รีเซต

ต้นแบบ Hyperloop ย่อส่วนในยุโรป ทดสอบระบบการวิ่งสำเร็จ

ต้นแบบ Hyperloop ย่อส่วนในยุโรป ทดสอบระบบการวิ่งสำเร็จ
TNN ช่อง16
10 พฤศจิกายน 2567 ( 09:33 )
17

ยุโรปประสบความสำเร็จในการทดสอบระบบขนส่ง ไฮเปอร์ลูป (Hyperloop) หรือระบบขนส่งความเร็วสูงผ่านท่อสุญญากาศ โดยเป็นระบบแบบย่อส่วน ซึ่งสามารถวิ่งได้ในระยะทางไกลที่สุดเท่าที่เคยทดสอบมา ความสำเร็จครั้งนี้อาจทำให้ระบบการขนส่งความเร็วสูง เข้าใกล้ความเป็นจริงขึ้นไปอีกขั้น




เทคโนโลยีไฮเปอร์ลูป ถูกนำเสนอในปี 2013 โดยอีลอน มัสก์ (Elon Musk) เจ้าของบริษัทด้านอวกาศอย่าง สเปซเอ็กซ์ (SpaceX) โดยเป็นแนวคิดเกี่ยวกับแคปซูลขนส่ง ที่วิ่งอยู่ในท่อสุญญากาศ ช่วยลดแรงต้านของอากาศ ทำให้สามารถวิ่งได้ด้วยความเร็วสูงสุดที่ 1,200 กิโลเมตรต่อชั่วโมง 


ล่าสุด อีพีเอฟแอล (EPFL) หรือสถาบันเทคโนโลยีแห่งสหพันธ์สวิส โลซาน ในประเทศสวิตเซอร์แลนด์ ได้ทำการทดสอบต้นแบบ ของเทคโนโลยีไฮเปอร์ลูปในโครงการชื่อว่า ลิมิตเลส (LIMITLESS) โดยใช้เป็นไฮเปอร์ลูปจำลองในมาตราส่วน 1:12 ที่มีท่อเดินทาง ขนาดเส้นผ่านศูนย์กลาง 40 เซนติเมตร 


จากการทดสอบไปแล้ว 82 ครั้ง ทีมพัฒนาพบว่าแคปซูลสามารถวิ่งในระยะทางไกลสุดอยู่ที่ 11.8 กิโลเมตร และทำความเร็วสูงสุดที่ 40.7 กิโลเมตรต่อชั่วโมง โดยเป้าหมายต่อไป คือการพัฒนาระบบให้ทำระยะทางได้ไกลขึ้นเป็น 140 กิโลเมตร และทำความเร็วสูงสุดที่ราว 480 กิโลเมตรต่อชั่วโมง


นอกจากโครงการนี้แล้ว ยังมีบริษัทสัญชาติเนเธอร์แลนด์อย่าง ฮาร์ดท์ ไฮเปอร์ลูป (Hardt Hyperloop) ที่เคยทดสอบไฮเปอร์ลูปสำเร็จเช่นกัน โดยสามารถทำให้แคปซูลเคลื่อนที่ด้วยความเร็วสูงสุด 30 กิโลเมตรต่อชั่วโมง ในท่อระยะทางประมาณ 100 เมตร


บริษัทเปิดเผยว่าในอนาคต หากสามารถขยายโครงสร้างพื้นฐานได้ ตัวแคปซูลจะสามารถทำความเร็วได้ถึง 100 กิโลเมตรต่อชั่วโมง และหากขยายโครงสร้างให้ไกลขึ้นได้อีก ก็จะสามารถบรรลุความเร็วสูงสุดของไฮเปอร์ลูปได้อย่างแท้จริง ทั้งนี้บริษัทมีเป้าหมายที่จะให้แคปซูลเคลื่อนที่ผ่านท่อได้ด้วยความเร็วสูงสุด 700 กิโลเมตรต่อชั่วโมง 




ที่มาข้อมูล NewAtlas, Swisspod

ที่มารูปภาพ EPFL

ข่าวที่เกี่ยวข้อง