รีเซต

ไซยาไนด์ คืออะไร? อันตรายแค่ไหน หากถูกพิษมีอาการอย่างไร

ไซยาไนด์ คืออะไร? อันตรายแค่ไหน หากถูกพิษมีอาการอย่างไร
TNN ช่อง16
25 เมษายน 2566 ( 19:43 )
436

ทำความรู้จัก ไซยาไนด์ (Cyanide) อันตรายแค่ไหน แนะวิธีปฐมพยาบาลเบื้องต้นหากได้รับสารพิษ


ไซยาไนด์ (Cyanide) ชื่อนี้คงจะคุ้นหูว่าเป็น “ยาพิษ“  ที่มักใช้กินเพื่อฆ่าตัวตาย ขณะเดียวกันคนส่วนใหญ่ก็ยังไม่เคยเห็นหน้าตาของไซยาไนด์เสียด้วยซ้ำไป จากข่าวที่มีนักโทษพยายามจะระเบิดเรือนจำกลาง จังหวัดขอนแก่นแต่ไม่ประสบความ สำเร็จ จึงพยายามฆ่าตัวตายด้วยการกลืนยาพิษ ซึ่งตอนแรกคาดกันว่าเป็นไซยาไนด์ที่มีการซุกซ่อนไว้ หลังจากที่แพทย์ช่วยชีวิตได้ทัน จึงมีการพิสูจน์ปรากฎว่าเป็นเพียงว่านชนิดหนึ่งเท่านั้น เพราะถ้าเป็นไซยาไนด์จริงแม้เพียงเล็กน้อยก็ถึงแก่ชีวิตได้

สารกลุ่ม ไซยาไนด์  ที่ควรรู้จักมี 2 ตัวคือตัวหนึ่งเป็นของแข็ง เกลือไซยาไนด์ ซึ่งเป็นโซเดียมไซยาไนด์ หรือ โปรแตสเซียม ไซยาไนด์ ส่วนอีกตัวหนึ่งมีสถานะเป็นก๊าซคือ ไฮโดรเจน ไซยาไนด์ ซึ่งเกิดจากปฏิกิริยา เมื่อเอากรด เช่นกรดเกลือ หรือกรดกำมะถัน ผสมกับเกลือไซยาไนด์ 


ประการสำคัญคือ พิษต่อร่างกายไม่ว่าจะเป็นเกลือไซยาไนด์ หรือก๊าซเป็นอันตรายถึงตายได้เหมือนกัน ก๊าซไฮโดรเจนไซยาไนด์ จึงถูกใช้ในการประหารนักโทษระหว่างสงคราม หลายคนอาจจะเคยเห็นในหนังสงคราม มีการใช้ก๊าซตัวนี้พ่นรมศัตรูล้มตายเป็นจำนวนมาก 


อย่างไรก็ตามถ้าพูดถึงประโยชน์ก็มี เช่น ใช้ในอุตสาหกรรมผลิตไนล่อน โดยเฉพาะยาฆ่าแมลง ซึ่งใช้กันอย่างแพร่หลายในปัจจุบัน และมักจะมีการใช้อย่างขาดความระมัดระวังในเรื่องความปลอดภัย นอกจากนั้นยังใช้เพื่อสังเคราะห์สารเคมีอื่น ๆ ที่จะนำไปใช้ประโยชน์ต่อไป 


ขณะที่ในเหมืองทองมีการใช้ไซยาไนด์ในกระบวนการสกัดทอง เป็นต้น เกลือไซยาไนด์ละลายน้ำได้ดี ส่วนก๊าซนั้นก็ละลายในน้ำได้ดีเช่นกัน ไวต่อปฏิกิริยากับตัวออกซิไดซ์ อาจระเบิดได้เมื่อถูกความร้อนหรือเปลวไฟ สำหรับชื่ออื่นของก๊าซไฮโดรเจนไซยาไนด์ ที่ใช้เรียกกันก็มี กรดไฮโดรไซยาไนด์ และ กรด ปรัสซิก เป็นต้น 


อาการของพิษเฉียบพลันของไซยาไนด์คือ 

หายใจติดขัด ชักและหมดสติ อวัยวะที่ถูกกระทบคือระบบประสาทส่วนกลาง ตับ ไต และระบบหัวใจ


อาการไม่รุนแรง
-กล้ามเนื้อล้า แขนขารู้สึกหนัก
-หายใจลำบาก
-ปวดหัว รู้สึกมึน ๆ วิงเวียน
-คลื่นไส้ อาเจียน
-ลมหายใจมีกลิ่นอัลมอนด์จาง ๆ
-รู้สึกระคายเคืองคัน ๆ ที่จมูก คอ ปาก

อาการรุนแรง
-คลื่นไส้อาเจียนอย่างรุนแรงกว่า
-หายใจลำบาก
-ชักหมดสติ
-เสียชีวิต


การดูแลรักษา
-ปฐมพยาบาล กรณีสารเคมีรั่วไหล นำผู้ป่วยออกจากจุดเกิดเหตุให้เร็วที่สุด ให้อยู่ในที่อากาศถ่ายเท ถอดเสื้อผ้าออก ล้างตัวด้วยน้ำเปล่าให้มากที่สุด ถ้าเข้าตาให้ทำการล้างตาด้วย สังเกตสัญญาณชีพ ใส่ท่อช่วยหายใจถ้าไม่หายใจ ให้ออกซิเจนเสริม
-การรักษาระยะเฉียบพลัน ทำการล้างตัว (decontamination) ทั้งที่จุดเกิดเหตุและที่โรงพยาบาล ช่วยการหายใจ ให้ออกซิเจน
-การสูดดมสาร amyl nitrile ยังไม่ชัดเจนว่าสามารถช่วยต้านพิษของ ไซยาไนด์ได้หรือไม่ เนื่องจาก การสูดดมเมื่อ amyl nitrile เข้าสู่ร่างกายจะจับกับ Hemoglobin (เช่นเดียวกับ Sodium nitrile) กลายเป็น methemoglobin แล้วจะแย่งจับกับ Cyanide ในกระแสเลือดเป็น Cyanomethemoglobin และเมื่อได้รับ Sodium thiosulfate จึงจะช่วยขับ Cyanide ออกจากร่างกายได้ แต่ตัว Methemoglobin เองก็เป็นพิษต่อร่างกายเช่นกัน

ถ้าไปพบคนกำลังแย่เพราะไซยาไนด์อยู่ตรงหน้า ความเร็วเป็นสิ่งสำคัญที่สุด ถ้าเป็นการกินเข้าไปก็ต้องส่งเข้าโรงพยาบาลล้างท้องเร็วที่สุด ถ้าเป็นก๊าซไซยาไนด์ ก็ต้องพาออกไปให้พ้นจากบริเวณที่มีก๊าซให้เร็วที่สุด ถ้าเสื้อผ้าหรือผิวหนังเปื้อนสารไซยาไนด์ก็ให้ล้างออกด้วยน้ำสะอาด ที่สำคัญคือคนช่วยต้องระวังตัวมาก ๆ อย่าสูดลมหายใจของผู้ป่วยเข้าไปเป็นอันขาด แล้วเรียกรถพยาบาลมาด้วย


ภาพจาก Drama-addict

 


ขณะที่เพจเฟซบุ๊ก Drama-addict ได้เผยข้อมูลว่า "อาการของคนที่ถูกพิษจากไซยาไนด์ ผู้ป่วยมักจะเริ่มปรากฏมีอาการหลังจากได้ไซยาไนด์ในเวลาสั้นๆ เริ่มจากปวดศีรษะ ใจสั่น หน้าแดง หมดสติ ชัก และอาจจะเสียชีวิตภายในเวลา 10 นาที ในรายที่รุนแรงน้อยกว่าจะกดการทำงานของระบบประสาทและการหายใจ ภาวะเป็นกรดในเลือด จะปรากฏให้เห็นในเวลาต่อมา ตรวจร่างกายพบผู้ป่วยตัวแดง สีบริเวณเยื่อบุแดงคล้ายคนปกติ ถึงแม้ว่าผู้ป่วยหยุดหายใจก็ตาม

ลักษณะเฉพาะของคนที่ถูกพิษไซยาไนด์ ที่มักอ่านเจอในโคนัน คือกลิ่นอัลมอนด์ หรือ กลิ่นถั่วไหม้ เป็นลักษณะที่ไม่ได้พบในผู้ป่วยจากพิษไซยาไนด์ทุกราย และมีเพียง 40% ของประชากร ที่สามารถดมและแยกแยะกลิ่นนี้ได้"




ที่มา กองห้องปฏิบัติการสาธารณสุขกรมอนามัย / wikipedia.
ภาพประกอบข่าว กองห้องปฏิบัติการสาธารณสุขกรมอนามัย / TNN Online





ข่าวที่เกี่ยวข้อง