รีเซต

หวนคืนสู่อิรัก 'แผ่นจารึกกิลกาเมช' 3,500 ปี หลังถูกขโมยนาน 30 ปี

หวนคืนสู่อิรัก 'แผ่นจารึกกิลกาเมช' 3,500 ปี หลังถูกขโมยนาน 30 ปี
Xinhua
8 ธันวาคม 2564 ( 19:44 )
86
หวนคืนสู่อิรัก 'แผ่นจารึกกิลกาเมช' 3,500 ปี หลังถูกขโมยนาน 30 ปี

ข่าววันนี้ 8 ธ.ค. (ซินหัว) -- เมื่อวันอังคาร (7 ธ.ค.) อิรักได้กู้คืนโบราณวัตถุจำนวนหนึ่ง อันรวมถึงแผ่นดินเหนียวจารึกอายุ 3,500 ปีที่รู้จักกันในชื่อความฝันของกิลกาเมช (Gilgamesh's Dream) ซึ่งถูกลักลอบนำออกไปเมื่อ 30 ปีก่อน

 

ฟูอัด ฮุสเซน รัฐมนตรีกระทรวงการต่างประเทศของอิรัก กล่าวในงานแถลงข่าวร่วมกับฮัสซัน นาดิม รัฐมนตรีกระทรวงวัฒนธรรม การท่องเที่ยว และโบราณวัตถุของอิรัก ว่าโบราณวัตถุดังกล่าวถูกเรียกคืนกลับมาจากสหรัฐฯ และสหราชอาณาจักร

 

แผ่นดินเหนียวจารึกอักษรรูปลิ่มหรืออักษรคูนิฟอร์มนี้ กว้างประมาณ 5 นิ้ว ยาวประมาณ 6 นิ้ว จารึกเรื่องราวส่วนหนึ่งในมหากาพย์กิลกาเมช และถือเป็นหนึ่งในผลงานวรรณกรรมที่เก่าแก่ที่สุดในโลก ซึ่งถูกขโมยไปจากอิรักเมื่อปี 1991 ระหว่างสงครามอ่าว (Gulf War)

 

ฮุสเซนกล่าวระหว่างพิธีที่จัดขึ้น ณ สำนักงานใหญ่ของกระทรวงการต่างประเทศ ว่าปัจจุบันอิรักเรียกคืนโบราณวัตถุจากสหรัฐฯ สหราชอาณาจักร อิตาลี ญี่ปุ่น และเนเธอร์แลนด์ กลับคืนมาได้แล้ว 17,916 ชิ้น สืบเนื่องจากความพยายามร่วมกันของกระทรวงวัฒนธรรมฯ สถานทูตอิรัก และองค์การยูเนสโก (UNESCO)

 

นาดิมระบุว่า อิรักประสบความสำเร็จในการเรียกคืนโบราณวัตถุครั้งยิ่งใหญ่ที่สุดในช่วง 4 เดือนที่ผ่านมา โดยเมื่อปลายเดือนกรกฎาคม อิรักได้ประกาศการกู้คืนโบราณวัตถุจากสหรัฐฯ จำนวน 17,000 ชิ้น ซึ่งรวมถึงแผ่นจารึกอายุ 4,500 ปีจำนวนหนึ่ง ซึ่งมีจารึกอักษรรูปลิ่มที่บันทึกถึงการแลกเปลี่ยนทางการค้าในสมัยสุเมเรียน

 

สถิติทางการเปิดเผยว่า โบราณวัตถุทางวัฒนธรรมประมาณ 15,000 ชิ้นในยุคหิน บาบิโลน จักรวรรดิอัสซีเรีย และยุคอิสลามถูกขโมยหรือทำลายโดยเหล่าผู้ปล้นสะดม หลังระบอบการปกครองของซัดดัม ฮุสเซน ถูกโค่นล้มโดยกองทัพทหารที่นำโดยสหรัฐฯ  ในปี 2003

 

พิพิธภัณฑ์โมซูล เมืองโบราณฮาตรา และเมืองโบราณนิมรูดล้วนถูกทำลาย ขณะเดียวกันโบราณวัตถุจำนวนมากถูกลักขโมยไปหลังกลุ่มก่อการร้ายไอเอส (Islamic State) เข้าควบคุมดินแดนขนาดใหญ่หลายแห่งทางตอนเหนือและตะวันตกของอิรักในปี 2014

 

ทั้งนี้ อิรักมีพื้นที่ที่ได้รับการยอมรับว่าเป็นแหล่งโบราณคดีอย่างเป็นทางการกว่า 10,000 แห่ง ทว่าสถานที่เหล่านี้ส่วนใหญ่ยังไม่ได้รับการคุ้มครองและยังคงถูกปล้นสะดม

 

 

 

ข่าวที่เกี่ยวข้อง