“ปลาร้า” อาหารดีมีโภชนาการสูง แนะวิธีรับประทานอย่างไรให้ห่างไกลโรคไต
วันนี้ ( 14 พ.ค. 65 )นายแพทย์สุวรรณชัย วัฒนายิ่งเจริญชัย อธิบดีกรมอนามัย กล่าวว่า จากกรณีข่าวสำนักพระบิดา มีการเปิดโรงงานผลิตอาหาร ปลาร้าบอง น้ำปลาร้า และนำไปขายในชุมชนข้างนอก นั้น ทำให้ประชาชนบางรายอาจเกิดความวิตกกังวลต่ออาหารอาหารประเภทนี้
กรมอนามัย จึงมีข้อแนะนำผู้บริโภคโดยต้องเลือกซื้อปลาร้าที่ต้มสุก สะอาด มีแหล่งผลิตที่เชื่อถือได้ ในกรณีที่ซื้อแบบบรรจุขวดควรดูเลขสารบบอาหาร (เลข อย.) หากซื้อแบบไม่บรรจุขวด ควรดูว่ามีสิ่งเจือปน สีและกลิ่นผิดแปลกจากที่เคยกินหรือไม่ โดยเลือกซื้อ จากสถานที่จำหน่ายที่น่าเชื่อถือและคุ้นเคย และก่อนบริโภคทุกครั้งควรนำไปทำให้สุกโดยปรุงด้วยความร้อนที่อุณหภูมิ 90 องศาเซลเซียส นาน 5 นาที เพื่อลดความเสี่ยงพยาธิใบไม้ตับ
สำหรับผู้ประกอบการนั้น ควรคำนึงถึงความสะอาดปลอดภัย เลือกวัตถุดิบหรือปลาที่มีคุณภาพ และมีระยะเวลาในการหมักที่เหมาะสม หากเป็นปลาส้มให้หมักนานมากกว่า 3 วัน ส่วนปลาร้าให้หมักนานมากกว่า 1 เดือนขึ้นไป โดยกระบวนการผลิตจะต้องมีเครื่องมือ และเครื่องใช้ที่สะอาด มีมาตรฐาน และมาตรการป้องกันการปนเปื้อน น้ำที่ใช้ในการผลิตจะต้องมีคุณภาพน้ำดื่มตามมาตรฐานของกรมอนามัย สถานที่เก็บวัตถุดิบต้องสะอาดเป็นสัดส่วน มีการป้องกันการปนเปื้อน ส่วนผู้ปฏิบัติงานต้องมีสุขอนามัยดี
คุณค่าทางโภชนาการของปลาร้า
ปลาร้าดิบปริมาณ 100 กรัม ให้พลังงาน 148 กิโลแคลลอรี มีสารอาหารประเภทโปรตีน 15.30 กรัม ไขมัน 8 กรัม คาร์โบไฮเดรต 3.90 กรัม เหล็ก 3.40 กรัม วิตามินบี 1 0.02 กรัม วิตามินบี 2 0.16 กรัม และไนอะซิน 0.80 กรัม ซึ่งจัดว่าเป็นอาหารที่มีโภชนาการสูง เพราะปลาร้า คือแหล่งโปรตีนชั้นดีเมื่อเทียบเท่ากับเนื้อสัตว์อื่น ๆ มีวิตามินแร่ธาตุหลายชนิด และยังเป็นแหล่งของโพรไบโอติกส์อีกด้วย
อย่างไรก็ตามควรกินในปริมาณที่เหมาะสมปลาร้าต่วงที่มาจากทั้งโรงงาน และตลาดปริมาณรวมโซเดียมของเกลือและผงชูสใกล้เคียงกัน โดยปลาต่วงของโรงงานจะมีโซเดียม 5,057 มิลลิกรัมต่อ 100 กรัม และจากตลาดจะมีโซเดียม 5,145 มิลลิกรัมต่อ 100 กรัม ปลาร้าส้มตำปรุงสำเร็จ ที่นิยมนำมาปรุงอาหาร มีโซเดียม 5,647 มิลลิกรัมต่อ 100 กรัม
ขณะที่ปลาร้าสับแจ่วบอง มีโซเดียม 5,791 มิลลิกรัมต่อ 100 กรัม ตามที่องค์การอนามัยโลกกำหนดไว้ว่าใน 1 วัน ไม่ควรบริโภคโซเดียมเกิน 2,000 มิลลิกรัม หรือเทียบเท่าเกลือ 1 ช้อนชา หรือ 5 กรัม หรือเฉลี่ยไม่เกิน 600 มิลลิกรัมต่อมื้ออาหาร ดังนั้น ปลาร้าไม่ควรบริโภคมากกว่า 2 ช้อนโต๊ะต่อวัน หากบริโภคเป็นประจำ หรือมากเกินไป ส่งผลให้เกิดโรคต่าง ๆ ตามมาได้ เช่น โรคหัวใจล้มเหลว หลอดเลือดสมอง ความดันโลหิตสูง โดยเฉพาะอย่างยิ่งโรคไตเรื้อรัง
ข้อมูลจาก : กรมอนามัย
ภาพจาก : ผู้สื่อข่าวภูมิภาคจังหวัดนครราชสีมา