รีเซต

กรมวิทย์ฯ ตรวจภูมิคุ้มกันคนไทยเคย "ปลูกฝี" ทดสอบกับเชื้อ "ฝีดาษลิง" รู้ผลเร็วๆนี้

กรมวิทย์ฯ ตรวจภูมิคุ้มกันคนไทยเคย "ปลูกฝี" ทดสอบกับเชื้อ "ฝีดาษลิง" รู้ผลเร็วๆนี้
TNN ช่อง16
11 สิงหาคม 2565 ( 12:08 )
62
กรมวิทย์ฯ ตรวจภูมิคุ้มกันคนไทยเคย "ปลูกฝี" ทดสอบกับเชื้อ "ฝีดาษลิง" รู้ผลเร็วๆนี้

อธิบดีกรมวิทย์ฯ เผยหากผลทดสอบเลือดในกลุ่มอาสาสมัครที่เคย "ปลูกฝี" โรคฝีดาษในอดีตกลุ่มแรก พบว่ามีภูมิป้องกันต่อเชื้อ "โรคฝีดาษลิง" ใกล้เคียงกันในระดับที่ตั้งไว้ก็ไม่จำเป็นต้องหาอาสาสมัครเพิ่มเติม คาดรู้ผลเร็วๆ นี้ ขณะเดียวกัน ผลตรวจกลุ่มเสี่ยงสูงผู้สัมผัสผู้ป่วยติดเชื้อโรคฝีดาษลิงในไทยเป็นลบทั้งหมด ยังไม่พบผู้ติดเชื้อเพิ่มเติม

วันนี้ (11 ส.ค.65) นพ.ศุภกิจ ศิริลักษณ์ อธิบดีกรมวิทยาศาสตร์การแพทย์ ระบุถึงความคืบหน้าการหาอาสาสมัครที่เคย "ปลูกฝี" ในอดีตมาทำการเจาะเลือด แล้ว มาทดสอบกับเชื้อ "ฝีดาษลิง" ที่ทางกรมวิทยาศาสตร์การแพทย์ได้ทำการเพาะเชื้อขึ้นในห้องปฏิบัติการ และขณะนี้ได้จำนวนของเชื้อที่มากพอแล้ว

เบื้องต้นหาอาสาสมัครภายในกรมฯ ที่เคย "ปลูกฝี" โรคฝีดาษในอดีตที่มีอายุประมาณ 40-50 ปีต้นๆ ตอนนี้ได้แล้วจำนวนหนึ่ง ประมาณ 10 คน ในกลุ่มแรก มาทำการเจาะเลือด เพื่อทดสอบภูมิคุ้มกันที่ยังหลงเหลืออยู่ในร่างกาย ว่าสามารถป้องกันฝีดาษลิงได้มากน้อยขนาดไหน

หากผลทดสอบออกมาอยู่ในระดับใกล้เคียงกัน ร้อยละ 70-72 ก็ไม่จำเป็นที่จะต้องหาอาสาสมัครเพิ่มเติม แต่หากผลทดสอบออกมาอยู่ที่ระหว่างร้อยละ 10-90 อาจจะต้องหากลุ่มอาสาสมัครเพิ่มเติมอีก 20-40 คน โดยจะมีการแจ้งความคืบหน้าผลทดสอบในครั้งนี้อีกครั้ง

ภาพจาก TNN ช่อง 16

นพ.ศุภกิจ กล่าวว่า ทั่วโลกยังไม่มีวัคซีนป้องกันโรคฝีดาษลิงโดยเฉพาะ เพียงแต่มีข้อมูลว่าการเอาภูมิคุ้มกันต่อเชื้อ "ฝีดาษคน" สามารถนำมาใช้ในการป้องกันเชื้อ "ฝีดาษลิง" ได้ร้อยละ 80 ซึ่งถือว่าค่อนข้างสูง แต่ทั้งนี้ต้องดูว่าภูมิที่สูงถึงร้อยละ 80 มาจากวัคซีนรุ่นใหม่หรือวัคซีนรุ่นเก่าที่มีอายุประมาณ 40 ปี 

ส่วนขั้นตอนการตรวจหาภูมิคุ้มกันจะมีการแบ่งเชื้อโรคฝีดาษลิงออกเป็นกลุ่มๆ ในห้องปฏิบัติการ แล้วนำเลือดจากอาสาสมัครที่ได้เจาะไว้ มาเจือจางบนตัวเชื้อเพื่อทดสอบว่าจะมีภูมิต้านทานป้องกันได้หรือไม่

สำหรับข้อมูลผู้ติดเชื้อ "ฝีดาษลิง" ในประเทศไทยตอนนี้ อธิบดีกรมวิทยาศาสตร์การแพทย์ กล่าวว่า ขณะนี้ในไทยยังไม่พบผู้ป่วยติดเชื้อฝีดาษลิงเพิ่มเติม ยังคงยืนยันสะสมแค่ 4 ราย ส่วนกลุ่มเสี่ยงผู้สัมผัสผู้ติดเชื้อโรคฝีดาษลิงผลตรวจออกมาครบแล้ว ผลเป็นลบทุกราย

ภาพจาก กรมวิทยาศาสตร์การแพทย์

ส่วนความคืบหน้า โควิด-19 โอมิครอนสายพันธุ์ BA.4.6 ยืนยัน ยังไม่พบในไทย ซึ่งการเฝ้าระวังยังคงเดินหน้าอย่างต่อเนื่อง หากเชื้อไม่มีการกลายพันธุ์เพิ่มเติม แต่ตอนนี้กรมวิทยาศาสตร์การแพทย์ยังคงสุ่มตรวจตัวอย่างเชื้อโควิด-19 อยู่และทำการถอดรหัสพันธุกรรมทั้งตัวเพื่อเฝ้าระวังสายพันธุ์ในประเทศ 

ขณะที่เมื่อปรับโควิด-19 สู่โรคติดต่อเฝ้าระวัง ทางกรมวิทยาศาสตร์การแพทย์ ก็ยังคงเฝ้าระวังอยู่ตามสถานการณ์ แต่อาจจะลดจำนวนการตรวจตัวอย่างเชื้อลง.


ภาพจาก AFP , กรมวิทยาศาสตร์การแพทย์

ยอดนิยมในตอนนี้

แท็กยอดนิยม

ข่าวที่เกี่ยวข้อง