รีเซต

'กรมทะเล' ประกาศคุ้มครองกองหินใต้น้ำ 21 แห่ง 6 จังหวัด

'กรมทะเล' ประกาศคุ้มครองกองหินใต้น้ำ 21 แห่ง 6 จังหวัด
ข่าวสด
30 เมษายน 2564 ( 12:49 )
144

 

ด่วน!! ประกาศแล้ว พื้นที่คุ้มครองกองหินใต้น้ำ 21 แห่ง 6 จว. 'วราวุธ'สั่งดูแลปะการังทั่วประเทศ ด้าน"กรมทะเล" เร่งประชาสัมพันธ์ทันที เข้มโทษคุก1 ปี ปรับ 1 แสน

 

ตามที่ได้มีข่าวการเตรียมประกาศพื้นที่คุ้มครองทรัพยากรปะการังในบริเวณพื้นที่กองหินใต้น้ำในพื้นที่จังหวัดจันทบุรี ระยอง ชุมพร สุราษฎร์ธานี ปัตตานี และพังงา เมื่อราวปลายเดือนมีนาคม 2564 ที่ผ่านมา ซึ่งเมื่อวันที่ 28 เม.ย. 64 ราชกิจจานุเบกษาได้ประกาศคำสั่งคุ้มครองทรัพยากรปะการังในบริเวณพื้นที่กองหินใต้น้ำใน 6 จังหวัด 21 พื้นที่ โดยมีผลบังคับใช้จนถึงปี 2569

 

นายวราวุธ ศิลปอาชา รมว.ทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม(ทส.) กล่าวว่า ตนได้กล่าวในหลายเวทีถึงความสำคัญของระบบนิเวศปะการังและการอนุรักษ์ปะการังอย่างยั่งยืน เนื่องจาก ปะการังเป็นสัตว์ที่มีความอ่อนไหวและเปราะบางต่อการเปลี่ยนแปลงทางธรรมชาติ และการรบกวนจากกิจกรรมมนุษย์

 

 

นอกจากนี้ การฟื้นฟูปะการังเป็นเรื่องที่ค่อนข้างยากลำบากและใช้เวลานานนับสิบปีกว่าจะสมบูรณ์อย่างเดิม ซึ่งสาเหตุความเสื่อมโทรมส่วนใหญ่มาจากกิจกรรมมนุษย์ ทั้งจากการท่องเที่ยวอย่างไม่ระวัง การทิ้งสมอเพื่อจอดเรือ และสาเหตุสำคัญคือการทำประมง ทั้งจากเครื่องมือประมง และเศษอุปกรณ์ที่ตกค้างอยู่ตลอดแนวแหล่งปะการัง ซึ่งหลายครั้งที่ตนได้ลงดำน้ำ นอกจากเศษถุงและขวดพลาสติกแล้ว เศษอุปกรณ์จากการทำประมง ทั้งเชือกและอวน สามารถพบเห็นได้เกือบทุกแหล่ง

 

 

ที่ผ่านมาตนได้สั่งการให้กรมทรัพยากรทางทะเลและชายฝั่งเร่งสำรวจทุกแหล่งปะการังสำคัญและหามาตรการคุ้มครองและจัดการพื้นที่เหล่านั้น มิให้ถูกทำลายหรือได้รับผลกระทบอย่างเช่นที่ผ่านมา และได้มอบหมายให้นายจตุพร บุรุษพัฒน์ ปลัดทส. เร่งรัดหน่วยงานที่เกี่ยวข้องทั้งกรมอุทยานแห่งชาติ สัตว์ป่า และพันธุ์พืช และกรมทรัพยากรทางทะเลและชายฝั่ง หามาตรการในการกำกับ ควบคุม คุ้มครอง และจัดการพื้นที่แหล่งปะการังอย่างยั่งยืน หากเป็นไปได้แหล่งปะการังทุกตารางนิ้วของประเทศไทย ต้องได้รับการดูแลเป็นอย่างดี

 

สำหรับคำสั่งที่กรมทรัพยากรทางทะเลและชายฝั่งได้ประกาศในครั้งนี้ เป็นเพียงการห้ามมิให้ทำการประมง ลอบ อวนทุกชนิดในพื้นที่แหล่งปะการังทั้ง 21 แหล่ง แต่เรายังสามารถท่องเที่ยวชื่นชมความสวยงามได้ตามปกติ โดยที่ไม่แตะต้อง สัมผัส เข้าใกล้ หรือทิ้งเศษขยะบริเวณดังกล่าว

 

"ขอให้คิดถึงคนที่จะชมปะการังต่อจากเรา พวกเขาต้องการเห็นปะการังที่สวยงามเหมือนอย่างกับที่เราได้เห็น "ปะการังเปรียบเสมือนประติมากรรมใต้ท้องทะเล เป็นสุนทรียภาพที่ธรรมชาติสร้างขึ้นเพื่อความสมดุลของระบบนิเวศ การทำประมงไม่ใช่เรื่องที่ผิด แต่การทำประมงที่ขาดจิตสำนึกทำให้ทรัพยากรธรรมชาติเสียหาย คือ เรื่องที่ยอมรับไม่ได้" นายวราวุธ กล่าวย้ำ

 

นายโสภณ ทองดี อธิบดีกรมทรัพยากรทางทะเลและชายฝั่ง(ทช.) กล่าวเสริมว่า การประกาศคำสั่งคุ้มครองพื้นที่ครั้งนี้ ได้ประกาศในราชกิจจานุเบกษาเมื่อวันที่ 28 เม.ย. 64 โดยการออกคำสั่งได้อาศัยอำนาจตามมาตรา 17 แห่งพ.ร.บ.ส่งเสริมการบริหารจัดการทรัพยากรทางทะเลและชายฝั่ง พ.ศ. 2558 โดยห้ามบุคคลใดเข้าไปทำการประมง ลอบ อวนทุกชนิดในบริเวณแนวปะการังในพื้นที่คุ้มครองทรัพยากรปะการังในบริเวณพื้นที่กองหินใต้น้ำพื้นที่จังหวัดจันทบุรี ระยอง ชุมพร สุราษฎร์ธานี ปัตตานี และพังงา จำนวน 21 พื้นที่

 

-กองหินอ้ายลอบ อำเภอท่าใหม่ กองหินผุด อำเภอแหลมสิงห์ จ.จันทบุรี

-กองหินอันซีน (Unseen) อำเภอเมืองระยอง กองหินเพิง อำเภอแกลง จ.ระยอง

-กองหินเจนทะเล กองหินพุ่ม อำเภอละแม จ.ชุมพร

-กองหินชุมพร กองหินวง เกาะกงทรายแดง กองหินตุ้งกู กองหินใบ กองหินเกาะว่าว เกาะตุ้งกู เกาะตุ้งกา อำเภอเกาะพะงัน กองหินคันธุลี อำเภอท่าชนะ จ.สุราษฎร์ธานี

-เกาะโลซิน จ.ปัตตานี

-กองหินหมูสัง เกาะดอกไม้ อำเภอเกาะยาว กองหินอีแต๋น พื้นที่อุทยานการเรียนรู้ใต้ทะเลเขาหลัก อำเภอตะกั่วป่า และกองหินริเชลิว อำเภอคุระบุรี จ.พังงา

 

 

"หากผู้ใดฝ่าฝืนมีโทษจำคุกไม่เกิน 1 ปี ปรับไม่เกิน 1 แสนบาท หรือทั้งจำทั้งปรับ โดยมีผลบังคับใช้เป็นระยะเวลา 5 ปี สิ้นสุดในปี 2569"

 

นายโสภณ ระบุว่า ตนได้สั่งการไปยังสำนักงานทรัพยากรทางทะเลและชายฝั่งที่ 1 - 10 ให้เร่งประชาสัมพันธ์กับชุมชน กลุ่มธุรกิจนำเที่ยว นักท่องเที่ยว กลุ่มชาวประมงในพื้นที่ ให้ทราบและปฏิบัติตามคำสั่งดังกล่าวอย่างเคร่งครัด นอกจากนี้ ตนได้เน้นย้ำแล้ว หากพบเห็นการกระทำผิดให้ดำเนินการตามกฎหมายจริงจังและเด็ดขาด

ข่าวที่เกี่ยวข้อง