รีเซต

‘โกลเด้นบอย’ ค้นพบที่บุรีรัมย์ อาจพลิกโฉมประวัติศาสตร์อาณาจักรเขมรโบราณ

‘โกลเด้นบอย’ ค้นพบที่บุรีรัมย์ อาจพลิกโฉมประวัติศาสตร์อาณาจักรเขมรโบราณ
TNN ช่อง16
20 พฤษภาคม 2567 ( 12:30 )
9
1
‘โกลเด้นบอย’ ค้นพบที่บุรีรัมย์ อาจพลิกโฉมประวัติศาสตร์อาณาจักรเขมรโบราณ

จากกรณีที่พิพิธภัณฑ์ศิลปะ The Metropolitan Museum of Art หรือ The MET ที่รัฐนิวยอร์ค ประเทศสหรัฐอเมริกา จะส่งโบราณวัตถุ 2 ชิ้นคืนให้ประเทศไทย ประกอบไปด้วย โกลเด้น บอย (Golden Boy) ประติมากรรมสำริดกะไหล่ทองทั้งองค์ และประติมากรรมสตรีนั่งชันเข่าพนมมือ หลังจากที่ทีมงานคนไทยได้ใช้เวลาทวงคืนมายาวนาน โดยจะส่งคืนให้ไทยในวันจันทร์ที่ 20 พ.ค.67 และจะถึงที่สนามบินสุวรรณภูมิในวันที่ 21 พ.ค.นี้ โดยจะมีกระบวนการผ่านการตรวจสอบของกรมศุลกากร ก่อนที่จะนำไปที่พิพิธภัณฑสถานแห่งชาติพระนคร กรุงเทพมหานคร นั้น


ดร.ทนงศักดิ์ หาญวงษ์ นักวิชาการอิสระด้านโบราณคดี และหนึ่งในคณะกรรมการติดตามโบราณวัตถุของไทยในต่างประเทศกลับคืนสู่ประเทศไทย กล่าวถึงเรื่องนี้ว่า หลักฐานชิ้นสำคัญที่ยืนยันว่า ‘โกลเด้นบอย’  พบที่บ้านยางโป่งสะเดา ต.ตาจง อ.ละหานทราย จ.บุรีรัมย์ ประเทศไทย คือหนังสือ 2 เล่ม ได้แก่ ขแมร์บอนด์ และขแมร์โกลด์ ที่เขียนโดยดักลาส แลตช์ฟอร์ด (Douglas A.J. Latchford) นายหน้าค้าโบราณวัตถุ ผู้มีส่วนเกี่ยวข้อง กับการนำโกลเด้นบอย ออกนอกประเทศที่ระบุชัดเจนว่า วัตถุโบราณโกลเด้นบอย พบที่ จ.บุรีรัมย์ ประเทศไทย โดยมีคำว่า ‘ละหาน’ และ ‘บ้านยาง’ อยู่ในพิกัด ทำให้ทีมงานนักโบราณคดีของไทย นำมาต่อจิ๊กซอว์ และใช้เวลาศึกษาอยู่นานกว่า 3 ปี จนทราบแน่ชัดว่า มีชาวบ้านขุดพบที่หมู่บ้านยางโป่งสะเดา ต.ตาจง อ.ละหานทราย จ.บุรีรัมย์ เมื่อลงพื้นที่ไปสำรวจก็พบกับครอบครัวที่ขุดวัตถุโบราณโกลเด้นบอยได้ จึงนำไปดูร่องรอยของฐานประติมากรรมสำริดดังกล่าว ซึ่งอยู่ในปราสาทบ้านยางโป่งสะเดา

ดร.ทนงศักดิ์ หาญวงษ์ นักวิชาการอิสระด้านโบราณคดี 


การค้นพบประติมากรรมสำริด ‘โกลเด้นบอย’ ในครั้งนี้มีความสำคัญมาก เป็นการพลิกหน้าประวัติศาสตร์เกี่ยวกับวัฒนธรรม และความเชื่อของอาณาจักรเขมรโบราณแบบเดิมโดยสิ้นเชิง โดยเฉพาะลักษณะของรูปหล่อโกลเด้นบอย มีลักษณะเหมือนรูปสลักที่ปราสาทหินพิมาย ไม่เหมือนพระศิวะที่เคยเห็นโดยทั่วไป ดังนั้น จึงน่าจะเป็นรูปเคารพของพระเจ้าชัยวรมันที่ 6 ซึ่งพระองค์เป็นต้นราชวงศ์มหิธรปุระ สืบเชื้อพระวงศ์มาจากพระเจ้าสุริยวรมันที่ 1 ที่สร้างปราสาทหินเขาพระวิหาร โดยพระเจ้าชัยวรมันที่ 6 ได้สร้างปราสาทหินพิมายขึ้น เพื่อเป็นศูนย์กลางการปกครองของอาณาจักรเขมรโบราณทั้งหมด 


การค้นพบครั้งนี้อาจทำให้เราต้องเปลี่ยนหน้าประวัติศาสตร์ใหม่ จากเดิมที่เคยเชื่อว่า อาณาจักรเขมร แผ่มาจากทางฝั่งกัมพูชามาสู่ที่ราบสูงโคราช แต่จากหลักฐานใหม่ทำให้รู้ว่า อาณาจักรขอมเคยยิ่งใหญ่อยู่บนที่ราบสูงโคราชมาก่อน แล้วจึงแผ่ไปทางฝั่งเมืองเสียมเรียบ กัมพูชา ในภายหลัง  และหลักฐานที่ชัดเจนก็คือ หลานของพระองค์ คือพระเจ้าสุริยะวรมันที่ 2 ที่สร้างปราสาทนครวัด และที่ชัดที่สุด คือพระเจ้าชัยวรมันที่ 7 ที่สร้างปราสาทบายน ที่นับถือศาสนาพุทธ นิกายมหายาน เช่นเดียวกับพระเจ้าชัยวรมันที่ 6 เพราะฉะนั้นการนับถือศาสนาพุทธ นิกายมหายานลักษณะนี้ มีการสืบทอดกันมาจนถึงยุคสุดท้ายของวัฒนธรรมเขมร


 โกลเด้น บอย (Golden Boy) 


ที่สำคัญก่อนหน้านั้น ก็มีการค้นพบวัตถุโบราณประติมากรรมสำริดกรุประโคนชัย ซึ่งมีอายุราว พ.ศ.1300 อยู่ห่างจากจุดที่พบโกลเด้นบอยเพียง 5 กิโลเมตร ซึ่งมีความเก่าแก่กว่าประติมากรรมหล่อสำริดโกลเด้นบอยที่มีอายุราว พ.ศ.1623 อายุห่างกว่ากัน 300 กว่าปี แสดงให้เห็นว่าประติมากรรมการหล่อสำริด มีการสืบทอดกันมาก่อนประติมากรรมหล่อสำริดโกลเด้นบอยมานานแล้ว  และประติมากรรมหล่อสำริดเหล่านี้ เป็นประติมากรรมทางพระพุทธศาสนาที่เจริญรุ่งเรืองที่สุด แล้วแผ่อิทธิพลไปถึงที่ลุ่มทะเลสาบในเสียมเรียบปัจจุบัน ถ้าไล่อาณาจักรราชวงศ์มหิธรปุระ คืออาณาจักรที่แผ่อิทธิพลไปปกครองอาณาจักรเขมรทั้งหมด โดยสืบเชื้อสายจากชาวพุทธบริเวณลุ่มแม่น้ำมูลนั่นเอง

จุดค้นพบ ‘โกลเด้นบอย’  พบที่บ้านยางโป่งสะเดา จ.บุรีรัมย์


ดร.ทนงศักดิ์ฯ กล่าวอีกว่า ตนเองเป็นห่วงเรื่องขบวนการลักลอบนำวัตถุโบราณออกจากประเทศไทยมาก เพราะมีมานานแล้ว แนวทางการป้องกันคงทำได้ยาก แต่สิ่งที่สามารถทำได้ตอนนี้ก็คือ ต้องเริ่มตั้งแต่การปลูกฝังความหวงแหนวัตถุโบราณให้เกิดขึ้นกับชาวบ้านในพื้นที่ เพราะโบราณสถานจะต้องมีโบราณวัตถุอยู่ในนั้น  จึงจะมีประชาชนนับถือ เข้าไปกราบสักการบูชาได้ ดังนั้น เมื่อโบราณสถานไม่มีโบราณวัตถุอยู่ ก็ไร้ที่ยึดเหนี่ยวจิตใจของชาวชุมชน โบราณสถานก็จะถูกปล่อยทิ้งร้างไป เป็นผลสืบเนื่องกันไปหมด ทำให้หลักฐานทางประวัติศาสตร์ต่างๆ สูญหายไปต่อเนื่อง 


หลังจากไทยได้ประติมากรรมหล่อสำริดโกลเด้นบอยมาแล้ว ตนก็อยากให้นำมาตั้งไว้ที่เดิม คือ ที่ปราสาทบ้านยางโป่งสะเดา ต.ตาจง อ.ละหานทราย จ.บุรีรัมย์ หรือหากรัฐบาลจะเก็บของจริงไว้ในพิพิธภัณฑ์ ก็ควรทำเป็นองค์จำลองมาตั้งไว้ที่ปราสาทบ้านยางโป่งสะเดาก็ได้  เพื่อให้ชาวบ้านได้กราบไหว้บูชา หรือส่งเสริมให้กลายเป็นแหล่งท่องเที่ยว พัฒนาเศรษฐกิจในพื้นที่ให้ดีขึ้นต่อไป 


ดร.ทนงศักดิ์ฯ กล่าวในตอนท้ายว่า จากการรับทราบข้อมูลจากชาวบ้านระบุ ในสมัยก่อนมีการซื้อวัตถุโบราณ โกลเด้นบอยจากประเทศไทยมีราคาสูงถึง 1 ล้านบาท และราคาซื้อขายในประเทศสหรัฐอเมริกาสูงถึงประมาณ 100 ล้านบาท จึงเป็นที่ดึงดูดใจของนักค้าวัตถุโบราณในต่างประเทศเป็นอย่างมาก


ข้อมูลจาก: ผู้สื่อข่าวภูมิภาคจังหวัดนครราชสีมา 

ภาพจากผู้สื่อข่าวภูมิภาคจังหวัดนครราชสีมา 

ข่าวที่เกี่ยวข้อง