รีเซต

THAI เผย Q1/65 ขาดทุนลดลงอยู่ที่ 3.25 พันลบ. เปิดเส้นทางบินใหม่

THAI เผย Q1/65 ขาดทุนลดลงอยู่ที่ 3.25 พันลบ. เปิดเส้นทางบินใหม่
ทันหุ้น
17 พฤษภาคม 2565 ( 09:51 )
77

#THAI #ทันหุ้น-บริษัท การบินไทย จำกัด(มหาชน) หรือ THAI ประกาศผลดำเนินงานไตรมาส 1/65 ขาดทุน 3,246.81 ล้านบาท ซึ่งลดลงจากช่วงเดียวกันปีก่อน ที่ขาดทุน 12,202.50 ล้านบาท ขณะที่บริษัทเพิ่มความถี่เที่ยวบินและเปิดบริการเส้นทางบินใหม่เต็มกำลังการผลิต ยกระดับคุณภาพผลิตภัณฑ์และบริการต่อเนื่องรองรับการฟื้นตัวของปริมาณความต้องการเดินทางทั่วโลก

 

บริษัท การบินไทย จำกัด (มหาชน) ประกาศผลการดำเนินงานไตรมาส 1 ประจำปี 2565 โดยบริษัทฯ และบริษัทย่อยมีรายได้ไม่รวมรายการที่เกิดขึ้นครั้งเดียวรวม 11,181 ล้านบาท สูงกว่าปีก่อน 6,797 ล้านบาท (155%) เนื่องจากรายได้จากการขนส่งผู้โดยสารและสินค้าเพิ่มขึ้น 6,719 ล้านบาท  หรือ 255.7%  มีค่าใช้จ่ายในการดำเนินงานไม่รวมรายการที่เกิดขึ้นครั้งเดียวรวม 14,348 ล้านบาท สูงกว่าปีก่อน 2,967 ล้านบาท จากปริมาณการผลิตและ/หรือปริมาณการขนส่งที่เพิ่มขึ้น รวมถึงราคาน้ำมันที่ปรับตัวสูงขึ้น ส่งผลให้ขาดทุนจากการดำเนินงานก่อนต้นทุนทางการเงินไม่รวมรายการที่เกิดขึ้นครั้งเดียว 3,167 ล้านบาท ขาดทุนลดลงจากปีก่อน 3,830 ล้านบาท หรือ 54.7% 

 

บริษัทฯ และบริษัทย่อย มีผลการดำเนินงานขาดทุนสุทธิในไตรมาสที่ 1 ปี 2565 จำนวน 3,243 ล้านบาท ขาดทุนลดลงจากไตรมาสเดียวกันของปีก่อน 8,962 ล้านบาท โดยเป็นขาดทุนสุทธิส่วนที่เป็นของบริษัทใหญ่ 3,247 ล้านบาท คิดเป็นขาดทุนต่อหุ้น 1.49 บาท ในขณะที่ในไตรมาสที่ 1 ปี 2564 ขาดทุน 12,202.50 ล้านบาท คิดเป็นขาดทุนต่อหุ้น 5.59 บาท

 

ณ วันที่ 31 มีนาคม 2565 บริษัทฯ และบริษัทย่อยมีสินทรัพย์รวมจำนวน 162,423 ล้านบาท เพิ่มขึ้นจากวันที่ 31 ธันวาคม 2564 จำนวน 1,204 ล้านบาท หนี้สินรวมมีจำนวน 236,909 ล้านบาท เพิ่มขึ้นจำนวน 4,439 ล้านบาท โดยมีส่วนของผู้ถือหุ้นของบริษัทฯ และบริษัทย่อยติดลบจำนวน 74,486 ล้านบาท ติดลบเพิ่มขึ้นจำนวน 3,235 ล้านบาท โดยเป็นผลจากการขาดทุนจากการดำเนินงานของบริษัทฯ และบริษัทย่อย

 

**ปริมาณผู้โดยสารเริ่มดีขึ้น

 

ในช่วงไตรมาสที่ 1 ต่อเนื่อง 2 เดือนแรกของไตรมาสที่ 2 ของปี 2565 ปริมาณความต้องการเดินทางของผู้โดยสารมีการเติบโตต่อเนื่องอย่างมีนัยสำคัญ เป็นผลจากการที่รัฐบาลนำมาตรการ Test and Go กลับมาใช้ ดังจะเห็นได้จากจำนวนผู้โดยสารรวมเฉลี่ยของบริษัทฯ และสายการบินไทยสมายล์ในช่วง 10 วันแรกของเดือนพฤษภาคม 2565 เปรียบเทียบกับเดือนตุลาคม 2564 ปรับตัวเพิ่มขึ้นเป็น 10,238 และ 10,870 คนต่อวันจาก 4,929 และ 269 คนต่อวัน สำหรับเส้นทางภายในประเทศและระหว่างประเทศตามลำดับ ขณะที่ปริมาณการขนส่งสินค้าเฉลี่ยต่อวันของบริษัทฯ กลับไปอยู่ในระดับ 50%  ของปี 2562 ก่อนการแพร่ระบาดของเชื้อไวรัสโควิด-19 

 

ตั้งแต่ไตรมาสที่ 2 ของปี 2565 เป็นต้นไป การบินไทยและสายการบินไทยสมายล์ปรับเพิ่มความถี่เที่ยวบินไป-กลับในเส้นทางต่างๆ เพื่อรองรับปริมาณความต้องการเดินทางของผู้โดยสารทั่วโลกที่มีแนวโน้มฟื้นตัวอย่างรวดเร็วอันเป็นผลจากสถานการณ์การแพร่ระบาดของเชื้อไวรัสโควิด-19 ที่เริ่มคลี่คลาย รัฐบาลประเทศต่างๆ ทั่วโลกทยอยยกเลิกหรือผ่อนคลายมาตรการควบคุมและจำกัดการเดินทางเพิ่มขึ้น โดยในส่วนของประเทศไทย ตั้งแต่วันที่ 1 พฤษภาคม 2565 ที่ผ่านมา รัฐบาลได้ยกเลิกมาตรการการตรวจหาเชื้อไวรัสโควิด-19 เมื่อเดินทางเข้าประเทศสำหรับผู้โดยสารที่ได้รับวัคซีนครบตามเกณฑ์ และตรวจ RT-PCR ในวันที่ 4-5 หลังจากเดินทางมาถึงสำหรับผู้โดยสารที่ยังไม่ได้รับวัคซีนหรือได้รับแต่ยังไม่ครบตามเกณฑ์ ดังมีรายละเอียดเส้นทางบินที่มีการปรับเพิ่มความถี่และเปิดให้บริการใหม่ดังนี้

 

เส้นทางบินที่ปรับเพิ่มความถี่ในการให้บริการ

- เชนไน (อินเดีย) จาก 5 เป็น 7 เที่ยวบินต่อสัปดาห์ ตั้งแต่ 1 เมษายน 2565

- เบงกาลูรู (อินเดีย) จาก 5 เป็น 7 เที่ยวบินต่อสัปดาห์ ตั้งแต่ 1 เมษายน 2565

- นิว เดลี  จาก 7 เป็น 14 เที่ยวบินต่อสัปดาห์ ตั้งแต่ 1 เมษายน 2565

- มุมไบ  จาก 5 เป็น 7 เที่ยวบินต่อสัปดาห์ ตั้งแต่ 1 เมษายน 2565

- ละฮอร์ (ปากีสถาน) จาก 3 เป็น 4 เที่ยวบินต่อสัปดาห์ ตั้งแต่ 1 พฤษภาคม 2565

- การาจี  จาก 2 เป็น 3 เที่ยวบินต่อสัปดาห์ ตั้งแต่ 1 พฤษภาคม 2565 

- อิสลามาบัด จาก 2 เป็น 3 เที่ยวบินต่อสัปดาห์ ตั้งแต่ 1 พฤษภาคม 2565

- ฮานอย  จาก 7 เป็น 14 เที่ยวบินต่อสัปดาห์ ตั้งแต่ 1 พฤษภาคม 2565 

- โฮจิมินห์  จาก 7 เป็น 14 เที่ยวบินต่อสัปดาห์ ตั้งแต่ 1 พฤษภาคม 2565

- พนมเปญ จาก 7 เป็น 14 เที่ยวบินต่อสัปดาห์ ตั้งแต่ 1 พฤษภาคม 2565

- เมลเบิร์น  จาก 4 เป็น 7 เที่ยวบินต่อสัปดาห์ ตั้งแต่ 17 พฤษภาคม 2565

- ลอนดอน  จาก 11 เป็น 14 เที่ยวบินต่อสัปดาห์ ตั้งแต่ 29 พฤษภาคม 2565

- จาการ์ตา จาก 3 เป็น 7 เที่ยวบินต่อสัปดาห์  ตั้งแต่ 1 มิถุนายน 2565

- ธากา (บังคลาเทศ) จาก 7 เป็น 10 เที่ยวบินต่อสัปดาห์ ตั้งแต่ 1 มิถุนายน 2565

- แฟรงก์เฟิร์ต จาก 10 เป็น 14 เที่ยวบินต่อสัปดาห์ ตั้งแต่ 25 มิถุนายน 2565

- ไทเป  จาก 4 เป็น 7 เที่ยวบินต่อสัปดาห์ ตั้งแต่ 1 กรกฎาคม 2565

- สิงคโปร์  จาก 10 เป็น 14 เที่ยวบินต่อสัปดาห์  ตั้งแต่ 1 กรกฎาคม 2565

- โคเปนเฮเกน จาก 5 เป็น 7 เที่ยวบินต่อสัปดาห์ ตั้งแต่ 1 กรกฎาคม 2565

- มิวนิก   จาก 5 เป็น 7 เที่ยวบินต่อสัปดาห์ ตั้งแต่ 1 กรกฎาคม 2565

- ซูริก  จาก 5 เป็น 7 เที่ยวบินต่อสัปดาห์ ตั้งแต่ 1 กรกฎาคม 2565

 

เส้นทางบินที่เปิดให้บริการเพิ่มเติม ได้แก่ 

- ปีนัง  4 เที่ยวบินต่อสัปดาห์  ตั้งแต่ 1 พฤษภาคม 2565

- เวียงจันทน์  3 เที่ยวบินต่อสัปดาห์  ตั้งแต่ 1 พฤษภาคม 2565

- บาหลี (เดนปาซาร์) 4 เที่ยวบินต่อสัปดาห์  ตั้งแต่ 1 พฤษภาคม 2565

  เพิ่มเป็น 7 เที่ยวบินต่อสัปดาห์ ตั้งแต่ 18 มิถุนายน 2565

- ไฮเดอราบัด วันละ 1 เที่ยวบิน  ตั้งแต่ 13 พฤษภาคม 2565

- ย่างกุ้ง  วันละ 1 เที่ยวบิน  ตั้งแต่ 1 มิถุนายน 2565

- โตเกียว (ฮาเนดะ) วันละ 1 เที่ยวบิน  ตั้งแต่ 1 กรกฎาคม 2565

- เกาสง (ไต้หวัน) วันละ 1 เที่ยวบิน  ตั้งแต่ 1 กรกฎาคม 2565

- บรัสเซลส์ 3 เที่ยวบินต่อสัปดาห์  ตั้งแต่ 2 กรกฎาคม ถึง 30 สิงหาคม 2565

 

นอกจากการปรับเพิ่มความถี่เที่ยวบินและการเปิดให้บริการเส้นทางบินใหม่จากท่าอากาศยานสุวรรณภูมิข้างต้นแล้ว สายการบินไทยสมายล์ยังจะเปิดทำการบินในเส้นจากท่าอากาศยานดอนเมืองไปกลับจังหวัดภูเก็ต จำนวน 14 เที่ยวบินต่อสัปดาห์ตั้งแต่วันที่ 20 พฤษภาคม 2565 เป็นต้นไปอีกด้วย

 

ในขณะเดียวกัน บริษัทฯ ได้ดำเนินการปรับปรุงการบริการเพื่อมอบประสบการณ์ลูกค้าที่เหนือระดับอย่างต่อเนื่อง อาทิ การให้บริการห้องโดยสารชั้นหนึ่งในเที่ยวบิน TG910/911 ในเส้นทางลอนดอน และ TG600/601 ในเส้นทางฮ่องกง ด้วยเครื่องบินแบบ Boeing 777-300ER ลำใหม่ ด้วยที่นั่งที่กว้างขวางขึ้น จอภาพที่ใหญ่ขึ้น และระบบสื่อสาระบันเทิงที่ครบครันกว่าพันรายการ พร้อมรังสรรค์เมนูอาหารนานาชาติ ที่ผลิตด้วยวัตถุดิบที่มีคุณภาพสูง รสเลิศ พร้อมทั้งรายการเครื่องดื่มที่หลากหลายมากขึ้น จัดเตรียมไว้ต้อนรับผู้โดยสาร ในเที่ยวบินดังกล่าว อีกทั้งมีการปรับปรุงเมนู และการให้บริการอาหารสำหรับผู้โดยสารชั้นธุรกิจ อาทิเช่นการเพิ่ม อาหารเรียกน้ำย่อย (Amuse-bouche) และเมนูอาหารว่างระหว่างเที่ยวบิน (All Day Dining) โดยมีการนำเมนูสตรีทฟู้ด ยอดนิยมของไทย เช่นผัดไทยเส้นจันท์  และข้าวเหนียวมะม่วง มาให้บริการในเส้นทางยุโรป เป็นต้น พร้อมกันนี้ผู้โดยสารในชั้นหนึ่ง ชั้นธุรกิจ และสมาชิกบัตรแพลทตินัม และบัตรทอง รอยัล ออร์คิด พลัส สามารถเลือกอาหารล่วงหน้าได้ก่อนเดินทางผ่านบริการ Pre Select Meal ที่เว็บไซต์ thaiairways.com

 

ในฐานะสายการบินแห่งชาติ การบินไทย มุ่งมั่นสนับสนุน สินค้าแบรนด์ไทยและเกษตรกรชาวไทยในการใช้วัตถุดิบภายในประเทศ เพื่อช่วยสร้างงานเสริมอาชีพ เช่น มีการร่วมมือกับโครงการพัฒนาดอยตุงอันเนื่องมาจากพระราชดำริ นำกาแฟดอยตุงที่คั่วเป็นพิเศษสำหรับการบินไทยมาให้บริการในชั้นหนึ่ง และชั้นธุรกิจ และยังสนับสนุนผู้ประกอบการรายย่อยที่ผลิตสินค้าที่มีคุณภาพเช่น มีการนำช็อคโกแลต กานเวลา ช็อคโกแลตแบรนด์ไทยที่ได้รางวัลระดับโลกมาให้บริการในชั้นหนึ่งและชั้นธุรกิจ ด้วยเช่นเดียวกัน 

 

นอกจากนี้ บริษัทกำลังจะนำบริการเชื่อมต่ออินเตอร์เน็ต (Inflight Wi-Fi) กลับมาให้บริการ พร้อมนำเสนอระบบหนังสือดิจิทัล (e-Reading Platform) สำหรับผู้โดยทุกชั้นบริการในเร็วๆนี้ เพื่อความสะดวกสบายและสร้างประสบการณ์การเดินทางที่ประทับใจ และยังได้เพิ่มขีดความสามารถในการรองรับการให้บริการแก่ผู้โดยสาร ทั้งในส่วนของสำนักงานบัตรโดยสารและเคาท์เตอร์เช็คอิน ฯลฯ  

 

ทิศทางการฟื้นตัวของปริมาณความต้องการเดินทางและขนส่งสินค้าข้างต้นที่ทำให้บริษัทฯ มีการเติบโตด้านรายได้อย่างต่อเนื่อง ส่งผลให้สภาพคล่องของบริษัทฯ ในปัจจุบันอยู่ในระดับสูงที่สุดนับตั้งแต่ศาลล้มละลายกลางมีคำสั่งเห็นชอบด้วยแผนฟื้นฟูกิจการของบริษัทฯ เมื่อวันที่ 15 มิถุนายน 2564 เป็นต้นมา

 

ข่าวที่เกี่ยวข้อง