รีเซต

เฮอริเคนอาจมีถึงระดับ 6 เมื่อโลกแปรปรวนหนัก ส่งผลให้พายุรุนแรงและถี่ขึ้น

เฮอริเคนอาจมีถึงระดับ 6 เมื่อโลกแปรปรวนหนัก ส่งผลให้พายุรุนแรงและถี่ขึ้น
TNN ช่อง16
13 ตุลาคม 2567 ( 14:14 )
32

แม้พายุ “มิลตัน” ถูกมองว่า เป็นพายุที่มีก่อตัวเร็วที่สุดเป็นประวัติการณ์ และรุนแรงในระดับ 5 ซึ่งเป็นระดับความรุนแรงสูงสุดของพายุเฮอริเคน ตามมาตราเฮอริเคนแซฟเฟอร์–ซิมป์สัน แต่ระยะหลังหลายประเทศเผชิญกับพายุที่ถี่และรุนแรงมากขึ้น จนผู้เชี่ยวชาญมองว่า หรือว่าโลกของเราต้องเพิ่มความรุนแรงระดับที่ 6 เข้ามาในตาราง 


---พายุ “มิลตัน” แรงสุดในรอบปี---


เฮอริเคน “มิลตัน” ใช้เวลาเพียงแค่ 2 วันเท่านั้น ที่ก่อตัวจากพายุดีเปรสชั่นเขตร้อนสู่พายุรุนแรงระดับ 5 ด้วยความเร็วสูงสุด 285 กิโลเมตรต่อชั่วโมง ส่งผลให้รัฐบาลสหรัฐฯ ต้องเตรียมรับมือ และประกาศอพยพประชาชน เมื่อคาดว่า พายุลูกนี้จะส่งผลร้ายแรงถึงชีวิต 


“พายุลูกใหญ่ที่ก่อตัวพัฒนาตามลำดับไม่ใช่เรื่องผิดปกติเท่าไหร่ แต่สิ่งที่ไม่เคยเกิดขึ้นมาก่อน คือ พายุเฮอริเคนลูกใหญ่ 2 ลูก มุ่งเป้าไปที่รัฐเดียวกันภายในเวลาแค่ 2 สัปดาห์เท่านั้น...นี่คือระยะเวลาที่เร็วสุดในประวัติศาสตร์ที่เฮอริเคนลูกใหญ่ 2 ลูก ถล่มรัฐฟลอริดา” ไรอัน ทรูเชลุต หัวหน้านักอุตุนิยมวิทยา และผู้ร่วมก่อตั้งเว็บไซต์ติดตามสภาพอากาศ WeatherTiger ให้สัมภาษณ์กับ Live Science


ไม่กี่สัปดาห์ก่อนหน้านี้ พายุเฮอริเคน “เฮลีน” ซึ่งมีความรุนแรงระดับ 4 ก็พึ่งถล่มฟลอริดาไป ส่งผลให้มีผู้เสียชีวิตทะลุ 230 ราย และคาดว่าสร้างความเสียหายมูลค่าสูงสุดทั้ง 16 รัฐ รวม 4.75 หมื่นล้านดอลลาร์สหรัฐ หรือราว 1.58 ล้านล้านบาท 


ทั้งนี้ หลังเฮอริเคนระดับ 5 อย่าง “มิลตัน” ถล่มฟลอริดา ส่งผลให้มีผู้เสียชีวิตแล้วอย่างน้อย 16 ราย คาดว่า ตัวเลขจะเพิ่มขึ้นอีก ไฟฟ้าดับราว 3.2 ล้านหลังทั่วฟลอริดา ทั่วทั้งเมืองจมอยู่ใต้น้ำ หลังฝนตกหนักสูงสุด 45 เซนติเมตร โดยตัวเลขความเสียหายภาพรวมยังไม่สามารถประเมินได้ 


---โลกร้อนทำพายุรุนแรงขึ้น---


อย่างที่ทราบกันดีว่า โลกร้อนเป็นส่วนหนึ่งที่ทำให้สภาพอากาศแปรปรวนมากขึ้น ก่อให้เกิดภัยพิบัติถี่และเลวร้ายยิ่งขึ้น ปัจจุบันการวัดระดับความเร็วลมคงที่ของพายุจะมีขีดจำกัดอยู่ โดยเราจะเรียกกันว่า “ความรุนแรงสูงสุดที่อาจเกิดขึ้น” (maximum potential intensity) โดยความรุนแรงสูงสุดที่อาจเกิดขึ้นของพายุ ณ ตอนนี้ จะอยู่ที่ราว 322 กิโลเมตรต่อชั่วโมง 


แต่ความรุนแรงในระดับสูงสุดนั้น อาจจะเปลี่ยนไปได้ในอีกหลาย 10 ปีข้างหน้า เนื่องจากอุณหภูมิน้ำในมหาสมุทรที่สูงขึ้น และการเปลี่ยนแปลงของสภาพภูมิอากาศ นอกจากนี้ แนวโน้มการเกิดพายุรุนแรงได้เพิ่มขึ้นในช่วง 30 ปีที่ผ่านมา 


เคอร์รี เอ็มมานูเอล ศาสตราจารย์เกียรติคุณ สาขาวิชาวิทยาศาสตร์บรรยากาศ แห่ง MIT เผยว่า นับตั้งแต่ปี 2013 มีพายุที่มีความเร็วลมเกิน 309 กิโลเมตรต่อชั่วโมงแล้วทั้งหมด 5 ลูกด้วยกัน 


“ผมคิดว่า ภายในสิ้นศตวรรษนี้ ถ้าเราไม่จัดการอะไรสักอย่าง ความเร็วลมพายุอาจแตะเข้าใกล้ถึง 354 กิโลเมตรต่อชั่วโมง” เอ็มมานูเอล กล่าว 


ด้านเจมส์ คอสซิน ที่ปรึกษาหน่วยงานสร้างแบบจำลองความเสี่ยงด้านสภาพภูมิอากาศแห่ง First Street กล่าวว่า การคำนวณขีดจำกัดความเร็วลมของพายุเฮอริเคนค่อนข้างง่าย 


“เชื้อเพลิงของพายุเฮอริเคนคือ ความร้อนที่พวกมันดูดขึ้นมาจากมหาสมุทร ยิ่งถ้าน้ำร้อนมาก ความเร็วของพายุก็จะมากขึ้นไปด้วย” คอสซิน กล่าว 


นอกจากนี้ ปัจจัยอื่นก็ช่วยกำหนดความรุนแรงสูงสุดที่อาจเกิดขึ้น เช่น ความร้อนในบรรยากาศ, อุณหภูมิของยอดเมฆ และแรงลมเฉือน 


ขณะที่ น้ำในมหาสมุทรและบรรยากาศโลกร้อนขึ้น พายุก็แข็งแกร่งขึ้นด้วยเช่นกัน ในปี 2020 คอสซินและเพื่อนร่วมงานของเขา รายงานว่า สัดส่วนของพายุเฮอริเคนที่มีความเร็วลมตั้งแต่ 180 กิโลเมตร เพิ่มขึ้น 8% ต่อทศวรรษ ตั้งแต่ปี 1979-2017 


นั่นหมายความว่า อากาศที่ร้อนและรุนแรงขึ้นเรื่อย ๆ จะทำให้พายุที่มีความเร็วเข้มข้น อย่าง “มิลตัน” กลายเป็นพายุระดับปกติของโลกได้ในอนาคต 


 ---ความแรงสูงสุดระดับ 5 อาจไม่พอ---


การจัดระดับความรุนแรงของพายุเฮอริเคน จะใช้มาตราเฮอริเคนแซฟเฟอร์–ซิมป์สันเป็นการแบ่งระดับ ซึ่งมีทั้งหมด 5 ระดับ ดังนี้ 


ระดับ 1 มีความเร็วลมระหว่าง 119-153 กิโลเมตรต่อชั่วโมง

ระดับ 2 มีความเร็วลมระหว่าง 154-177 กิโลเมตรต่อชั่วโมง

ระดับ 3 มีความเร็วลมระหว่าง 178-208 กิโลเมตรต่อชั่วโมง

ระดับ 4 มีความเร็วลมระหว่าง 209-251 กิโลเมตรต่อชั่วโมง

ระดับ 5 มีความเร็วลมตั้งแต่ 252 กิโลเมตรต่อชั่วโมงขึ้นไป


แต่ระดับเฮอริเคนที่รุนแรงขึ้นในช่วงไม่กี่ปีที่ผ่านมา กระตุ้นให้คอสซิน และไมเคิล เวเนอร์ จากห้องปฏิบัติการแห่งชาติ Lawrence Berkeley และเป็นเพื่อนร่วมงานของเขา เสนอว่า มาตราเฮอริเคนแซฟเฟอร์–ซิมป์สัน อาจจำเป็นต้องมีมาตรวัดความรุนแรงของเฮอริเคนระดับที่ 6 ขึ้น ซึ่งกำหนดว่า เป็นพายุที่มีความเร็วลมมากกว่า 308 กิโลเมตรต่อชั่วโมง 


ทีมวิจัยระบุด้วยว่า มีพายุทั้งหมด 5 ลูก ที่มีคุณสมบัติเป็นพายุรุนแรงระดับ 6 ได้แก่ ไต้ฝุ่นไห่เยี่ยน ปี 2013, เฮอริเคนแพทริเซีย ปี 2015, ไต้ฝุ่นเมอรันติ ปี 2016, ไต้ฝุ่นโกนี ปี 2020 และไต้ฝุ่นซูรีแก ปี 2021 โดยเฮอริเคนแพทริเซีย เป็นพายุที่มีความรุนแรงมากสุดในประวัติศาสตร์ และเป็นพายุลูกเดียวที่มีความเร็วลมมากกว่า 200 ไมล์ต่อชั่วโมง หรือ 354 กิโลเมตรต่อชั่วโมง 


นอกจากนี้ ทีมวิจัยกำลังพิจารณาพายุเฮอริเคน ที่อาจเข้าข่ายตามทฤษฎีของพายุระดับ 7 ด้วยความเร็วลมมากกว่า 368 กิโลเมตรต่อชั่วโมง แต่การคำนวณของพวกเขาแสดงให้เห็นว่า ปัจจุบันมีความเสี่ยงเล็กน้อยที่จะเกิดพายุรุนแรงในระดับนั้น


“ไม่มีใครรู้จริง ๆ ว่า ความเร็วลมของพายุเฮอริเคนสามารถสูงสุดได้เท่าไหร่ หากอุณหภูมิน้ำยังคงสูงขึ้นเรื่อย ๆ” เวเนอร์ กล่าว 


“สมมติว่าโลกเราร้อนขึ้นแตะถึง 4 องศาเซลเซียส ความเร็วลมสูงสุดอาจจะสูงมากกว่า 308 กิโลเมตรต่อชั่วโมง” เขา กล่าว 

————-

แปล-เรียบเรียง: พรวษา ภักตร์ดวงจันทร์

แหล่งข้อมูลอ้างอิง: 

https://www.livescience.com/planet-earth/hurricanes/how-strong-can-hurricanes-get

https://www.livescience.com/planet-earth/hurricanes/hurricane-milton-is-tied-for-the-fastest-forming-category-5-hurricane-on-record-it-could-become-the-new-normal

https://www.aljazeera.com/news/2024/10/9/hurricane-milton-what-does-a-category-5-storm-look-like

https://www.aljazeera.com/news/2024/10/3/hurricane-helene-death-toll-us-climbs-200

https://theconversation.com/how-hurricane-helene-became-a-deadly-disaster-across-six-states-240522

ข่าวที่เกี่ยวข้อง