ด่วน ! พบโอปอลบนดาวอังคาร โดยยานสำรวจ Curiosity ของ NASA
นักวิจัยจากมหาวิทยาลัยแอริโซนาสเตต (Arizona State University) นำข้อมูลของหินตัวอย่างบนดาวอังคารที่ยานสำรวจคิวริออซิตี (Curiosity) ของนาซา (NASA) เก็บได้มาวิเคราะห์ด้วยเทคนิคใหม่ ทำให้พบว่าส่วนประกอบของหินตัวอย่างเป็นซิลิกาและน้ำเป็นส่วนใหญ่ ซึ่งเป็น 2 สิ่ง ที่เป็นส่วนประกอบหลักของโอปอล (Opal) อันเป็นอัญมณีในตระกูลควอตซ์
การก่อตัวของโอปอล
โดยบนโลกของเรา อัญมณีโอปอลก่อตัวขึ้นเมื่อน้ำมากัดเซาะหินที่อุดมด้วยซิลิกา จนก่อตัวเป็นสารละลายที่จับตัวในรอยแตกและรอยแยกของหิน เมื่อเวลาผ่านไป สารละลายนี้จะแข็งตัวเป็นก้อนแข็งที่มีความแวววาว และพบได้หลายสี ไม่ว่าจะเป็นสีขาว, สีแดง, สีเหลือง, สีเขียว, สีม่วง และสีดำ ซึ่งปัจจุบันพบมากในประเทศออสเตรเลียถึง 95 เปอร์เซ็น
อย่างไรก็ตาม นี่ไม่ใช่การค้นพบวัสดุที่อาจเป็นโอปอลครั้งแรกบนดาวอังคาร ก่อนหน้านี้ในปี 2008 ยานมาร์สรีคอนเนสเซนซ์ออร์บิเตอร์ (Mars Reconnaissance Orbiter) ที่เป็นยานโคจรรอบดาวอังคารเคยตรวจพบรอยสีซีดขนาดใหญ่ในหลายพื้นที่ของดาวเคราะห์สีแดง ซึ่งเกิดจากการสะสมของซิลิกาไฮเดรต อันมีความเชื่อมโยงกับโอปอล เพราะโอปอลเกิดจากหินที่อุดมด้วยซิลิกา
การค้นพบบอกอะไร ?
แม้ว่าพื้นผิวดาวอังคารจะแห้งและไม่เอื้ออำนวยต่อจุลินทรีย์ใด ๆ ที่อาจอาศัยอยู่ที่นั่น แต่การค้นพบองค์ประกอบของโอปอล บ่งชี้ให้เห็นว่าบริเวณใต้พื้นผิวดาวอังคารมีน้ำอยู่ และอาจเป็นที่อยู่อาศัยของสิ่งมีชีวิตอย่างพวกจุลินทรีย์ โดยเฉพาะบริเวณหลุมอุกกาบาตเจเซโร (Jezero Crater) ที่พบองค์ประกอบของโอปอลมากเป็นพิเศษ
นอกจากนี้ ในอนาคตมนุษย์อาจอยู่บนดาวอังคารได้ด้วยการอาศัยแหล่งน้ำใต้ดิน ซึ่งกระจัดกระจายอยู่ในหิน โดยนักวิจัยประเมินว่าหินที่อยู่ใต้พื้นผิวดาวอังคารไป 0.3 เมตร และมีรัศมียาว 1 เมตร สามารถกักเก็บน้ำได้มากถึง 5.7 ลิตร ซึ่งมนุษย์สามารถนำน้ำออกมาได้ด้วยการนำหินเหล่านั้นไปบดและให้ความร้อน
ข้อมูลจาก AGU
ภาพจาก NASA