FDA อนุมัติเครื่องแปะลิ้นลด “หูอื้อ” ด้วยการกระตุ้นไฟฟ้าผ่านลิ้น
องค์การอาหารและยาแห่งสหรัฐอเมริกา (FDA) อนุมัติการใช้งานอุปกรณ์ “เครื่องแปะลิ้น” ที่เชื่อว่าจะช่วยบรรเทาอาการหูอื้อ หรือโรคได้ยินเสียงรบกวนในหู โดยผสมผสานการกระตุ้นด้วยเสียง เข้ากับการกระตุ้นไฟฟ้าที่ลิ้น เพื่อฝึกสมองให้เพิกเฉยต่อเสียงรบกวนที่เกิดขึ้นภายในหู
สำหรับอาการ หูอื้อ (Tinnitus) คือความผิดปกติของระบบประสาทที่ทำให้เกิดเสียงรบกวนในหูอยู่ตลอดเวลา เช่นบางคนอาจจะได้ยินเหมือนเสียงวี้ด คล้ายเสียงกาต้มน้ำเวลาเดือด หรือเสียงวิ้ง ๆ ซึ่งอาจก่อให้เกิดความรำคาญในการใช้ชีวิตประจำวันของผู้ป่วย
เพื่อแก้ปัญหานี้ บริษัท นิวโรม็อดส์ ดิไวซ์ (Neuromod Devices) จากไอร์แลนด์ จึงได้พัฒนาอุปกรณ์ที่มีชื่อว่า เลน-เอียร์ (Lenire) มีลักษณะเป็นชุดหูฟังและแป้นแปะลิ้น โดยผู้ป่วยจะต้องวางแป้นนี้ไว้บนลิ้น หลังจากนั้นตัวเครื่องจะปล่อยกระแสไฟฟ้าอ่อน ๆ ไปยังแป้นที่วางอยู่บนลิ้น โดยไม่ก่อให้เกิดความเจ็บปวดใด ๆ
กระบวนการนี้เรียกว่า ไบโมดัล นิวโรโมดูเลชัน (Bimodal neuromodulation) ซึ่งเป็นการใช้การกระตุ้นด้วยสิ่งเร้าสองแบบ ได้แก่ ระดับเสียงสูงและต่ำที่เล่นผ่านหูฟัง พร้อมกับการกระตุ้นด้วยไฟฟ้าอ่อน ๆ จากแป้นแปะลิ้น กระบวนการนี้จึงเป็นการปล่อยกระแสไฟฟ้า “เพื่อรบกวน” กระแสประสาทของหูชั้นใน สมองก็จะเลิกสนใจเสียงหูอื้อเหล่านั้นไปนั่นเอง
โดยบริษัทกล่าวว่าอุปกรณ์นี้ ถึงแม้จะไม่ใช่อุปกรณ์รักษาหูอื้อโดยตรง แต่เขาคิดว่ามันเป็น "ก้าวสำคัญ" ในการรักษาอาการดังกล่าว ซึ่งจากการทดสอบการใช้งานกับกลุ่มผู้ป่วยจำนวน 326 ราย ปรากฏว่าหลังการใช้งานผู้ป่วยร้อยละ 86 มีอาการหูอื้อลดลงอย่างมีนัยสำคัญ และมีจำนวนมากถึงร้อยละ 66 ที่อาการหูอื้อลดลงได้นานถึง 12 เดือน
การศึกษาดังกล่าวได้รับการตีพิมพ์ในวารสารวิชาการ “Nature – Scientific Reports” ซึ่งถึงแม้ว่าอุปกรณ์เครื่องแปะลิ้นตัวนี้ จะไม่สามารถรักษาอาการหูอื้อจนหายขาดได้ แต่ก็ทำให้เสียงรบกวนน้อยลงมาก ช่วยลดความรำคาญ และทำให้ผู้ป่วยใช้ชีวิตประจำวันได้ง่ายขึ้น
ข้อมูลจาก reutersconnect, chula.ac.th, tnnthailand