รีเซต

แพทย์ประเมินโอกาสไทยเกิดโควิด-19 ระบาดรอบ 2

แพทย์ประเมินโอกาสไทยเกิดโควิด-19 ระบาดรอบ 2
TNN ช่อง16
11 กรกฎาคม 2563 ( 07:53 )
253
แพทย์ประเมินโอกาสไทยเกิดโควิด-19 ระบาดรอบ 2

ศ.นพ.ยง ภู่วรวรรณ หัวหน้าศูนย์เชี่ยวชาญเฉพาะทางด้านไวรัสวิทยาคลินิก ภาควิชากุมารเวชศาสตร์ คณะแพทยศาสตร์จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย เปิดเผยกับสำนักข่าว TNN ช่อง16 ว่า โควิด-19 เข้ามายังไทยเมื่อกลางเดือนมกราคม โดยสถานการณ์ปัจจุบันของไทยตอนนี้เหมือนกับสถานการณ์ช่วงเดือนมกราคมที่มีแต่เชื้อนำเข้า โดยโรคจะเกิดได้ก็ต่อเมื่อมีการนำเข้าจากต่างประเทศ  

ขณะที่ ปัจจุบันสถานการณ์ของไทยถือว่าดีกว่าเดือนมกราคมที่ผ่านมา เนื่องจากมีการปิดสนามบิน ใครก็ตามที่จะเข้าประเทศผ่านสนามบิน ต้องเข้าสู่สถานกักกันของรัฐเป็นเวลา 14 วัน โดยจะเปิดเกมรุกในการตรวจหาเชื้อทุกคน ทำให้เจอผู้ติดเชื้อก่อนที่จะแสดงอาการเป็นส่วนใหญ่ ซึ่งตรงกันข้ามกับครั้งที่แล้ว ในเดือนมกราคม ที่ไม่ได้มีการกักกันผู้ที่เดินทางมาจากต่างประเทศ ทำให้พบผู้ป่วยในประเทศไทยตั้งแต่ช่วงเดือนมกราคมเป็นต้นมา


ในระยะแรกที่พบผู้ป่วยติดเชื้อโควิด-19 ในเดือนม.ค-ก.พ จะเป็นผู้ที่เดินทางมาจากประเทศจีน แล้วจะเห็นว่าผู้ติดเชื้อรายแรกๆ ที่เป็นคนไทยจะติดจาการสัมผัสนักท่องเที่ยวชาวจีน  เช่น คนขับรถทัวร์ ขับรถแท็กซี่ แม้กระทั่งพ่อค้าแม่ค้าที่ขายของให้นักท่องเที่ยว แต่ครั้งนี้ได้บทเรียนจากครั้งที่แล้วว่า ถ้าเราปล่อยให้การเดินทางนำเชื้อเข้ามาในประเทศโดยไม่มีการควบคุมกักกัน อาจเกิดการแพร่กระจายของเชื้อเหมือนเช่นเดือนมกราคมที่ผ่านมาได้

ทำให้ครั้งนี้ต้องมีการกักตัวจากรัฐ ระหว่างการกักตัว 14 วัน ต้องมีการตรวจเชื้อ กระบวนนี้เองที่ทำให้ตอนนี้เชื้อโควิด-19ไม่สามารถหลุดเข้ามาได้ เพราะว่า สามารถตรวจเจอเชื้อก่อน โดยจะมีรายงานเกือบทุกวันถึงสถานการณคนไข้ที่ติดเชื้อ และส่วนใหญ่จะอยู่ในสถานกักกันของรัฐ  ซึ่งเป็นเรื่องธรรมดาหากยังพบผู้ติดเชื้ออยู่  อีกด้านก็ทำให้ปลอดเชื้อในประเทศมากว่า 40 วัน แต่ถ้าปล่อยไม่มีสถานกักกันโรค ก็คงไม่ต่างจากสถานการณ์การแพร่ระบาดในช่วงแรก

"เราไม่สามารถที่จะปิดประเทศได้ตลอด ต้องยอมรับว่าไทย รายได้หลักมาจากการท่องเที่ยว ถ้าเราปิดประเทศแบบนี้ตลอดไป เศรษฐกิจก็แย่ เพราะฉะนั้นในอนาคต ที่มีการหารือถึงการเปิดให้มีการท่องเที่ยวเชิงสุขภาพ การท่องเที่ยวแบบจับคู่ท่องเที่ยว แล้วค่อยขยายที่ระดับ ในการที่จะขยายแผนต่างๆ ต้องมีแนวทางปฏิบัติการควบคุมโรคที่เคร่งครัดเพื่อไม่เชื้อโควิด-19 หลุดมาได้" แพทย์ผู้เชี่ยวชาญ เฉพาะทางด้านไวรัสวิทยาคลินิก รพ.จุฬาฯ ให้ความเห็น


ศ.นพ.ยง กล่าวต่อว่า ภายหลังจากที่เชื้อโควิด-19 ระบาดจากจีน เข้าสู่ประเทศต่างๆ ในระยะแรกพบว่า สายพันธุ์ ที่มาจากประเทศจีน แต่เชื้อนี้เมื่อระบาดสู่ยุโรป นักวิทยาศาสตร์พบว่ามันมีกลายพันธุ์ 1 ตำแหน่ง ที่เราเรียกว่า "D614G" การกลายพันธุ์นี้ไม่ได้ทำให้เกิดความรุนแรงเพิ่มขึ้น แต่ทำให้การติดเชื้อง่ายขึ้น จึงมีการแพร่ระบาดอย่างรวดเร็วในยุโรป

นอกจากนี้ ทางยุโรป อเมริกา มาตรการการป้องกันควบคุมไม่ได้เข้มแข็งเท่าทางเอเชียและประเทศไทย จะให้ใส่หน้ากากอนามัยก็ไม่ค่อยยอม จึงเกิดการแพร่ระบาดได้อย่างรวดเร็ว ขณะที่ เชื้อที่เกิดการระบาดจากยุโรปไปสู่อเมริกา จะเป็นเชื้อที่แพร่กระจายได้ง่ายกว่าในช่วงแรก จึงทำให้เกิดการระบาดใหญ่เข้าสู่อเมริกา ละตินเมริกา แม้กระทั่งอินเดีย 


ทั้งนี้ เชื้อโคโรน่าไวรัส 2019 เมื่อไปอยู่ที่ใดก็ตามไม่ได้ทำให้ความรุนแรงต่อโรคต่างกัน โอกาสเป็นปอดบวม โอกาสหายใจล้มเหลวไม่ต่างกันเลยระหว่างเอเชีย ยุโรป หรือ อเมริกา แต่มีประเด็นหนึ่่งเองที่เชื้อตัวนี้ เมื่อแพร่ระบาดไปถึงยุโรป แล้วมีการเปลี่ยนแปลงพันธุกรรมเล็กน้อย ที่ทำให้เชื้อตัวนี้แพร่กระจายได้ง่ายและเร็วกว่า ทำให้สายพันธุ์เอเชีย กำลังถูกกลบด้วยสายพันธุ์ยุโรป เพราะสายพันธุ์ยุโรปไม่ได้รุนแรงกว่า แต่แค่แพร่เชื้อได้ง่ายกว่า โดยมีการศึกษาออกมาเรียบร้อยแล้วว่า สายพันธุ์ยุโรปมีการเปลี่ยนแปลงของกรดอะมิโน 1 ตำแหน่ง ที่เราเรียกว่า "G Type" ขณะที่ ก่อนหน้านี้จะมีแค่ L Type และ S Type เท่านั้น

"ตอนนี้สายพันธุ์ยุโรปที่พูดถีง มี V Type กับ G Type แต่ G Type เป็นสายพันธุ์ที่แพร่กระจายได้ง่าย จึงทำให้สายพันธุ์ G Type เป็นสายพันธุ์เด่นของทั่วโลกขณะนี้ เพราะไปได้เร็วกว่า จึงไปกลบสายพันธุ์ที่แพร่กระจายได้น้อยกว่า แต่อีกปัจจัยหนึ่งที่ทำให้ยุโรปแพร่กระจายได้ง่ายกว่าทางเอเชีย คือ ทางยุโรป

มาตรการในการควบคุมป้องกันที่น้อย ถ้าเปรียบเทียบกับทางเอเชียแล้ว ทั้งการใส่หน้ากากอนามัย การปฏิบัติตัว ที่ดีกว่า หากอนาคตมีความเป็นไปได้ ที่ในประเทศไทยจะมีการติดเชื้อโควิด-19 สายพันธุ์ยุโรป  เช่น อินเดีย ก็เป็นสายพันธุ์ยุโรปไปหมดแล้ว" แพทย์ด้านไวรัสวิทยาคลินิก อธิบาย


แนวโน้มการเชื้อโควิด-19 ระบาด รอบ 2 ในไทย

ศ.นพ.ยง กล่าวถึงโอกาสในการแพร่ระบาดระลอก 2 ในประเทศไทยว่า ต้องทำใจไว้ว่ามีความเป็นไปได้กับการติดเชื้อภายในประเทศ แต่ถ้าหากเกิดแล้ว มีการควบคุมได้ ไม่ต้องไปกลัวอะไร สมมติหากจะบอกว่าจะไม่ให้เชื้อหลุดเข้าประเทศเลย ก็ต้องปิดประเทศให้สนิท แต่การจะปิดให้สนิทบางครั้งก็ยากพอสมควร เนื่องจากแต่เดิม เชื้อบินมาทางอากาศและอยู่ในสถานกักกันหมด แต่หากในอนาคตเชื้อว่ายน้ำมา หรือเดินมา เนื่องจากประเทศไทยมีพรมแดนธรรมชาติอันยาวไกล มีดินแดนทางทะเลอันกว้างไกล จะเห็นได้เลยว่าการเดินข้ามระหว่างประเทศก็ยังมีอยู่ มีโอกาสเป็นไปได้ 

เนื่องจากไม่ได้กั้นรั้วให้สนิท ถ้ากรณีที่ประเทศเพื่อนบ้านมีการแพร่ระบาดเกิดขึ้น  แล้วถ้าเดินเข้ามาไม่มีการคัดกรอง โอกาสที่เชื้อจะหลุดเข้ามาก็มีความเป็นไปได้ หรือแม้กระทั่งชาวประมงไปหาปลาทางทะเล อาจจะไปเจอหรือซื้อขายแลกเปลี่ยนไปสัมผัสกับชาวประมงต่างชาติ มีโอกาสอีกในการสัมผัส

ทุกอย่างมีความเป็นไปได้ทั้งนั้น โอกาสเกิดขึ้นได้มี แต่มากน้อยแค่ไหนขึ้นอยู่กับกระบวนการในการที่จะดูแลป้องกัน เพราะคงจะปิดประเทศอย่างนี้ต่อไปไม่ได้ แต่ถ้าในกรณีที่มีการหลุดเข้ามา สิ่งที่สำคัญที่สุด คือ ต้องรีบปิดล้อมแล้วจำกัดวงให้ได้เร็วที่สุด ถ้าในกรณีที่มีการระบาดในระลอก 2 เกิดขึ้น 


ศ.นพ.ยง ยกตัวอย่างว่า สมมติมีผู้ป่วย 20 -30 ราย แบบเช่นในเกาหลีใต้ที่มีผู้ป่วยวันละ 50 ราย หรือในญี่ปุ่นกว่า 100 ราย ก็พยายามที่จะปรับตัว ถ้าจำนวนคนไข้ที่ไม่เยอะเกินไปแล้วควบคุมให้อยู่ในสถานการณ์ที่พอเหมาะ ให้ระดับของโรงพยาบาลทุกแห่งรองรับได้ คนไข้จะต้องไม่ล้นโรงพยาบาล ไม่ต้องล้นไอซียู

ในอนาคตคิดว่าโอกาสที่จะเกิดการระบาดระลอก 2 ไม่อยากให้เกิด แต่ถ้าเกิดก็ขอให้เกิดในสถานะที่ควบคุมได้ หลัก 10 20 30 และมีการดูแลรักษาคนไข้อย่างดี โอกาสที่จะสูญเสียก็จะน้อย พร้อมกับให้เศรษฐกิจเดินไปได้ด้วย แต่ถ้าบอกว่าปิดประเทศให้สนิท ไม่มีคนไข้สักคน ภาวะเศรษฐกิจย้ำแย่  มันก็จะเหวี่ยงไปอีกด้านหนึ่ง เพราะฉะนั้น การดำเนินวิถีชีวิตใหม่นั้น ต้องเป็นวิถีชีวิตที่คนอยู่ได้ เศรษฐกิจก็ต้องอยู่ได้ ทางสุขภาพ ก็ต้องอยู่ได้ จะต้องอยู่ในจุดสมดุลกัน เพราะว่า การเดินทางหรือการต่อสู้กับเชื้อโรคร้ายนี้

"ผมพูดเสมอว่า เราไม่ได้แข่งวิ่งร้อยเมตร เราเป็นการแข่งวิ่งมาราธอน แล้วมาราธอนนี้ จุดหมายปลายทางยังอีกยาวไกล เพราะขณะนี้ เราพึ่งวิ่งมาได้อยู่ในหลักกิโลเมตรแรกๆ เท่านั้น  บางครั้งต้องมีการผ่อนหนัก ผ่อนเบา เพื่อให้เราเดินทางไปให้ถึงจุดหมายที่สุดในระยะยาว" แพทย์ผู้เชี่ยวชาญด้านไวรัสวิทยา กล่าวย้ำ


สถานการณ์โควิด-19 ในไทยดีขึ้น ต้องเข้มงวดมาตรการสาธารณสุขต่อหรือไม่?

ศ.นพ.ยง กล่าวว่า ขอให้อย่าคิดว่าสถานการณ์บ้านเมืองดีขึ้น หากใครคิดแบบนั้น บอกได้เลยว่า "การด์ตก" อย่างที่พูดกันเสมอๆ ในการไม่ป้องกันตัวเอง ถึงแม้สถานการณ์ในไทยดี แต่ในขณะเดียวกันรอบประเทศ และทั่วโลก มีผู้ป่วยใหม่วันละ กว่า 200,000 ราย เมื่อก่อนนี้คนไข้จะ 1 ล้านคน ต้องใช้ระยะเวลา 12 วัน แต่ในสมัยจีนที่มีการแพร่ระบาดใช้เวลา 2-3 เดือน ในการมีผู้ป่วย 80,000 ราย ต่อมาก็ 1 ล้านราย ใช้ระยะเวลา 12 วัน จากนั้นก็ขยับมาเวลาสั้นขึ้นเรื่อยๆ จนมาอยู่ที่ 1 ล้านรายภายใน 5 วัน คาดการณ์ว่าอนาคตจะมีผู้ป่วย 1 ล้านราย ในระยะเวลาเพียง4 วัน โดยจะเห็นว่าแค่ป่วย 3-4 วัน มากกว่าการเกิดโรคนี้ในจีน 2-3 เดือน

ดังนั้น แสดงให้เห็นว่าภัยคุกคามของโรคนี้ เมื่อเปรียบเทียบกับเดือนมกราคมที่ผ่านมา "ใหญ่หลวงกว่ามาก" เพราะว่าประเทศที่ไม่ห่างไกลจากไทย เช่น ประเทศอินเดีย บังคลาเทศ ศรีลังกา อินโดนิเซีย ประเทศเหล่านี้มีจำนวนผู้ป่วยมากมาย


แม้กระทั่งประเทศสิงค์โปร์ที่มีผู้ป่วยทุกวัน แต่สามารถที่จะรองรับได้ แล้วการสูญเสียต่ำมาก เพราะสามารถแยกแยะควบคุมได้ ขณะที่ประเทศไทย บอกว่า ตอนนี้บ้านเราไม่มีผู้ติดเชื้อในประเทศเลย แล้วนิ่งนอนใจ อย่างนี้ไม่ได้ ถ้านิ่งนอนใจเมื่อใด เกิดการระบาดขึ้นมาจะตั้งตัวไม่ทันเพราะโรคนี้ติดต่อง่าย เมื่อติดต่อง่าย ทุกคนต้องระมัดระวังตลอดเวลา

"ผมจะบอกว่าไปขึ้นรถไฟฟ้า ไม่ใส่หน้าอนามัยไม่ได้ จะต้องใส่หน้ากากอนามัย เนื่องจากการใส่หน้ากากอนามัย เป็นการป้องกันเรา และเป็นการป้องกันเขา ทำให้อย่างน้อยทำให้ลดโอกาสลงไป แล้วยิ่งทุกคนเสริมด้วยสุขอนามัย ล้างมือบ่อยๆ กำหนดระยะห่างระหว่างบุคคล

เพราะเรารู้ว่าโอกาสเชื้อจะแพร่กระจายไปในระยะ 1-2 เมตร โดยระยะ 2 เมตร เป็นระยะที่ค่อนข้างจะปลอดภัย อย่างน้อยมาตรการต่างๆ ที่กำหนดมานั้น เมื่อเชื้อหลุดเข้ามาก็จะอยู่ในมาตรการที่ควบคุมได้ ไม่ให้มันกระจายอย่างรวดเร็ว การใส่หน้ากากอนามัย ให้ติดเป็นนิสัย อย่างน้อยไม่ได้กันแค่โควิด-19 แต่กันไข้หวัดใหญ่ ไข้หวัดอื่นๆ หรือโรคเกี่ยวกับระบบทางเดินหายใจได้อีกด้วย"  ศ. นพ.ยง เน้นย้ำ


มาตรฐานการควบคุมดูแลโรคโควิด-19 ในประเทศไทย

ศ. นพ.ยง มองว่า วันนี้การควบคุมดูแลของประเทศไทยดีมาก ที่ผ่านมาจะเห็นว่าการแพร่ระบาดในไทยจากสูงมากๆ ให้ลงมาอยู่ที่ศูนย์ ได้ จนทำให้การติดต่อในประเทศไม่มีแล้วตอนนี้ แสดงว่าการควบคุมมีประสิทธิภาพสูงมาก ถ้าไปเปรียบเทียบกับทางตะวันตกหรือประเทศอื่น 

จะเห็นว่าการควบคุมโรคจะประสบความสำเร็จได้นั้น ไม่ใช่เฉพาะกระทรวงสาธารณสุข  หรือฝ่ายรัฐบาลเท่านั้น แต่เกิดจากความร่วมมือของทุกคน โดยในช่วงที่มีการระบาดมีนาคม-เมษายน ให้หยุดอยู่บ้าน หยุดเชื้อ เพื่อชาติ แล้วก็มาตรการลดการเดินทาง ทุกคนพร้อมใจกันทำค่อนข้างดี เมื่อดีก็มีการผ่อนปรน

แต่อย่างไรก็ตาม มาตรการหลัก หรือ วิถีชีวิตใหม่ ก็ยังคงต้องดำเนินต่อไป สิ่งไหนที่ทำได้ เห็นว่าทุกคนต้องช่วยกัน  อย่างน้อย ช่วงนี้ไม่มีโควิด-19 ก็ยังป้องกันโรคทางเดินหายใจอื่นๆ จะเห็นได้ชัดว่า ตอนนี้ไข้หวัดใหญ่ก็ไม่ระบาด เพราะว่าติดทางเดียวกัน คือ ทางเดินหายใจ โรคในเด็กเล็ก RSV แทบจะน้อยมาก ไข้หวัดก็น้อยลง ทั้งที่เป็นช่วงของการแพร่ระบาดของโรคเหล่านี้ ทำให้ได้ลดค่ารักษาพยาบาลอื่นๆ ลงไปด้วย ด้วยการดำรงชีวิตแบบวิถีชีวิตใหม่

พรรษนันท์ ช่างคิด ผู้สื่อข่าว TNN ช่อง 16 รายงาน

เกาะติดข่าวที่นี่ 

website: www.TNNThailand.com
facebook : TNNThailand
facebook live : TNN Live
twitter : @TNNThailand
Line : @TNNONLINE
Youtube Official : TNNThailand
Instagram : @tnn_online
TIKTOK : @tnnonline

ยอดนิยมในตอนนี้

แท็กยอดนิยม

ข่าวที่เกี่ยวข้อง