกเท่านั้น
แต่เมื่อเวลาผ่านไป การประกวดเหล่านี้กลายเป็นพื้นที่รวบรวมคุณค่าหลายมิติ ส่งเสริมพลังให้ผู้หญิง เน้นย้ำถึงตัวตนของพวกเธอบนเวที
การประกวดความงามนั้น มีมานานหลายร้อยปีแล้ว ผ่านค่านิยมและคำวิจารณ์ต่าง ๆ มากมาย กว่าจะกลายเป็นเวทีการประกวดแบบทุกวันนี้ ทั้งยังช่วยกระตุ้นเศรษฐกิจ และดึงดูดเม็ดเงินได้มหาศาล
บทความนี้ จะพาคุณไปรู้จักจุดเริ่มต้นของการแข่งขันความงามว่า มีแนวคิดและที่มาอย่างไร จนกลายเป็นเวทีที่กลายเป็นกิจกรรมที่ต้องมีการจัดประกวดทุกครั้งเมื่อมีเทศกาลเกิดขึ้น
---คำพิพากษาของ ‘ปารีส’ จุดเริ่มต้นแนวคิดการประกวดนางงาม---
ก่อนที่เราจะเรียนรู้ถึงต้นกำเนิดการจัดการประกวดครั้งแรกว่า เริ่มต้นขึ้นเมื่อใด อยากให้เริ่มมองที่แนวคิดของการประกวดนางงามว่า มีที่มาอย่างไร
แนวคิดการตัดสินผู้หญิงจากความงามนั้น มีภาพซ้อนมาจากตำนานเทพนิยายกรีก จากเหตุการณ์ “คำพิพากษาของปารีส” หรือ “the Judgement of Paris” ซึ่งเป็นเรื่องราวที่เกิดขึ้นในช่วงยุคโรมัน-กรีก เมื่อ “ปารีส” หรือ “อเล็กซานดรอส” เจ้าชายแห่งกรุงทรอยผู้ยากจน ต้องมาทำหน้าที่ยุติข้อพิพาทว่า “ใครงามเลิศที่สุดในปฐพี” ระหว่างเทพธิดากรีกผู้ยิ่งใหญ่ทั้ง 3 คน ได้แก่ เฮรา (จูโน), อะโฟรไดท์ (วีนัส) และอธีนา (มิเนอร์วา)
การตัดสินครั้งนี้ ไม่ได้เป็นการตัดสินที่ยึดโยงด้วยหลักความยุติธรรมเพียงอย่างเดียว เพราะเทพธิดาทั้ง 3 ยื่นข้อเสนอต่าง ๆ ให้แก่ปารีส
เฮรา เสนอว่า หากเขาเลือกเธอให้เป็นหญิงงามที่สุด จะมอบความมั่งคั่งและดินแดนให้กับเขา
อธีนา สัญญาว่า เขาจะได้รับชัยชนะจากการทำสงครามทุกครั้ง
อะโฟรไดท์ จะมอบหญิงสาวที่งามที่สุดในโลกให้กับเขา
ท้ายที่สุด ปารีสตัดสินใจเลือกให้อะโฟรไดท์ เป็นหญิงสาวที่งามที่สุด และเขาก็ได้ครอบครอง “เฮเลน” หญิงสาวที่สวยสุดในขณะนั้น และเหตุการณ์ในครั้งนั้นกลายเป็นจุดเริ่มต้นที่ก่อให้เกิดสงครามกรุงทรอยขึ้นมา
แม้เรื่องราวการแข่งขันความงามตามตำนานกรีก หลายคนอาจมองว่า นี่เป็นการประกวดความงามครั้งแรกของโลก แต่มันก็ไม่มีหลักฐานทางประวัติศาสตร์ใด ๆ ที่สามารถยืนยันได้ว่า มีการจัดประกวดความงามของหญิงสาวในช่วงยุคโรมัน-กรีก แต่ในทางตรงกันข้าม กลับมีการประกวดชายงามแทน โดยใช้ชื่อว่า “ยูอันเดรีย” (Euandria)
---เลือก “หญิงสาว” ตัวแทนคุณค่าชุมชน---
ในช่วงยุโรปกลาง เริ่มมีการจัดประกวดนางงามตามเทศกาลต่าง ๆ และส่วนใหญ่จะเกิดขึ้นในวัน May Day ซึ่งเป็นวันเฉลิมฉลองฤดูใบไม้ผลิ โดยในอังกฤษ พวกเขาจะคัดเลือกหญิงสาว ดำรงตำแหน่ง “ราชินีแห่งเดือนพฤษภาคม” หรือ “May Queen” พร้อมกับสวมมงกุฎดอกไม้ เพื่อเป็นสัญลักษณ์แห่งความบริสุทธิ์, ความอุดมสมบูรณ์ และการเริ่มต้นใหม่
การคัดเลือกหญิงสาวเพื่อเป็นตัวแทนในการนำเสนอคุณค่าของชุมชนดำเนินต่อไปเรื่อย ๆ โดยในสหรัฐฯ เมื่อครั้งที่ “จอร์จ วอชิงตัน” เดินทางไปนิวยอร์ก เพื่อเข้ารับตำแหน่งประธานาธิบดีปี 1789
บรรดาหญิงสาวที่ถูกคัดเลือกจะถูกแต่งตัวด้วยชุดสีขาว ยืนเรียงรายตามเส้นทางที่เขาผ่าน เพื่อให้เกียรติแก่ประธานาธิบดีของพวกเธอ ซึ่งแสดงถึงความบริสุทธิ์และคุณงามความดี
และต่อมาในปี 1826 ก็มีการทำในลักษณะเดียวกันให้แก่ชัยชนะของนายพลลาฟาแยต
---การประกวดความงามผ่านรูปถ่าย---
การประกวดนางงามในยุคสมัยใหม่ครั้งแรก ที่มุ่งเน้นไปเรื่องรูปลักษณ์ภายนอกของผู้หญิง เริ่มต้นขึ้นในช่วงยุค 1850 โดย พี.ที. บาร์นัม ผู้เป็นเจ้าของโรงละครสัตว์ และพิพิธภัณฑ์ไดม์ พยายามชักชวนผู้หญิงให้เข้าร่วมประกวดความงาม แต่สังคมยุควิกตอเรียสมัยนั้น ไม่ค่อยส่งเสริมให้ผู้หญิงออกไปแสดงตัวต่อหน้าสาธารณชน แม้จะมีเงินรางวัลมากมายมาจูงใจ แต่ก็ไม่สามารถดึงดูดหญิงสาวให้มาเข้าร่วมประกวดได้
ฉะนั้น เขาเลยเปลี่ยนวิธีให้บรรดาหญิงสาวส่งรูปมาเข้าประกวดแทน แล้วเขาก็จะนำรูปเหล่านั้น ไปติดตั้งไว้ที่พิพิธภัณฑ์ของเขา เพื่อให้ผู้ที่เข้ามาเยี่ยมชมทำการโหวตว่า “ใครคือหญิงงามที่สุด” วิธีนี้ ทำให้หลีกเลี่ยงเรื่องอื้อฉาวของการโชว์ตัวเพื่อประกวดไปได้ และทำให้การประกวดความงามนี้ได้รับการยอมรับ หลังจากนั้น การส่งภาพหญิงสาว เพื่อประกวดความงาม จึงได้ขยายตัวขึ้น เพื่อเป็นการส่งเสริมขวัญกำลังใจให้กับประชาชน
---กำเนิด ‘Miss America’ เวทีประกวดนางงามครั้งแรกของโลก---
ต่อมาในช่วงต้นศตวรรษที่ 20 ความคิดเกี่ยวกับการประกวดนางงามก็เริ่มเปลี่ยนไป การห้ามหญิงสาวแสดงตัวจริงบนเวทีเริ่มค่อย ๆ จางหายไป โดยในปี 1921 แอตแลนติกซิตี้ มีความคิดต้องการดึงนักท่องเที่ยวเข้ามาเที่ยวในวันแรงงาน จึงได้ตัดสินใจจัดการประกวดเวที “Miss America” ขึ้นเป็นครั้งแรกในเดือนกันยายน
การแข่งขันนี้ จะเน้นย้ำถึงความอ่อนเยาว์และความดีงาม สอดคล้องกับอุดมคติประชาธิปไตยและวัฒนธรรม ทำให้เวทีนี้ กลายเป็นจุดเริ่มต้นของการประกวดนางงามของชาวอเมริกัน ที่ผสมผสานระหว่างความงามกับคุณค่าทางสังคมที่สืบทอดมาจนถึงยุคปัจจุบัน
---การประกวดนางงามบนเวทีโลก---
แม้ส่วนใหญ่จะรับรู้กันว่า สหรัฐฯ เป็นประเทศแรกที่ทำการจัดประกวดนางงามในยุคศตวรรษที่ 20 ขึ้น แต่แนวคิดการประกวดนี้ก็แพร่หลายอย่างรวดเร็ว จนกลายเป็นเวทีที่สั่นสะเทือนไปถึงระดับโลก เป็นตัวแทนให้แต่ละประเทศได้แสดงถึงความเป็นชาติผ่านสาวงามของพวกเขา
ในช่วงยุค 1930 และ 1940 ภาพยนตร์ฮอลลีวูด และการรายงานข่าวเกี่ยวกับเรื่องนี้ ทำให้การประกวดได้รับความนิยมในประเทศอื่น ๆ โดยเฉพาะอย่างยิ่ง ในช่วงยุค 1950 การประกวดกลายเป็นส่วนหนึ่งของความภาคภูมิใจของชาติ เนื่องจากหลายประเทศได้รับเอกราชมากขึ้น
ต่อมาปี 1951 การประกวด Miss World ถูกจัดขึ้นเป็นครั้งแรก หลังจากนั้นไม่นาน ปี 1952 การประกวด Miss Universe ก็ได้ก่อกำเนิดขึ้น การประกวดเหล่านี้ เป็นการเฉลิมฉลองให้กับความเป็นผู้หญิง มอบตำแหน่งและมงกุฎให้แก่ผู้ชนะ แต่เหนือสิ่งอื่นใด การประกวดนางงามมีความหมายมากกว่านั้น เพราะเป็นสิ่งที่สะท้อนถึงค่านิยมหลัก, ความเชื่อเกี่ยวกับศีลธรรม, บทบาททางเพศ และอัตลักษณ์ของชาติ
---คุณค่าหญิงอยู่เพียงแค่ความงาม ?---
บางครั้งการประกวดนางงามก็จุดประเด็นทางสังคมขึ้นมากมาย ยกตัวอย่างเช่น “เดนนี เมนเดส” ผู้อพยพผิวดำ ได้รับตำแหน่ง Miss Italy ในปี 1996 ทำให้ชาวอิตาลีเกิดข้อถกเถียงกันว่า ความเป็นอิตาลีและความหลากหลายทางเชื้อชาติในประเทศของพวกเขามีความหมายว่าอย่างไร
นอกจากนี้ ในปีเดียวกัน มีการประท้วงเกิดขึ้นที่งานประกวด Miss World ประเทศอินเดีย โดยนักสิทธิสตรีมองว่า การประกวดเหล่านี้ เป็นการลดคุณค่าความเป็นผู้หญิง และสนับสนุนแนวคิดชาวตะวันตกที่ขัดแย้งกับวัฒนธรรมในอินเดีย
ผู้ประท้วงกลุ่มนี้ ยังเน้นย้ำความกังวลที่ว่า การประกวดระดับนานาชาติสามารถกำหนดความงามตามมาตรฐานของชาวตะวันตกได้อย่างไร
ขณะที่ บางคนมองว่า การประกวดที่ตัดสินเพียงแค่ความงามควรที่จะถูกลบออกไป แต่ให้แทนที่ด้วยคุณค่าทางการศึกษา และความสามารถของผู้หญิงมากกว่า รวมถึงต้องการให้สังคมหยุดตัดสินผู้หญิงจากรูปลักษณ์ภายนอก
---เวทีนางงามกับการปรับตัวในยุคปัจจุบัน---
แม้จะมีข้อถกเถียงเรื่องการประกวดความงาม และต้องการให้ยกเลิกการแข่งขัน แต่ปัจจุบัน หลายเวที โดยเฉพาะเวทีระดับโลก เปลี่ยนแนวคิดการตัดสินที่ไม่ได้ขึ้นอยู่ที่แค่ความงามเท่านั้น แต่เริ่มหันมามองที่ความฉลาด และความสามารถของผู้หญิงมากขึ้น
บางคนมองว่า การประกวดนางงาม เป็นการให้พื้นที่ที่สามารถช่วยให้ผู้หญิงประสบความสำเร็จ และไม่ควรมองการประกวดนี้ในแง่ลบมากเกินไป
การประกวดนางงามอย่าง เวที Miss World และ Miss Universe มักถูกมองเป็นเรื่องผิวเผิน แต่มันกลับมีความสำคัญทางวัฒนธรรมที่ลึกซึ้งกว่านั้น ผู้ชนะสามารถเป็นตัวแทนประเทศ เพื่อบ่งบอกถึงค่านิยมและอัตลักษณ์ของพวกเขา ทำให้การประกวดเป็นเวทีที่นำความภาคภูมิใจของชาติ และประเด็นทางสังคมมาบรรจบกัน
สำหรับบางประเทศ การส่งผู้เข้าแข่งขันร่วมประกวดเวทีนางงาม เปรียบเสมือนการประกาศความมีตัวตนของพวกเขาบนเวทีโลก โดยอินเดียเคยได้รับตำแหน่ง Miss World และ Miss Universe ในปี 1994 ทำให้ชาวอินเดียหลายคนมองว่า ความงามและวัฒนธรรมของพวกเขาสามารถยืนหยัดได้ด้วยความภาคภูมิใจบนเวทีโลก
เฉกเช่นเดียวกับประเทศไทย ที่การประกวดนางงามไม่ได้มีแค่ความสวยเพียงอย่างเดียว แต่แฝงไปด้วยทัศนคติที่ก้าวตามทันโลก ความสามารถที่โดดเด่น ที่สำคัญคือ เป็นตัวแทนประเทศที่ช่วยนำเสนอภาพลักษณ์ให้แก่สายตาชาวโลกได้เป็นอย่างดี
แปล-เรียบเรียง: พรวษา ภักตร์ดวงจันทร์
แหล่งข้อมูลอ้างอิง:
https://www.pbs.org/wgbh/americanexperience/features/missamerica-beauty-pageant-origins-and-culture/
https://playmakersrep.org/definition-of-a-may-queen/
https://www.bbc.com/culture/article/20200309-can-beauty-pageants-ever-be-empowering
https://aragonoutlook.org/2023/04/beauty-pageants-arent-outdated-theyre-evolving/
https://www.dulwichpicturegallery.org.uk/explore-the-collection/101-150/the-judgement-of-paris/