รีเซต

คนทั่วโลกกว่า 2 พันล้าน เผชิญวิกฤตขาดแคลนน้ำ กษ.เตรียมรับมือ อุทกภัย-ภัยแล้ง

คนทั่วโลกกว่า 2 พันล้าน เผชิญวิกฤตขาดแคลนน้ำ กษ.เตรียมรับมือ อุทกภัย-ภัยแล้ง
TNN ช่อง16
30 ตุลาคม 2566 ( 19:03 )
74

เมื่อวันที่ 30 ต.ค. 2566     สำนักการเกษตรต่างประเทศ สำนักงานปลัดกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ ร่วมกับสำนักงานกองทุนสนับสนุนการสร้างเสริมสุขภาพ (สสส.) จัดการประชุมสัมมนาเชิงปฏิบัติการ เรื่อง ระบบเกษตรและอาหารที่ยั่งยืน อิ่ม..และ..ดี..2030 และงานเสวนาเนื่องในวันอาหารโลก ประจำปี 2566 (World Food Day 2023) ณ ห้องประชุม โรงแรมอมารี วอเตอเกท กรุงเทพฯ


 นายเศรษฐเกียรติ กระจ่างวงษ์ รองปลัดกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ กล่าวเปิดการประชุมตอนหนึ่งว่า องค์การอาหารและการเกษตรแห่งสหประชาชาติ หรือ FAO ได้ให้ความสำคัญกับปัญหาอุทกภัยและภัยแล้ง เนื่องจาก “น้ำ” เป็นองค์ประกอบที่สำคัญการประกันความมั่นคงทางอาหาร จะเห็นได้จากธีมงานวันอาหารโลกปีนี้ ที่ว่า “Water is life, Water is Food, Leave No One Behind” และเมื่อวันที่ 16 ตุลาคม ที่ผ่านมา สมเด็จพระกนิษฐาธิราชเจ้า กรมสมเด็จพระเทพรัตนราชสุดาฯ สยามบรมราชกุมารีเสด็จพระราชดำเนินไปเป็นประธานงานวันอาหารโลกประจำปี2566 ณ สำนักงาน FAO ประจำภูมิภาคเอเชียและแปซิฟิก ทรงปาฐกถาพิเศษด้านน้ำ โดยมีพระราชดำรัสตอนหนึ่งว่า ประชากรเกือบ 2,500 ล้านคนอาศัยอยู่ในประเทศที่มีความตึงเครียดในด้านน้ำอยู่ในขณะนี้การแย่งชิงทรัพยากรอันหาค่ามิได้นี้สร้างปัญหาที่เด่นชัด เนื่องจากน้ำจืดลดน้อยลง แต่ความจำเป็นในการผลิตอาหารกลับมากขึ้น เพื่อป้อนประชากรในภูมิภาคที่กำลังเติบโต โดยทรงให้เร่งดำเนินการในด้านนี้โดยไม่ทิ้งใครไว้ข้างหลัง ให้เริ่มปรับปรุงการบริหารจัดการน้ำและจัดสรรน้ำที่เรามีอย่างชาญฉลาด ผลิตอาหารให้ได้มากขึ้นโดยใช้น้ำน้อยลง และต้องทำให้มีการกระจายน้ำอย่างเท่าเทียมเพื่อที่ทุกคนจะได้มีน้ำใช้อย่างยั่งยืน


"ท่ามกลางการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศอย่างรุนแรง ซึ่งส่งผลกระทบต่อภาคเกษตรและอาหารเป็นอย่างมาก กระทรวงเกษตรฯ จำเป็นต้องมีการเตรียมพร้อมรับมือกับภัยธรรมชาติ ทั้งอุทกภัยและภัยแล้งจากสถานการณ์เอลนีโญ ที่คาดการณ์ว่ากำลังเกิดขึ้นจากนี้ไปจนถึง ปี2568 โดยเฉพาะจะต้องมีการป้องกัน การอนุรักษ์ทรัพยากรน้ำตลอดทั้งทรัพยากรดิน การเพิ่มประสิทธิภาพการกักเก็บคาร์บอนในดิน การใช้เทคโนโลยีชีวภาพและนวัตกรรมการจัดการโรคพืช การวิจัยและพัฒนาเทคโนโลยีการผลิตพืชและปศุสัตว์ที่ปรับตัวกับการเปลี่ยนแปลงภูมิอากาศ ตลอดจนการลดการสูญเสียอาหาร (Food loss) และขยะอาหาร (Food waste) สิ่งเหล่านี้จำป็นต้องอาศัยพลังขับเคลื่อน จากทุกภาคส่วน"


ดร.นพ.ไพโรจน์ เสาน่วม ผู้ช่วยผู้จัดการกองทุน สสส. กล่าวว่า สสส. สนับสนุนให้เกิดการพัฒนาต้นแบบระบบอาหารที่ยั่งยืน โดยสานพลังภาคีเครือข่ายขับเคลื่อนยุทธศาสตร์เพื่อส่งเสริมการบริโภคอาหารเพื่อสุขภาวะตลอดห่วงโซ่ ภายใต้วัตถุประสงค์หลัก 3 ข้อ 1.ส่งเสริมให้เกิดความรอบรู้และบูรณาการความร่วมมือหนุนเสริมการบริโภคอาหารเพื่อสุขภาวะด้วยระบบอาหารที่ยั่งยืน ทั้งในภาวะปกติและภาวะวิกฤต 2.ส่งเสริมระบบตลาดอาหารปลอดภัยในชุมชน สร้างความมั่นคงทางอาหารในระดับครัวเรือน ชุมชน 3.ขับเคลื่อนนโยบายสาธารณะ สื่อสารรณรงค์สังคม ให้เกิดการเปลี่ยนแปลงพฤติกรรมและสภาพแวดล้อมที่เอื้อต่อสุขภาพ


“สสส. พัฒนาต้นแบบระบบอาหารชุมชน เน้นให้ความสำคัญในการสร้างผลลัพธ์ทางสุขภาพอย่างก้าวกระโดดใน 3 ระดับ 1.ระดับต้นน้ำ พัฒนาต้นแบบแหล่งผลิตอาหารปลอดภัย อินทรีย์ เกิดผลผลิตตอบสนองความต้องการผู้บริโภค กระตุ้นเศรษฐกิจอาหารชุมชน 2.ระดับกลางน้ำ ส่งเสริมระบบการขนส่ง เชื่อมโยงผลผลิตและพัฒนารูปแบบการประกอบการให้เหมาะสมกับบริบทชุมชน วัฒนธรรม เกิดตลาดเขียว ตลาดชุมชน ตลาดเชิงสถาบันกว่า 80 แห่งทั่วประเทศ 3.ระดับปลายน้ำ สื่อสารความรอบรู้การบริโภคอาหารเพื่อสุขภาวะ พัฒนาทักษะและสร้างจิตสำนึกสู่วิถีการบริโภคอาหารเพื่อสุขภาวะ ใส่ใจสิ่งแวดล้อม ลดหวาน มัน เค็ม ปรับเปลี่ยนพฤติกรรมสุขภาวะลดเสี่ยงโรคไม่ติดต่อ นำไปสู่การผลักดันนโยบายสาธารณะ” ดร.นพ.ไพโรจน์ กล่าว


ดร.นพ.ไพโรจน์ กล่าวอีกว่า ที่ผ่านมา สสส. ขับเคลื่อนระบบเกษตรและอาหารที่ยั่งยืนในระดับพื้นที่ได้อย่างเป็นรูปธรรม อาทิ การจัดการอาหารในโรงเรียน ที่ชุมชนคาบสมุทรสทิงพระ จ.สงขลา สร้างความมั่นคงทางอาหารด้วยนโยบายอาหารโรงเรียนอินทรีย์ ที่สุรินทร์โมเดล หรือเทศบาลเมืองน่าน ความสำเร็จในการผลักดันให้เป็นนโยบายสาธารณะที่เกิดขึ้น จำเป็นต้องสานพลังทุกภาคส่วน ตั้งแต่ระดับชาติ ถึงระดับท้องถิ่น เพื่อให้เกิดการเชื่อมประสานระยะยาว โดยเฉพาะเรื่องของการจัดซื้อจัดจ้างผลผลิตปลอดภัยและอินทรีย์ที่ใส่ใจสิ่งแวดล้อม ลดความเหลื่อมล้ำด้านอาหาร ส่งต่อจากเกษตรกรในชุมชนสู่การบริโภคเพื่อสุขภาวะของเด็ก เยาวชน และคนในชุมชน



ข่าวที่เกี่ยวข้อง