รีเซต

เศรษฐกิจไทยปีหน้า ฟื้นตัวยาก เสี่ยงสะดุด โตช้ารั้งท้ายในภูมิภาค

เศรษฐกิจไทยปีหน้า ฟื้นตัวยาก เสี่ยงสะดุด  โตช้ารั้งท้ายในภูมิภาค
TNN ช่อง16
24 กันยายน 2563 ( 09:55 )
1.2K
เศรษฐกิจไทยปีหน้า ฟื้นตัวยาก เสี่ยงสะดุด  โตช้ารั้งท้ายในภูมิภาค

แม้ว่าเศรษฐกิจไทยในไตรมาส2ของปี2563 ที่หดตัว 12.2%  จะดีกว่าหลายประเทศในอาเซียน และเชื่อว่าจะเป็นช่วงต่ำสุดของเศรษฐกิจไทยแล้ว 

แต่อย่าเพิ่งมั่นใจว่าเศรษฐกิจไทยทั้งปีนี้จะพลิกฟื้นกลับมาดีขึ้นหรือขยายตัวได้ดีกว่าประเทศอื่นในภูมิภาค เนื่องจากประเทศไทยพึ่งพาการท่องเที่ยวเป็นหลักถึง 12% ของจีดีพี ค่อนข้างสูงกว่าประเทศอื่น ดังนั้น หากไม่สามารถเปิดประเทศให้นักท่องเที่ยวต่างชาติเข้ามาได้ อาจทำให้เศรษฐกิจไทยทั้งปีนี้ฟื้นตัวแย่กว่าประเทศอื่นๆ ในภูมิภาค



สอดคล้องกับรายงานแนวโน้มเศรษฐกิจปี 2563 ฉบับล่าสุดเดือนกันยายนของธนาคารเพื่อการพัฒนาเอเชีย หรือ เอดีบี (ADB  OUTLOOK2020) ซึ่งคาดการณ์ตัวเลขเศรษฐกิจในประเทศอาเซียน พบว่าเศรษฐกิจไทยในปีนี้หดตัว 8% รั้งท้ายสุดในภูมิภาค

สำหรับปี 2564 เอดีบีคาดการณ์เศรษฐกิจในภูมิภาคอาเซียนปรับตัวดีขึ้น โดยคาดการณ์เศรษฐกิจไทยขยายตัว 4.5% แต่ก็ยัง “เกาะกลุ่ม” รั้งท้ายอยู่ดี  หากไม่นับประเทศบรูไน  

ดังนั้นหากการฟื้นตัวของเศรษฐกิจไทยเกิดการ “สะดุด” อาจทำให้การฟื้นตัวของเศรษฐกิจไทยเติบโตช้ากว่าประเทศอื่นๆ กลายเป็น “ประเทศเดียว” ที่ร่วงลงมารั้งอันดับสุดท้ายในภูมิภาคเหมือนปี2563  

ประเด็นการฟื้นตัวยาก และฟื้นช้าของเศรษฐกิจไทยในปี 2564 กำลังเป็นข้อ “กังวล” ของสำนักวิจัยเศรษฐกิจของสถาบันการเงินไทยหลายแห่ง 


 
โดยล่าสุดสำนักวิจัยเศรษฐกิจของสถาบันการเงินไทย ทั้ง ซีไอเอ็มบีไทย  SCB IEC และ KKP Research  เพิ่งออกมาประมาณการจีดีพีไทยปี2564 ในทิศทางที่สอดคล้องกันคือ คาดการณ์เศรษฐกิจไทยขยายตัวต่ำกว่าตัวเลขเอดีบี รวมถึงตัวเลขของกองทุนการเงินระหว่างประเทศ (ไอเอ็มเอฟ) และธนาคารโลก (world Bank) ที่คาดการณ์เศรษฐกิจไทยปีหน้าด้วย 

ทั้งนี้สาเหตุสำคัญที่กังวลว่าเศรษฐกิจไทยจะเติบโตช้า หรือฟื้นตัวรั้งท้ายในภูมิภาค เนื่องจากประเมินภาคการท่องเที่ยวของไทยยังไม่มีแนวโน้มจะปรับตัวดีขึ้น เนื่องจากมีการระบาดรอบ2 ของโควิด-19 ในหลายประเทศทั่วโลก และแม้จะมีมาตรการกระตุ้นการท่องเที่ยวในประเทศ แต่รายได้จากนักท่องเที่ยวในประเทศยังคงไม่เพียงพอที่จะชดเชยรายได้ที่สูญไปจากนักท่องเที่ยวต่างชาติที่หายไป โดยรายได้จากนักท่องเที่ยวในประเทศคิดเป็นเพียง 1 ใน 3 ของรายได้จากนักท่องเที่ยวทั้งหมด 

นอกจากนี้ มาตรการของรัฐอย่าง “เราเที่ยวด้วยกัน” ก็ยังไม่สามารถกระตุ้นการท่องเที่ยวได้ตามที่คาดหวังไว้ โดยจากการใช้มาตรการมากว่า 2 เดือน ยังมีการใช้สิทธิ์จองที่พักเพียง 1 ล้าน จาก 5 ล้านสิทธิ์ หรือ 20% เท่านั้น  

ขณะที่แนวคิดการเปิดรับนักท่องเที่ยวต่างประเทศเข้ามาในประเทศอย่างมีนัยสำคัญจากเดิมที่คาดว่าจะเริ่มมีนักท่องเที่ยวเข้ามาบางส่วนช่วงปลายปีนี้มองไปในปีหน้า ประเทศไทยยังคงเผชิญโจทย์ท้าทายในการเปิดรับนักท่องเที่ยวต่างประเทศในวงกว้าง  เนื่องจากมีข้อจำกัดทั้งทางด้านความสามารถในการกักตัวและติดตามนักท่องเที่ยว ประกอบกับการพัฒนาการของวัคซีนที่มีแนวโน้มจะยังไม่สมารถใช้ได้ทันในช่วงครึ่งปีแรก 


 
จากสถานการณ์ดังกล่าวในมุมมองของ KKP Research  จึงคาดการณ์ว่า จำนวนนักท่องเที่ยวต่างประเทศในปี2564 จะเข้ามาเที่ยวไทยเพียง 6.4 ล้านคน  โดยคาดว่านักท่องเที่ยวจะเริ่มกลับเข้ามาได้อย่างเต็มเม็ดเต็มหน่วยมากขึ้นในช่วงครี่งหลังของปี 64  

ขณะที่ CIMB THAI คาดว่านักท่องเที่ยวต่างชาติจะยังไม่กลับมาเต็มที่ในปีหน้าหรือมีจำนวนประมาณ 6.3 ล้านคน  และ SCB EIC  คาดว่าจะมีนักท่องเที่ยวต่างชาติเข้าไม่ราว 8.3 ล้านคน 

จะเห็นว่าตัวเลขคาดการณ์นักท่องเที่ยวต่างชาติในปีนี้และปีหน้าไม่แตกต่างกันมากนัก กล่าวคือยังอยู่ระดับต่ำกว่า 10 ล้านคน ซึ่งต่ำกว่าระดับปกติก่อนโควิด-19คือที่ 40 ล้านคนอยู่มาก  และเมื่อพิจารณาโครงสร้างของเศรษฐกิจไทยที่พึ่งพาการท่องเที่ยวเป็นสัดส่วนมากถึง 12%ของจีดีพี ประกอบกับเศรษฐกิจไทยอ่อนแออยู่แล้วตั้งแต่ก่อนวิกฤติโควิด-19 จึงทำให้เศรษฐกิจไทยมีโอกาสฟื้นตัวได้ "ยากและช้า" กว่าประเทศอื่น โดยเฉพาะในภูมิภาคอาเซียน หากการท่องเที่ยวยังไม่กลับมา

อย่างไรก็ดี ยังมีความท้าทายต่อเศรษฐกิจไทยที่ต้องจับตามอง แม้เศรษฐกิจไทยจะผ่านจุดต่ำสุดไปแล้ว และเศรษฐกิจในประเทศค่อยๆ ฟื้นตัว  โดย KKP Research ประเมินว่ามี 3 ปัจจัยเสี่ยงที่ต้องจับตามองไว้น่าสนใจดังนี้ 

1. ฐานะการเงินของธุรกิจได้รับผลกระทบรุนแรง ธุรกิจขนาดกลางและเล็กมีความเสี่ยงในการเลิกกิจการ  หากสถานการณ์การปิดประเทศยังคงลากยาว แต่ผลกระทบต่อฐานะทางการเงินของธุรกิจอาจเลวร้ายลงโดยเฉพาะในกลุ่มที่มีการพึ่งพาการท่องเที่ยวเป็นหลัก โรงแรมจะยังประสบปัญหาอัตราการเข้าพักที่ยังไม่กลับมาจนถึงระดับที่คุ้มทุนในการดำเนินกิจการ



 เมื่อดูตัวเลขกำไรจากการดำเนินงานในรูปเงินสด (EBITDA) ของบริษัทในกลุ่มโรงแรมที่อยู่ในตลาดหลักทรัพย์แห่งประเทศไทย (SET) พบว่ากระแสเงินสดเปลี่ยนจากตัวเลขบวก เป็นติดลบในไตรมาส 2 ของปีนี้  ซึ่งจะกระทบต่อความสามารถในการดำเนินธุรกิจและการชำระหนี้ของบริษัท  ทั้งนี้ สถานการณ์มีแนวโน้มจะ “รุนแรง” มากกว่าสำหรับโรงแรมขนาดกลางและขนาดเล็กที่ไม่ได้อยู่ในตลาดหลักทรัพย์ 



KKP Researchพบว่า ธุรกิจหลายกลุ่มยังมีความเสี่ยงที่ผิดนัดชำระหนี้เพิ่มขึ้นในช่วงที่ผ่านมา จากการคำนวณอัตราส่วนความสามารถในการจ่ายดอกเบี้ย (Interest Coverage Ratio) หรือสัดส่วนกำไรก่อนดอกเบี้ยและภาษีเทียบกับดอกเบี้ยจ่ายของบริษัทในตลาดหลักทรัพย์แห่งประเทศไทย ภายใต้สมมติฐานว่าหากบริษัทมีอัตราส่วนนี้น้อยกว่า 1 หรือกำไรน้อยกว่าดอกเบี้ยจ่ายจะเข้าข่ายเป็นบริษัทที่มีความเสี่ยงจะผิดนัดชำระหนี้

ซึ่งหากนับรวมจำนวนหนี้ในกลุ่มบริษัทกลุ่มนี้จะคิดเป็นกว่า 15.7%ของปริมาณหนี้ทั้งหมดของบริษัทในตลาดหลักทรัพย์ในไตรมาส 2 ปี 2020(ไม่รวมบริษัทในภาคการเงินและ REIT) เพิ่มขึ้นอย่างมีนัยสำคัญจากไตรมาส 4 ปี 2019 ที่อยู่ที่ระดับ 8.1%  หากเศรษฐกิจยังฟื้นตัวอย่างเปราะบาง และธุรกิจยังคงมีกระแสเงินสดที่ติดลบต่อเนื่อง อาจทำให้ธุรกิจต้องปิดกิจการซึ่งจะเป็นความเสี่ยงที่สำคัญต่อการจ้างงานในระยะต่อไป



2. ผลกระทบต่อการว่างงานอาจรุนแรงขึ้นอีก  จากความเสี่ยงในการเลิกกิจการในธุรกิจที่เกี่ยวเนื่องกับการท่องเที่ยวที่จะยิ่งสูงขึ้นหากสถานการณ์ลากยาวต่อไป ตัวเลขชั่วโมงการทำงานในเดือนมิถุนายนปรับตัวลดลงถึง 12% เมื่อเทียบกับปีก่อนและหดตัวลงในแทบทุกกลุ่มอาชีพ  

สะท้อนให้เห็นว่าลำพังเฉพาะตัวเลขสำรวจการจ้างงานในไตรมาส 2 ที่ระบุว่ามีการว่างงานประมาณ 7 แสนคน หรือ 1.95% อาจไม่ใช่ปัจจัยที่สะท้อนสถานการณ์ในตลาดแรงงานได้ทั้งหมด หากนับรวมกลุ่มคนที่ถูกพักงานไม่ได้รับเงินเดือน หรือคนที่ถูกลดจำนวนชั่วโมงทำงานลง จะทำให้ตัวเลขนี้รวมกับคนว่างงานในปัจจุบันสูงถึงกว่า 3 ล้านคน KKP Research คาดว่าจำนวนการว่างงานอาจสูงถึง 5 ล้านคน หรือมากกว่านั้นได้หากเศรษฐกิจเข้าสู่กรณีเลวร้ายที่นักท่องเที่ยวไม่สามารถกลับมาได้ในปีหน้า 

ปัญหาการขาดรายได้และการว่างงานเป็นวงกว้างเช่นนี้ไม่เพียงแต่จะกระทบต่อชีวิตผู้คน ซ้ำเติมปัญหาหนี้ครัวเรือนและปัญหาทางสังคมอื่นๆ เท่านั้น แต่ยังส่งผลทางอ้อมต่อเศรษฐกิจอีกรอบหนึ่งอีกด้วยผ่านการชะลอลงของการบริโภค โดยเฉพาะการบริโภคในกลุ่มสินค้าคงทน เช่น บ้าน รถยนต์ ซึ่งคิดเป็นประมาณ 18% ของการบริโภคทั้งหมด ทำให้การบริโภคในปี 2021 อาจฟื้นตัวช้ากว่าที่คาดได้ 


 
3. มาตรการพักชำระหนี้แบบทั่วไปกำลังจะหมดลง
หลังจากที่มีการระบาดของ COVID-19 ธนาคารแห่งประเทศไทยได้ออกมาตรการช่วยเหลือภาคธุรกิจผ่านธนาคารพาณิชย์ในหลายรูปแบบไม่ว่าจะเป็นการลดอัตราดอกเบี้ย การพักและเลื่อนการชำระหนี้ออกไป 3 -6 เดือน การเพิ่มระยะเวลาในการคืนหนี้ ซึ่งแตกต่างกันไปตามประเภทของหนี้และสถาบันการเงิน จำนวนลูกหนี้ที่เข้าร่วมมาตรการพักชำระหนี้ของธนาคารแห่งประเทศไทย ณ เดือนกรกฎาคม โดยรวมมีถึง 12.5 ล้านบัญชี รวมมูลค่า 7.2 ล้านล้านบาท ซึ่งคิดเป็นประมาณ 1 ใน 3 ของหนี้ทั้งระบบ

เมื่อธนาคารแห่งประเทศไทยได้ประกาศว่าหลังจากเดือนตุลาคมเป็นต้นไปจะไม่มีการต่อโครงการพักชำระหนี้แบบทั่วไปเช่นในปัจจุบันอีก เพื่อป้องกันปัญหาการเข้าร่วมโครงการทั้งที่อาจจะไม่ได้รับผลกระทบจริง (Moral Hazard) และป้องกันความเคยชินจากการไม่จ่ายหนี้ของลูกหนี้ธนาคารแต่ละแห่งอาจจะต้องปรับโครงสร้างหนี้กับลูกค้าเป็นราย ๆ ไป ทำให้เรายังต้องจับตาดูว่าหลังจากนี้จะมีลูกหนี้สัดส่วนมากน้อยเพียงใดที่จะไม่สามารถกลับมาจ่ายหนี้ได้ และหนี้จำนวนมากแค่ไหนที่จะกลายเป็นหนี้เสีย (NPL) 

จากมุมมองต่อเศรษฐกิจในระยะข้างหน้าที่ยังอ่อนแอและมีความไม่แน่นอนสูงภาครัฐยังจำเป็นต้องมีมาตรการเพิ่มเติมเพื่อช่วยประคับประคองเศรษฐกิจให้เดินหน้าและรองรับแรงงานที่ตกงานจำนวนมหาศาล แม้ว่ารัฐบาลจะมีการออกชุดมาตรการในการกระตุ้นเศรษฐกิจมาแล้วในจำนวน 1 ล้านล้านบาท หรือราว 6% ของ GDP  แต่KKP Research ประเมินว่ารัฐยังมีความสารถในการทำนโยบายการคลังเพิ่มเติมหลังจากนี้ แม้ว่าจะมีความกังวลมากขึ้นเกี่ยวกับหนี้สาธารณะที่มีแนวโน้มจะแตะระดับ 60% ซึ่งเป็นเพดานตามกฎหมายในปัจจุบัน 



แต่จากต้นทุนในการกู้ยืมเงินของรัฐที่ต่ำลงมากเมื่อเทียบกับอดีต (อัตราดอกเบี้ยของพันธบัตรรัฐบาล 10 ปี อยู่ที่ 1.5% เทียบกับ 3.5% ในช่วง 6-7 ปีที่ผ่านมา) ทำให้ประเมินว่าประเด็นเรื่องความสามารถในการจ่ายหนี้และความมั่นคงทางการคลังจะไม่เป็นปัญหามากนักบนเงื่อนไข 3 ข้อ 
(1) หนี้ที่กู้ยืมมาต้องถูกใช้ไปอย่างเหมาะสมเพื่อสร้างการเติบโตของ GDP ในอนาคต
(2) ตลาดยังมีความเชื่อมั่นในความมั่นคงทางการคลังและอัตราดอกเบี้ยยังอยู่ในระดับต่ำต่อเนื่อง 
(3) รัฐมีการวางแผนในการลดการขาดดุลการคลังในอนาคตที่ชัดเจน  เช่นการปฏิรูปภาครัฐเพื่อลดรายจ่าย และเพิ่มรายได้ภาครัฐในอนาคต

เพราะฉะนั้น หากรัฐบาลจะกู้เงินเพิ่มเติมก็น่าจะทำได้ เพราะภายใตสถานการณ์ที่มีความไม่แน่นอนสูงเช่นนี้ รัฐจำเป็นต้องเร่งออกมาตรการอื่น ๆ เพิ่มเติม และคิดถึงความเสี่ยงที่อาจเกิดขึ้นในอนาคตเพื่อเตรียมเครื่องมือให้พร้อมหากสถานการณ์ไม่ได้เป็นไปตามคาด แต่การกู้เงินเพิ่มโดยไม่ให้กระทบต่อฐานะทางการคลัง หรือบั่นทอนความมั่นคงทางการคลัง จะต้องอยู่บนเงื่อนไขที่กล่าวมาแล้วด้วย เศรษฐกิจถึงจะเดินต่อไปได้ 

ติดตามรายการเศรษฐกิจ Insight ตอน  เศรษฐกิจไทยปีหน้า ฟื้นตัวยาก เสี่ยงสะดุด  โตช้ารั้งท้ายในภูมิภาค
ได้ที่ https://www.youtube.com/watch?v=CUUZufhD084


เกาะติดข่าวที่นี่

website: www.TNNTHAILAND.com
facebook : TNNONLINE
facebook live : TNN Live
twitter : TNNONLINE
Line : @TNNONLINE
Youtube Official : TNNONLINE
Instagram : TNN_ONLINE
TIKTOK : @TNNONLINE

ยอดนิยมในตอนนี้

แท็กยอดนิยม

ข่าวที่เกี่ยวข้อง