หมวกนิรภัย “ม่านอากาศ” กันเชื้อโรค 99.8% ไม่ง้อหน้ากากอนามัย
หมวกนิรภัย “ม่านอากาศ” สุดล้ำนี้เป็นผลงานจากมหาวิทยาลัยมิชิแกน (University of Michigan) ในสหรัฐฯ นำทีมโดยรองศาสตรจารย์เฮเร็ก แคล็ก (Herek Clack) ซึ่งในปัจจุบันกำลังอยู่ในกระบวนการเชิงพาณิชย์ผ่านบริษัททาซา อายา (Taza Aya) ซึ่งเป็นบริษัทลูกที่แยกออกมา
เครื่องมือดังกล่าวดูเผิน ๆ อาจคล้ายหมวดนิรภัยทั่วไป แตกต่างที่ขอบของหมวกจะมีหัวฉีดอากาศที่ก่อให้เกิด “ม่านอากาศ” ที่ทำหน้าที่เสมือนหน้ากากอนามัยล่องหนป้องกันเชื้อโรคตั้งแต่บริเวณหูฝั่งซ้ายไปยังหูฝังขวา หัวฉีดอากาศนี้จะต่อกับท่อที่เชื่อมเข้ากับระบบจัดการอากาศ (air handling system) สะพายหลังซึ่งผู้คนสามารถสวมใส่ขณะทำงานได้
อุปกรณ์สะพายหลังนี้มีน้ำหนักประมาณ 4.5 กิโลกรัม ซึ่งนอกจากจะมีระบบจัดการอากาศ ยังมีเทคโนโลยีพลาสมาเย็น (Cold plasma) ซึ่งเป็นเทคโนโลยีที่มักใช้ในอุตสาหกรรมอาหารแปรรูปที่ไม่ใช้ความร้อน ด้วยการทำให้ก๊าซแตกตัวเป็นไอออนที่อุณหภูมิต่ำและสามารถทำลาย เชื้อโรค เชื้อจุลินทรีย์ รวมถึงสปอร์ของจุลินทรีย์ได้อย่างมีประสิทธิภาพ จึงเชื่อว่าหมวกนิรภัยนี้จะสามารถฆ่าเชื้อไวรัสในอากาศได้เช่นกัน
โดยเปิดใช้งานอุปกรณ์ หัวฉีดอากาศจะสร้างม่านอากาศกันเชื้อโรค ป้องกันใบหน้าของผู้สวมใส่ตั้งแต่บริเวณกระบังหน้าของหมวกลงมาสู่ด้านล่างโค้งไปตามขอบของหมวก โดยการทดสอบจากหน่วยงานภายนอกแสดงให้เห็นว่า แม้ว่าอากาศนั้นจะไม่ถูกฆ่าเชื้อ แต่มันป้องกันไม่ให้ละอองลอย (Aerosols) รวมถึงไวรัส เข้าถึงใบหน้าของผู้สวมใส่ได้ถึง 99.8% และคาดว่าจะตัวเลขอาจแตะ 100% เมื่อนำระบบปรับสภาพด้วยพลาสมามาพิจารณาร่วมด้วย ตามคำกล่าวอ้างของผู้พัฒนา
ปัจจุบันเทคโนโลยีนี้กําลังอยู่ระหว่างการทดลองที่โรงงานแปรรูปสัตว์ปีกมิชิแกน เทอร์กีย์ โปรดิวเซอร์ (Michigan Turkey Producers) ซึ่งคนงานหลายร้อยคนมีความเสี่ยงที่จะติดไวรัสทางเดินหายใจระหว่างคนสู่คนและจากนกตลอดเวลา ก่อนหน้านี้โรงงานใช้หน้ากากอนามัยทั่วไปในการปกป้องคนงาน แต่ก็พบกับความลำบากหลายอย่าง อาทิ การสื่อสารที่ไม่สะดวก แว่นป้องกันภัยมีละอองน้ำเกาะเป็นฝ้าบ่อยครั้งขณะใส่หน้ากาก และความเสี่ยงในการได้รับเชื้อโรคเมื่อต้องถอดหน้ากากอนามัยระหว่างรับประทานอาหาร หน้ากากอนามัยล่องหนตัวใหม่จึงมาช่วยแก้ปัญหาเหล่านี้ขณะที่สามารถกันเชื้อโรคได้อย่างมีประสิทธิภาพ
แน่นอนว่าในปัจจุบันมุ่งเป้าไปที่คนงานที่ทํางานในสถานที่ต่าง ๆ โดยเฉพาะโรงงาน แต่ขณะนี้ก็กำลังพัฒนาเครื่องมือดังกล่าวให้มีขนาดเล็กลงและความคล่องตัวกว่าเดิมเพื่อขยายกลุ่มเป้าหมายไปสู่คนทั่วไปมากขึ้น
ที่มาข้อมูล Newatlas