รีเซต

สภาพัฒน์ฯ เผยเศรษฐกิจปี'64 ปรับตัวดีขึ้น จีดีพีโต 1.6% สูงกว่าที่คาด มองปี65 โตพุ่ง 4.5%

สภาพัฒน์ฯ เผยเศรษฐกิจปี'64 ปรับตัวดีขึ้น จีดีพีโต 1.6% สูงกว่าที่คาด มองปี65 โตพุ่ง 4.5%
มติชน
21 กุมภาพันธ์ 2565 ( 13:18 )
39

ข่าววันนี้ 21 กุมภาพันธ์ นายดนุชา พิชยนันท์ เลขาธิการสภาพัฒนาการเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ (สศช.) แถลงตัวเลขผลิตภัณฑ์มวลรวมในประเทศ (จีดีพี) ในไตรมาสที่สี่ ทั้งปี 2564 และแนวโน้มปี 2565 ว่า จีดีพีไทยปี 2564 ขยายตัว 1.6% ปรับตัวดีขึ้นจากการลดลง 6.2% ในปี 2563 ด้านการใช้จ่าย มูลค่าการส่งออกสินค้า การอุปโภคบริโภคภาคเอกชน และการลงทุนรวมเพิ่มขึ้น 18.8% 0.3% และ 3.4% ตามลำดับ

 

ด้านการผลิต สาขาเกษตรกรรม การป่าไม้ และการประมง สาขาการผลิตอุตสาหกรรม และสาขาการขายส่งและการขายปลีก การซ่อมฯ ขยายตัว 1.4% 4.9% และ 1.7% ตามลำดับ ขณะที่สาขาที่พักแรมและบริการด้านอาหาร และสาขาการขนส่งฯ ลดลง 14.4% และ 2.9% ตามลำดับ รวมทั้งปี 2564 จีดีพีมีมูลค่าอยู่ที่ 16.2 ล้านล้านบาท (5.06 แสนล้านเหรียญสหรัฐ) ผลิตภัณฑ์มวลรวมในประเทศต่อหัวของคนไทยเฉลี่ยอยู่ที่ 232,176.0 บาทต่อคนต่อปี (7,255.5 เหรียญสหรัฐต่อคนต่อปี) ด้านเสถียรภาพทางเศรษฐกิจ อัตราเงินเฟ้อทั่วไปเฉลี่ยอยู่ที่ 1.2% และดุลบัญชีเดินสะพัดขาดดุล 2.2% ของจีดีพี

 

นายดนุชา กล่าวว่า แนวโน้มจีดีพีปี 2565 คาดว่าจะขยายตัวในช่วง 3.5 – 4.5% โดยมีปัจจัยสนับสนุนสำคัญประกอบด้วย (1) การปรับตัวดีขึ้นของอุปสงค์ภายในประเทศ (2) การฟื้นตัวของภาคการท่องเที่ยว (3) การขยายตัวอย่างต่อเนื่องของการส่งออกสินค้า และ (4) แรงขับเคลื่อนจากการลงทุนภาครัฐ ทั้งนี้ คาดว่ามูลค่าการส่งออกสินค้าจะขยายตัว 4.9% การอุปโภคบริโภคและการลงทุนภาคเอกชนขยายตัว 4.5% และ 3.8% ตามลำดับ ส่วนการลงทุนภาครัฐคาดว่าจะขยายตัว 4.6% อัตราเงินเฟ้อทั่วไปเฉลี่ยอยู่ในช่วง 1.5 – 2.5% และดุลบัญชีเดินสะพัดจะเกินดุล 1.5% ของจีดีพี

 

นายดนุชา กล่าวว่า การบริหารนโยบายเศรษฐกิจในปี 2565 ควรให้ความสำคัญกับ การป้องกันและควบคุมการแพร่ระบาดภายในประเทศให้อยู่ในวงจำกัด พร้อมกับการสนับสนุนการฟื้นตัวของภาคธุรกิจ ควบคู่ไปกับการดูแลภาคเศรษฐกิจที่ยังมีข้อจำกัดในการฟื้นตัว โดยการเร่งรัดติดตามมาตรการต่าง ๆ ให้สามารถเข้าถึงกลุ่มเป้าหมาย และมาตรการเสริมสภาพคล่องเพิ่มเติมสำหรับกลุ่มที่ยังมีข้อจำกัดในการเข้าถึงและในสาขาเศรษฐกิจที่ยังมีข้อจำกัดในการฟื้นตัว การแก้ไขปัญหาการขาดแคลนแรงงานควบคู่ไปกับการพิจารณามาตรการเพื่อช่วยเหลือแรงงานเพิ่มเติม และการเร่งรัดมาตรการปรับโครงสร้างหนี้ภาคธุรกิจ

 

การรักษาแรงขับเคลื่อนจากการใช้จ่ายภายในประเทศ โดยการติดตามและประเมินผลมาตรการต่าง ๆ ที่ดำเนินการไปแล้วและอยู่ระหว่างดำเนินการ เพื่อให้สามารถเข้าถึงกลุ่มเป้าหมาย การดูแลกลไกตลาด เพื่อแก้ไขและบรรเทาผลกระทบจากการเพิ่มขึ้นของราคาสินค้า รวมทั้งผลกระทบจากราคาสินค้าเกษตรตกต่ำ และการพิจารณาการใช้จ่ายภายใต้งบประมาณรายจ่ายประจำปี 2565 และ 2566 โดยให้ความสำคัญมากขึ้นกับโครงการลงทุนที่มีวัตถุประสงค์ในการสร้างงานสร้างอาชีพในระดับชุมชน เพื่อรองรับแรงงานย้ายกลับภูมิลำเนา

 

การดูแลและแก้ไขปัญหาหนี้สินของครัวเรือน โดยให้ความสำคัญกับมาตรการปรับปรุงโครงสร้างหนี้ให้แก่ลูกหนี้ที่ได้รับผลกระทบ ควบคู่ไปกับการดำเนินมาตรการจูงใจในการชำระหนี้และบรรเทาภาระหนี้สินที่สำคัญ รวมไปถึง การขับเคลื่อนการส่งออกสินค้า โดยการขับเคลื่อนการส่งออกสินค้าสำคัญไปยังตลาดหลัก ควบคู่กับการสร้างตลาดใหม่ให้กับสินค้าที่มีศักยภาพและการสนับสนุนการค้าชายแดน การพัฒนาสินค้าส่งออกให้มีคุณภาพและมาตรฐาน การแก้ปัญหาที่เป็นอุปสรรคต่อระบบการขนส่งสินค้าและโลจิสติกส์ การใช้ประโยชน์จากกรอบความตกลงหุ้นส่วนทางเศรษฐกิจระดับภูมิภาค (RCEP) ควบคู่ไปกับการเร่งรัดการเจรจาความตกลงการค้าเสรีที่กำลังอยู่ในขั้นตอนของการเจรจา และการปกป้องความเสี่ยงจากความผันผวนของอัตราแลกเปลี่ยนและการเพิ่มขึ้นของต้นทุนการผลิต

 

นายดนุชา กล่าวว่า พร้อมกับการส่งเสริมการลงทุนภาคเอกชน โดยการเร่งรัดให้ผู้ประกอบการที่ได้รับอนุมัติและออกบัตรส่งเสริมการลงทุนให้เกิดการลงทุนจริง การแก้ไขปัญหาที่นักลงทุนและผู้ประกอบการต่างชาติเห็นว่าเป็นอุปสรรคต่อการลงทุนและการประกอบธุรกิจ การดำเนินมาตรการส่งเสริมการลงทุนเชิงรุก การส่งเสริมการลงทุนในเขตพัฒนาพิเศษภาคตะวันออก (EEC) เขตพัฒนาเศรษฐกิจพิเศษต่าง ๆ รวมถึงขับเคลื่อนพื้นที่ระเบียงเศรษฐกิจพิเศษในแต่ละภูมิภาค การลงทุนพัฒนาพื้นที่เศรษฐกิจและโครงสร้างพื้นฐานด้านคมนาคมขนส่งที่สำคัญ และการพัฒนากำลังแรงงานทักษะสูงเพื่อรองรับอุตสาหกรรมเป้าหมาย

 

รวมไปถึง การขับเคลื่อนการใช้จ่ายและการลงทุนภาครัฐ การติดตาม เฝ้าระวัง และเตรียมมาตรการรองรับความผันผวนของภาคเศรษฐกิจต่างประเทศ และการขับเคลื่อนการปรับโครงสร้างเศรษฐกิจเพื่อเพิ่มขีดความสามารถในการแข่งขัน สนับสนุนการกระจายรายได้ และปรับตัวเข้าสู่สังคมคาร์บอนต่ำ

ข่าวที่เกี่ยวข้อง