รีเซต

"ซีไอเอ็มบีไทย" คาดเศรษฐกิจไทยปี 68 โตที่ 1.8% ความเสี่ยงสงครามการค้ากดดัน

"ซีไอเอ็มบีไทย" คาดเศรษฐกิจไทยปี 68 โตที่ 1.8% ความเสี่ยงสงครามการค้ากดดัน
TNN ช่อง16
10 เมษายน 2568 ( 18:02 )
14

นายอมรเทพ จาวะลา ผู้ช่วยกรรมการผู้จัดการใหญ่ ผู้บริหารสำนักวิจัย ธนาคาร ซีไอเอ็มบี ไทย เปิดเผยว่า เมื่อคืนวันที่ 9 เมษายน 2568 ตามเวลาประเทศสหรัฐ ประธานาธิบดีโดนัลด์ ทรัมป์ ประกาศเลื่อนเก็บภาษีตอบโต้ประเทศต่างๆ ออกไป 90 วัน ส่วนจีนโดนภาษีที่ 125% เนื่องจากจีนตอบโต้เก็บภาษีนำเข้าจากสหรัฐ 84% สำหรับประเทศไทย ที่แม้จะโดนเลื่อนเก็บภาษีนำเข้า 36% ออกไปก่อน เหลือการจัดเก็บเพียง 10% เท่ากับประเทศอื่นส่วนใหญ่ แต่ก็นับว่ามีความเสี่ยงเพิ่มขึ้น จากนโยบายการค้าสหรัฐ ความไม่แน่นอน และความตึงเครียดที่ยืดเยื้อ  ภาพดังกล่าวธนาคารจึงได้ปรับลดคาดการณ์ GDP ปี 2568 จาก 2.7% ลงเหลือ 1.8% 


อย่างไรก็ดี บนความไม่แน่นอน หากมีการจัดเก็บภาษีสูงขึ้น เศรษฐกิจไทยอาจเข้าสู่ภาวะถดถอยทางเทคนิคในไตรมาส 3- 4 ปีนี้ และโตเพียง 1.4% แต่ถ้าเศรษฐกิจสหรัฐเข้าสู่ภาวะถดถอยแม้เพียงเล็กน้อย และความผันผวนทั่วโลก เศรษฐกิจไทยอาจชะลอลงหนักกว่าคาด โดยมองว่ามาตรการภาษีทรัมป์จะทำการค้าโลกชะลอ การส่งออกอาจโตเพียง 1.4% การผลิต-การนำเข้าวัตถุดิบและเครื่องจักรลดลง การลงทุนชะลอตัว รายได้แรงงานและนอกภาคเกษตรมีแนวโน้มอ่อนตัว  ซึ่งกลุ่มอุตสาหกรรมที่เปราะบาง ได้แก่ เหล็กและอะลูมิเนียม ยานยนต์ ชิ้นส่วนยานยนต์ ยาและเวชภัณท์อาจได้รับผลกระทบมากกว่ากลุ่มอื่น

และภาวะเศรษฐกิจที่เติบโตชะลอ เงินเฟ้อต่ำ อาจเปิดทางให้ธนาคารแห่งประเทศไทย (ธปท.) ผ่อนคลายนโยบายการเงินเพิ่มเติม ในกรณีนี้คาดว่า ธปท. จะไม่ลดดอกเบี้ยรุนแรง เพราะข้อจำกัดหลายประการที่ไม่เอื้อต่อการผ่อนคลายแบบครอบคลุม คาดการณ์ดอกเบี้ยนโยบายปีนี้อยู่ที่ 1.25%  หากเศรษฐกิจอ่อนแอกว่าคาด อาจมีการลดดอกเบี้ยลงถึงระดับ 1.00% ถ้าแรงกดดันจากภาษียังอยู่ เงินเฟ้อเร่งตัว ธปท. อาจใช้มาตรการเฉพาะจุด เช่น ช่วยเหลือหนี้  SMEs และอัดฉีดสภาพคล่อง แทนการเน้นลดดอกเบี้ย 


ขณะที่ มาตรการการคลังจะมีบทบาทมากขึ้นในการกระตุ้นเศรษฐกิจ จากความกังวลต่อสินเชื่อที่อ่อนแอ และความเสี่ยงภาวะกับดักสภาพคล่อง โดยเฉพาะหากความเชื่อมั่นภาคธุรกิจและผู้บริโภคยังไม่ฟื้น 


ในด้านค่าเงินบาท คาดว่าจะอ่อนค่าช่วงกลางปี ก่อนจะทรงตัวปลายปี จากปัจจัยที่ดอลลาร์แข็งค่าในภาวะตลาดผันผวน กดดันค่าเงินประเทศเกิดใหม่รวมถึงค่าเงินบาท ดังนั้น เงินบาทอาจอ่อนค่าในไตรมาส 2/68 จากการไหลออกของเงินทุน การนำเงินปันผลกลับประเทศ รายได้ท่องเที่ยวทรงตัวหรือชะลอลง นอกจากนี้ ส่วนต่างดอกเบี้ยที่กว้างขึ้น ระหว่างไทยกับสหรัฐฯจะกดดันเงินบาทเพิ่มเติม และอยากให้ระวังเงินบาทผันผวนอ่อนค่าอีกครั้งในช่วงปลายปี หากมีความไม่แน่นอนในการเก็บภาษีที่สูงขึ้น


ทั้งนี้ ฐานท่องเที่ยวไทยที่แข็งแกร่ง และผลกระทบจากสงครามการค้าที่จำกัด อาจช่วยให้เงินบาทเป็น ‘สินทรัพย์ปลอดภัย’ ในระดับภูมิภาคได้บางส่วน ซึ่งในภาคการท่องเที่ยว คาดว่านักท่องเที่ยวยังคงเพิ่มขึ้น แต่เพิ่มเพียงเล็กน้อย คาดว่าจะมี 37.1 ล้านคนปีนี้ เทียบกับ 35.5 ล้านคนปีก่อน 


ย้อนกลับไปดู ไทม์ไลน์ วันที่ 2 เมษายน 2568 ทรัมป์ประกาศเก็บภาษี 'ตอบโต้เท่าเทียม' (Reciprocal Tariffs) กับหลายประเทศ โดยให้เหตุผลว่าชาติเหล่านั้นได้รับสิทธิประโยชน์ทางการค้าอย่างไม่เป็นธรรม และเรียกว่าเป็น 'วันปลดแอก' ของสหรัฐฯ ทรัมป์ยืนยันจะใช้แนวทาง 'ตาต่อตา' หากใครเก็บภาษีจากสหรัฐฯ สหรัฐฯ จะเก็บคืนในอัตราเท่ากัน เพื่อจะนำรายได้จากภาษีไปลดหนี้ประเทศและสนับสนุนประชาชนอเมริกัน  


ทั้งนี้ แนวโน้มเศรษฐกิจสหรัฐฯ อยู่บนทางแยก มี 2 แนวโน้มที่เป็นไปได้ในอนาคต แนวโน้มที่ 1 : เศรษฐกิจโตช้า (Slow Growth) GDP สหรัฐลดลงจาก 2.1% มาอยู่ที่ 1.4% ชาวอเมริกันบริโภคน้อยลง เก็บออมมากขึ้น เลื่อนการลงทุนใหม่ เงินเฟ้อพุ่งจาก 3% ไปที่ 3.7% ด้านดอกเบี้ย เฟดอาจไม่ลดดอกเบี้ยเร็ว ๆ นี้ หรือ ลดดอกเบี้ยครั้งเดียวช่วงไตรมาส 4 ปี 2568 ค่าเงินดอลลาร์จะแข็งค่าขึ้น เมื่อเทียบกับยูโรและสกุลเงินกลุ่ม G7 แต่แข็งค่าไม่มากเทียบตลาดเกิดใหม่ แนวโน้มนี้มีความน่าจะเป็น 80%


แนวโน้มที่ 2 :เศรษฐกิจถดถอยเล็กน้อย (Mild Recession)GDP สหรัฐ หดตัว -0.2% จากผลกระทบของ reciprocal tariff ความไม่แน่นอนทางนโยบาย และการตอบโต้ ด้านภาคครัวเรือนชั้นกลางถึงรายได้สูง อาจลดการใช้จ่ายลง เงินเฟ้ออยู่ราว ๆ 5% ในปี 2568 ธนคารกลางสหรัฐ (Fed ) อาจกลับมาเพิ่มอัตราดอกเบี้ย หรืออย่างน้อยก็จะคงอัตราดอกเบี้ยที่ระดับเดิมไปถึงปี 2569 เงินดอลลาร์จะแข็งค่าอย่างมาก และถูกมองว่าเป็นสินทรัพย์ที่ปลอดภัยในช่วงวิกฤต การลดการพึ่งพาโลกาภิวัตน์อาจทำให้การค้าระหว่างประเทศลดลงอย่างมาก กระทบต่อ GDP ในระยะยาว แนวโน้มนี้มีความน่าจะเป็น 20%


สำหรับคู่มืออยู่รอดในยุคความผันผวนทรัมป์ นายอมรเทพ มองไปที่ การลงทุน เน้นเชิงรับ รักษาเงินต้น เช่น พันธบัตรรัฐบาล หุ้นกู้ที่มีความน่าเชื่อถือดีในอุตสาหกรรมที่เสี่ยงต่ำ เพิ่มเงินสดสำรอง กระจายลงทุนข้ามภูมิภาค , การบริโภค เน้นใช้จ่ายอย่างมีสติ เก็บออมเผื่อฉุกเฉิน เลี่ยงการกู้เกินจำเป็น , SMEs  ควรวางแผนระยะสั้น คุมต้นทุน ใช้เทคโนโลยีให้เกิดประโยชน์ , ธุรกิจขนาดใหญ่ ควรป้องกันความเสี่ยง ใช้ซัพพลายเชนในประเทศ ขยายสู่ตลาดอาเซียน ซึ่งโดยสรุป หลักการสำคัญ คือ ควรรักษาสภาพคล่องให้ดี ดูแลควบคุมต้นทุน ลดความเสี่ยง และไม่สร้างหนี้โดยไม่จำเป็น 


ยอดนิยมในตอนนี้

แท็กยอดนิยม

ข่าวที่เกี่ยวข้อง