รีเซต

อาเซียนจะทำอย่างไรดี เมื่อกลายเป็นสาวเนื้อหอม โดย ดร.ไพจิตร วิบูลย์ธนสาร

อาเซียนจะทำอย่างไรดี เมื่อกลายเป็นสาวเนื้อหอม โดย ดร.ไพจิตร  วิบูลย์ธนสาร
TNN ช่อง16
6 กุมภาพันธ์ 2564 ( 13:26 )
142
อาเซียนจะทำอย่างไรดี เมื่อกลายเป็นสาวเนื้อหอม โดย ดร.ไพจิตร  วิบูลย์ธนสาร

        อาเซียนกำลังเป็นสาวเนื้อหอมยิ่ง ก็เกิดคำถามมากมายตามมา จีนจะปรับท่าทีต่ออาเซียนหรือไม่ อย่างไร และอาเซียนและไทยควรทำอย่างไรกับโอกาสในครั้งนี้ ...

        นโยบาย America First ของอดีตประธานาธิบดีโดนัลด์ ทรัมป์ในช่วงหลายปีที่ผ่านมา ทำให้การดำเนินมาตรการทางการค้าของสหรัฐฯ แตกต่างไปจากเดิมมาก 

        ผู้นำแห่งโลกการค้าเสรีอย่างสหรัฐฯ กลับเป็นฝ่ายเปิดเกมส์ทำสงครามการค้ากับจีน ขณะที่จีนกลับนิ่งและตอบโต้อย่างมีเชิง จนสถานะผู้นำโลกดังกล่าวของสหรัฐฯ สั่นคลอน และกลายเป็นภาระหนักอึ้งที่ส่งต่อไปยังประธานาธิบดีโจ ไบเดน จนต้องเร่งปรับโฉมการเดินเกมส์กับอาเซียน ผ่านการปัดฝุ่นนโยบาย “ปักหมุดเอเชีย” เพื่อกลับเข้ามาสร้างอิทธิพลในเอเซียอีกครั้ง

        ปัญหาดูจะสลับซับซ้อนมากขึ้น เมื่อเศรษฐกิจโลกที่เผชิญวิกฤติโควิด-19 อ่อนแอและเปราะบางลง หลายประเทศหันมาให้ความสำคัญกับการผลิตและการบริโภคภายในประเทศ

        ยิ่งเชื้อโควิด-19 ส่อเค้าว่าจะกลายพันธุ์เร็ว ทำให้เราอาจเห็นมาตรการกีดกันทางการค้าในรูปโฉมใหม่จากสหรัฐฯ และอาจขยายวงต่อไปยังประเทศอื่นในอนาคต


        ด้วยสถานการณ์ดังกล่าว ทำให้ผมคิดว่าจีนจะเร่งเดินหน้ายกระดับความร่วมมือกับอาเซียน ทั้งทางตรงและทางอ้อม ดังจะเห็นได้จากท่าทีการสนับสนุนการลงนามในข้อตกลง RCEP ในช่วงปลายปีที่ผ่านมา และการเยือนอาเซียนแบบถ้วนทั่วของหวัง อี้ รัฐมนตรีต่างประเทศจีนในไม่กี่เดือนหลังนี้ 

        เหนือสิ่งอื่นใด ประธานาธิบดีสี จิ้นผิงยังเดินทางเยือนเมียนมาร์อย่างเป็นทางการเมื่อ 17-18 มกราคม ที่ผ่านมาอีกด้วย การเยือนครั้งนี้ถือเป็นทริปแห่งประวัติศาสตร์ที่ฉลองครบรอบ 70 ของการสถาปนาทางการทูตระหว่างจีนและเมียนมาร์ แถมยังเป็นการเยือนเมียนมาร์ครั้งแรกของสี จิ้นผิง และครั้งแรกในรอบเกือบสองทศวรรษของผู้ดำรงตำแหน่งประธานาธิบดีจีน

        จนบางคนคิดไกลไปถึงว่าการยึดอำนาจที่เมียนมาร์เมื่อต้นเดือนกุมภาพันธ์ มีจีนอยู่เบื้องหลังเพื่อล้มกระดานการสานต่อความสัมพันธ์ของรัฐบาลเมียนมาร์ภายใต้การนำของออง ซาน ซู จีกับพรรคเดโมแครตของสหรัฐฯ และไม่ให้การดำเนินโครงการภายใต้ BRI โดยเฉพาะอย่างยิ่งการพัฒนาระเบียงเศรษฐกิจจีน-เมียนมาร์ หยุดชะงักลง 

        ไม่ว่าเหตุการณ์รัฐประหารในเมียนมาร์จะมีต้นสายปลายเหตุเป็นประการใด แต่ผมก็เชื่อมั่นว่า จีนจะยังคงให้ความสำคัญกับการสานสัมพันธ์กับอาเซียน 

        นโยบาย China Plus One จะยังคงดำรงอยู่ ในความพยายามที่ต้องการกระจายความเสี่ยงทางธุรกิจ จีนจะกระจายฐานการผลิตและขยายการลงทุนในต่างประเทศอยู่ต่อไป โดยอาเซียนเป็นหนึ่งในภูมิภาคเป้าหมาย 

        แล้วไทยและอาเซียนควรหาประโยชน์จากการลงทุนของจีนในต่างประเทศอย่างไร หรือจะต้องเตรียมตัวอย่างไรในระยะยาว ...

        กรณีของไทย การกำหนดแคมเปญ Thailand 4.0 และโครงการพัฒนาพื้นที่ระเบียงเศรษฐกิจภาคตะวันออก ที่เราเรียกกันติดปากว่า EEC ถือเป็นการตั้งหลักที่ดี แต่หลายประเทศในอาเซียนต่างก็กำหนดนโยบายและโครงการรองรับที่คล้ายกัน

        เพื่อให้ไทยได้รับประโยชน์จากการนี้อย่างจริงจัง ผมเห็นว่า ไทยควรเร่งดำเนินโครงการให้เกิดเป็นรูปธรรม เราคิดนโยบายและโครงการที่ดีๆ มากมาย แต่ Execution เป็นปัญหาใหญ่ของไทยในช่วงหลายปีที่ผ่านมา 

        ปัญหาส่วนหนึ่งอาจเกิดขึ้นเพราะความขัดแย้งทางการเมืองในสนามใหญ่ระหว่างสหรัฐฯ กับจีนถูกลากมาเชื่อมโยงและกลายเป็นปัญหาที่ฝังรากลึกในประเทศนานนับทศวรรษ

        ไม่ว่ารัฐบาลจะประกาศแคมเปญหรือโครงการที่สวยหรูหรือดีต่อประชาสังคมมากเพียงใด ก็จะมีฝ่ายตรงข้ามที่ค้านแบบหัวชนฝา จนหลายคนรู้สึกว่า จุดยืนและความคิดเห็นแย้งไม่ได้คำนึงถึงผลประโยชน์โดยรวมของการพัฒนาประเทศเป็นที่ตั้ง 


        การแบ่งฝักแบ่งฝ่ายของสื่อและลงลึกถึงมุมมองความคิดของประชาชน ก็ยิ่งทำให้รัฐบาลต้องบริหารประเทศโดย “โยนหินถามทาง” อยู่ตลอด กว่าจะทำอะไรได้สักอย่าง ก็ต้องใช้กำลังกายใจ ความอดทน และทรัพยากรที่มากมายเกินพอดี 

        พอคิดที่อยากจะกำหนดวิสัยทัศน์และโครงการระยะยาวด้วยแล้ว หลายคนก็บอกว่าอย่าเสียเวลาพูดถึงดีกว่า  เพราะคนส่วนใหญ่ในวันนี้ฝันหวานถึงเพียง 15 วันข้างหน้ามากกว่าสิ่งใด ฟังแล้วก็ได้แต่อึ้ง!

        เราจำเป็นต้องตั้งหลักตั้งเป้าที่ดี และใช้ทรัพยากรที่มีอยู่ในการขับเคลื่อนองคาพยพไปในทิศทางและเป้าหมายเดียวกัน ด้วยทรัพยากรที่มีอยู่อย่างจำกัดและการพัฒนาที่ต้องแข่งกับเวลา เราจึงไม่สามารถแบกรับความสูญเสียในทรัพยากรและเวลาไปกับสิ่งที่ไม่เกิดประโยชน์โดยไม่จำเป็นได้อีกต่อไป

        วันนี้รัฐบาลไทยมีภาระใหญ่รออยู่ตรงหน้าหลายด้าน โดยเฉพาะอย่างยิ่งการแก้ไขวิกฤติโควิด-19 ที่ลากเป็นทางยาว และการเร่งฟื้นฟูเศรษฐกิจภายในประเทศหลังปัญหาโควิด-19 จบลง 

        ขณะเดียวกัน รัฐบาลก็มีโจทย์ใหญ่ที่ต้องเร่งหาแนวทางออกรออยู่ข้างหน้า อาทิ การปรับปรุงระบบราชการให้ทันสมัย ไม่ให้ใหญ่เทอะทะ ซึ่งจะกลายเป็นตัวถ่วงการพัฒนาประเทศในอนาคต และการพัฒนาทักษะฝีมือของทรัพยากรมนุษย์ที่กำลังไม่เป็นที่ต้องการ รวมทั้งการพัฒนาโครงสร้างพื้นฐานและสิ่งอำนวยความสะดวกในพื้นที่ EEC ที่เป็นโครงการความหวังแห่งอนาคต

        ดังนั้น หากเราต้องการยิงนกหลายตัวด้วยกระสุนนัดเดียว ก็อาจผันทรัพยากรที่มีอยู่เพื่อให้สอดคล้องกับความต้องการของอุตสาหกรรมใหม่ที่จะเกิดขึ้นอีกมากลงในพื้นที่ ทั้งในแง่ของบุคลากรภาครัฐ แรงงาน และองค์กรที่เกี่ยวข้อง เพื่อพัฒนาระบบนิเวศที่ครบเครื่องอย่างแท้จริง

        ในส่วนของอาเซียน ประเทศสมาชิกควรหันหน้าเข้าหากันและผนึกกำลังทางเศรษฐกิจระหว่างกัน อาเซียนควรเร่งเปิดตลาดและเชื่อมห่วงโซ่อุปทานระหว่างกันให้เกิดเป็นรูปธรรมให้เร็วขึ้น ไทยก็ต้องแทรกตัวเข้าไปเป็นฟันเฟืองสำคัญของระบบ เพื่อพร้อมสำหรับการขยายความร่วมมือไปยังกรอบใหญ่ ไม่ว่าจะเป็น ASEAN+6 และ RCEP ในอนาคต

        การเดินหน้าพัฒนากรอบความร่วมมือ AEC โครงข่ายคมนาคม และอื่นๆ ให้เป็นรูปธรรมเพื่อทวีกำลังปัจจัยการผลิตและโอกาสทางการตลาด เป็นสิ่งที่ควรดำเนินการ แต่ใช่ว่าทุกสิ่งจะเป็นใจ 

        การประกาศว่าจะใช้เวลาจัดระเบียบการเมืองของประเทศ 1 ปีของทหารเมียนมาร์ อาจไม่ทำให้การพัฒนาความร่วมมือในอาเซียนหยุดชะงักนานนัก แต่อาจกระทบต่อเศรษฐกิจในวงกว้างได้

        เมียนมาร์นับว่ามีระดับการพึ่งพาทางเศรษฐกิจกับอาเซียนและจีนที่สูงมากในปัจจุบัน จากข้อมูลของธนาคารโลกพบว่า สิงคโปร์เป็นประเทศที่เข้าไปลงทุนโดยตรงรายใหญ่สุดอันดับแรก ตามมาด้วยจีน ขณะเดียวกัน จีนก็เป็นคู่ค้าอันดับหนึ่งของเมียนมาร์ 


        ขณะที่ไทยก็เป็นพันธมิตรทางเศรษฐกิจที่สำคัญยิ่งของเมียนมาร์ ดังนั้น ในฐานะประเทศที่ใกล้ชิดและมีเส้นพรมแดนกับเมียนมาร์มากที่สุด ไทยควรทำหน้าที่ในการช่วยเชื่อมประสานกับเมียนมาร์ให้แก่อาเซียนในอีกทางหนึ่ง 

        นอกจากนี้ ไทยยังควรระมัดระวังกับ “หางเลข” หากสหรัฐฯ และประเทศพันธมิตรจะประกาศแซงชั่นทางเศรษฐกิจกับเมียนมาร์

        นอกเหนือจากปัญหาภายในกลุ่มแล้ว อาเซียนยังต้องเผชิญกับความท้าทายใหม่ที่กำลังเข้าสู่ช่วงของการเปลี่ยนถ่ายผู้นำเศรษฐกิจโลกอีกครั้ง 

        ในช่วงเวลาเพียง 40 ปีที่ผ่านมา เศรษฐกิจจีนได้ก้าวกระโดดจนเติบใหญ่อย่างไม่เคยเป็นมา ช่องว่างขนาดเศรษฐกิจระหว่างสหรัฐฯ และจีนลดลงเหลือราว 5 ล้านล้านเหรียญสหรัฐฯ เป็นครั้งแรกในประวัติศาสตร์โลกยุคใหม่ จีนกำลังขยับสถานะขึ้นเป็นเศรษฐกิจหมายเลขหนึ่งของโลก และจะเข้าสู่ยุคเรืองรองตลอด 40 ปีในอนาคต 

        ขณะที่เศรษฐกิจของหลายประเทศในสหภาพยุโรปจะเล็กลงเร็วกว่าที่เคยคาดการณ์ไว้ นอกจากนี้ ผู้เล่นหน้าใหม่ อาทิ อินเดียและอินโดนีเซีย จะเข้ามาเป็นหน้าใหม่ในลิสต์ 10 อันดับแรกในปลายทศวรรษนี้ 

        ดังนั้น อาเซียนจึงควรสร้างสมดุลและขยายกรอบความร่วมมือทางเศรษฐกิจกับมหาอำนาจทางเศรษฐกิจในกรอบที่กว้างขวางมากขึ้น ซึ่งจะนำไปสู่การดึงดูดการลงทุนต่างชาติให้เข้ามาในพื้นที่ เชื่อมห่วงโซ่อุปทานภายในกลุ่มกับภายนอกกลุ่มให้มีประสิทธิภาพยิ่งขึ้น และเพิ่มขีดความสามารถในการแข่งขันของสินค้าและบริการ ควบคู่ไปกับการกระจายความเสี่ยงของอาเซียนในเวทีโลก

        หากเราพิจารณาถึงผลประโยชน์ทางเศรษฐกิจของต่างชาติในอาเซียนในภาพรวมก็อาจพบว่า กลุ่มใหญ่กระจุกตัวอยู่กับสหรัฐฯ และพันธมิตร อาทิ สหภาพยุโรป ญี่ปุ่น เกาหลีใต้ ออสเตรเลีย และอินเดีย แถมหลายประเทศในอาเซียนก็ยังมีระดับการพึ่งพาเศรษฐกิจของกลุ่มเดิมนี้อยู่ค่อนข้างสูงอยู่ในปัจจุบัน 

        ขณะที่จีนซึ่งมีความได้เปรียบในด้านภูมิศาสตร์ ก็เชื่อมโยงและยกระดับความร่วมมือทางเศรษฐกิจกับอาเซียนโดยลำดับ จนกลายเป็นพันธมิตรทางการค้าและการลงทุนสำคัญในภูมิภาคได้อย่างรวดเร็ว ผู้เชี่ยวชาญประเมินว่า จีนมีอิทธิพลทางเศรษฐกิจมากกว่าครึ่งในหลายประเทศอาเซียน อาทิ เมียนมาร์ ลาว และกัมพูชา 

        ดังนั้น อาเซียนจึงต้องเป็นอันหนึ่งอันเดียวกัน และเดินเกมส์อย่างระมัดระวังในช่วงเปลี่ยนถ่ายนี้ ผมไม่อยากเห็นอาเซียนเป็นสนามประลองยุทธ์ของมหาอำนาจทั้งหลาย มิฉะนั้นแล้ว หญ้าแพรกอย่างประเทศในอาเซียนจะย่อยยับได้ง่ายๆ

        ขณะเดียวกัน ผู้ประกอบการอาเซียนเองก็ต้องเน้นถึงจุดแข็ง และไม่ลืมที่จะให้ความสำคัญกับการพัฒนาขีดความสามารถในการแข่งขันของตนเองในระดับความเร็วเทียบเท่าจีนหรือผู้นำอื่น เพราะนั่นจะเป็นคำตอบสุดท้ายสำหรับความอยู่รอดของอาเซียนในเวทีโลก ยิ่งอาเซียนแข็งแกร่งก็จะยิ่งเย้ายวนให้ต่างชาติเข้ามาลงทุนในภูมิภาค

        ในทางกลับกัน ไทยและอาเซียนควรคิดที่จะขยายการลงทุนในจีน ไม่เพียงแต่จีนมีตลาดที่ใหญ่และเติบโตอย่างมีเสถียรภาพ รวมทั้งยังจะเปลี่ยนมาใช้กลยุทธ์ “วงจรคู่” ที่ใช้ประโยชน์จากกำลังภายนอกและกำลังภายในไปพร้อมกัน ซึ่งแปลว่าจีนจะเติบโตจากภายในในสัดส่วนที่เพิ่มขึ้นในอนาคต 

        นอกจากนี้ จีนยังมีภาครัฐที่แข็งแกร่ง ภาคเอกชนที่แข็งขัน และภาคประชาชนที่เปิดรับเร็ว จึงมีคุณสมบัติพิเศษของส่วนผสมในการเป็นทั้งผู้ผลิตและผู้บริโภครายใหญ่ของโลกในเวลาเดียวกัน 


        ท่ามกลางวิกฤติโควิด-19 ในปีที่ผ่านมา จีนได้พิสูจน์ให้โลกเห็นถึงขีดความสามารถและศักยภาพของห่วงโซ่อุปทานที่ “เหนียวแน่น” และ “อ่อนตัว” ไปพร้อมกัน

        สายการผลิตในจีนไม่เพียงกลับมาเป็นปกติได้อย่างรวดเร็วเท่านั้น แต่ยังสามารถปรับการผลิตไปตามสถานการณ์ความต้องการที่เปลี่ยนไปอย่างรวดเร็วได้อีกด้วย ส่งผลให้ภาคการผลิตกลายเป็นเครื่องยนต์สำคัญในการรักษาการจ้างงาน พลิกฟื้นเศรษฐกิจ และขยายการส่งออกของประเทศในปีที่ผ่านมา

        นอกจากนี้ อาเซียนยังควรระมัดระวังและเกาะติดพัฒนาการของความร่วมมือทางเศรษฐกิจในแต่ละกลุ่มประเทศที่จะเปลี่ยนแปลงเร็วขึ้น ให้อยู่ในระดับที่เหมาะสมในแต่ละช่วงเวลา การเอียงไปทางจีนในระดับที่สูงอย่างรวดเร็ว อาจทำให้อาเซียนพึ่งพาเศรษฐกิจจีนมากเกินพอดีจนยากจะถอนตัว ซึ่งอาจเพิ่มความเสี่ยงทางเศรษฐกิจในระยะยาว

        ด้วยความใกล้ชิดทางภูมิศาสตร์ และขนาดเศรษฐกิจของจีนดังกล่าว อาเซียนจึงควรใส่ใจกับจีนมากขึ้น อาเซียนและไทยต้องเรียนลัด เชื่อมโยง และใช้ประโยชน์จากการเติบใหญ่ของจีนในหลากหลายมิติ ขณะเดียวกัน ก็ต้องเร่งพัฒนาและร่วมมือเพื่อสร้างความแข็งแกร่งภายในกลุ่ม และเชื่อมโยงกับภายนอกกลุ่มอย่างสมดุล

        หากทำเช่นนั้นได้แล้ว เราก็น่าจะเห็นอาเซียนเติบโตอย่างรวดเร็วในทศวรรษนี้ และเติบใหญ่เป็นภูมิภาคแห่งอนาคตได้อย่างต่อเนื่องในหลายทศวรรษข้างหน้า 

        ความฝันที่เราจะเห็นเอเซียก้าวขึ้นเป็นผู้นำโลกในศตวรรษนี้จึงไม่ไกลเกินฝัน ...  


เกาะติดข่าวที่นี่

website: www.TNNTHAILAND.com
facebook : TNNONLINE
facebook live : TNN Live
twitter : TNNONLINE
Line : @TNNONLINE
Youtube Official : TNNONLINE
Instagram : TNN_ONLINE
TIKTOK : @TNNONLINE

ข่าวที่เกี่ยวข้อง