รีเซต

ส.ภัตตาคารไทยส่งจม.ถึง "บิ๊กตู่" ร้องคำสั่งกทม.ทุบยอดร้านอาหาร 1 แสนล้าน

ส.ภัตตาคารไทยส่งจม.ถึง "บิ๊กตู่" ร้องคำสั่งกทม.ทุบยอดร้านอาหาร 1 แสนล้าน
มติชน
2 มกราคม 2564 ( 15:25 )
179

ส.ภัตตาคารไทยส่งจม.เปิดผนึกถึง “บิ๊กตู่” ร้องคำสั่งกทม.ทุบยอดร้านอาหาร 1 แสนล้าน รับคับแค้นใจไม่ใช่สาเหตุ ชี้รัฐควรจัดการแหล่งเชื้อต้นตอ

 

 

 

วันที่ 2 ม.ค. นางฐนิวรรณ กุลมงคล นายกสมาคมภัตตาคารไทย ได้ทำจดหมายเปิดผนึกถึง พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรีและรัฐมนตรีว่าการกระทรวงกลาโหม ถึงผลกระทบจากประกาศของผู้ว่าราชการกรุงเทพมหานครเมื่อวันที่1 มกราคม 2564 ที่สั่งปิดร้านอาหาร โดยระบุว่า

 

กราบเรียน ฯพณฯ นายกรัฐมนตรี

เรื่อง ชี้แจงข้อมูลเรื่องผลกระทบ COVID-19 ที่มีคำสั่งให้ปิดร้านอาหาร

จากประกาศของผู้ว่าราชการกรุงเทพมหานครเมื่อวันที่1 มกราคม 2564 ว่าอาจมีมาตรการห้ามนั่งรับประธานอาหารในร้านอาหารโดยจะต้องซื้อกลับเท่านั้นทางสมาคมขอเรียนชี้แจงให้เข้าใจเพื่อยกเลิกมาตราการและคำสั่งดังกล่าว เนื่องจากร้านอาหารเป็นธุรกิจSMEและMICRO SME ซึ่งมีมูลค่าธุรกิจ4แสนล้านบาทต่อปี จากประกาศดังกล่าวจะทำให้มูลค่าธุรกิจร้านอาหารไทยหายไปไม่ต่ำกว่า1แสนล้านและจะทำให้มีผลกระทบเป็นห่วงลูกโซ่ ดังนี้

1.อัตราการจ้างงานซึ่งจะทำให้พนักงานตกงานทันทีเป็นจำนวนมาก ซึ่งหลังจากการกลับมาเปิดธุรกิจร้านอาหารได้มีการว่าจ้างแรงงานกลับเข้าระบบได้เป็นจำนวนมากแต่จากประกาศวันที่1มกราคม 2564 จะมีผลกระทบต่อการจ้างงานอีกครั้ง

2.ผลกระทบกับสินค้าภาคการเกษตรกร ซึ่งร้านอาหารต้องใช้วัตถุดิบจากภาคเกษตรกรจำนวนมหาศาลซึ่งจะต้องหยุดชะงักลงอีกครั้งจากคำสั่งวันที่1 มกราคม 2564 จะมีผลทำให้รายได้ของภาคเกษตรกรลดลงเช่นกัน

3.จะมีผลกระทบเรื่องการจัดเก็บภาษี,vatและเงินประกันสังคมของภาครัฐบาลที่หายไปอีกครั้ง

ซึ่งธุรกิจร้านอาหารทั้งในส่วนภัตตาคารและร้านอาหารขนาดเล็กรวมไปถึงร้านอาหารตามริมข้างทางได้ปฎิบัติตามมาตราการป้องกันCOVID-19 จากคำแนะนำของกระทรวงสาธารณสุขด้วยความเคร่งครัดมาโดยตลอดรวมไปถึงร้านอาหารขนาดใหญ่และขนาดกลางได้เข้าร่วมอบรมและเรียนรู้จนได้สัญลักษณ์SHAเกิน80%และผู้ประกอบการเกือบทั้งหมดยังตระหนักถึงความปลอดภัยของลูกค้าและพนักงานที่ปฎิบัติงานในร้านด้วยการเพิ่มมาตราการเสริมเข้าไปมากขึ้นกว่าคำสั่งของสาธารณสุขด้วยเช่น

1.จัดให้มีการเช็คอินก่อนเข้ารับบริการที่ร้านด้วยแอปพลิเคชันไทยชนะ

2.ตรวจวัดอุณหภูมิร่างกายทั้งพนักงานและลูกค้าก่อนเข้าร้าน

3.ทำความสะอาดโต๊ะเก้าอี้ด้วยแอลกอฮอล์ ทุกครั้งเมื่อมีลูกค้าใช้เสร็จ

4.แจกแอลกอฮอล์ล้างมือทุกครั้งเมื่อมาใหม่

5.จัดให้พนักงานทั้งส่วนหน้า,ส่วนหลัง และในครัวมีการใส่ถุงมือยางและผ้าปิดปากตลอดเวลาที่มีการปฎิบัติงาน

6.มีการถูพื้นด้วยน้ำยากำจัดเชื้อโรค ทุกๆ 2-3 ชั่วโมง

7.จัดตารางทำความสะอาดห้องน้ำและถูพื้นด้วยน้ำยากำจัดเชื้อโรค ทุกๆ 2 ชั่วโมง

8.ร้านที่มีประตู ให้เช็ดมือจับด้วยแอลกอฮอล์ ทุกครั้งที่มีการสัมผัส

9.แจกช้อนกลางส่วนตัวให้ลูกค้าเพื่อลดการสัมผัสภาชนะร่วมกัน

10.ร้านอาหารที่มีเครื่องปรับอากาศ ทางร้านจะทำความสะอาดทุกๆ4ชั่วโมง

ซึ่งจากการปฎิบัติตามมาตราการที่กล่าวมาข้างต้นทั้งหมดมีผลสะท้อนให้เห็นว่า การระบาดCOVID-19 รอบสองในครั้งนี้ไม่ได้มีมูลเหตุหรือต้นตอมาจากร้านอาหารเลย แต่แท้จริงการระบาดรอบสองมาจากกลุ่มธุรกิจที่ผิดกฎหมายทั้งหมดเพราะไม่การปฎิบัติตามมาตราการ

ทางสมาคมภัตตาคารไทยจึงใคร่ขอความกรุณานายกรัฐมนตรีและคณะ ศบค. ใด้ช่วยพิจารณาไม่ออกมาตรการห้ามรับประทานอาหารในร้านอาหาร​ ดังที่แถลงข่าวไว้ในวันที่1 มกราคม 2564 โดยให้ร้านอาหารสามารถดำเนินธุรกิจได้ตามปกติดังเดิม

 

ภายหลังจดหมายดังกล่าวมีการเผยแพร่ “มติชนออนไลน์” ได้สอบถามไปยัง นางฐนิวรรณ ได้รับการยืนยันว่า ได้ส่งจดหมายเปิดผนึกดังกล่าวจริง ส่งผ่านทางสภาหอการค้าแห่งประเทศไทย และสภาอุตสาหกรรมท่องเที่ยวแห่งประเทศไทย เบื้องต้น สภาหอการค้าแห่งประเทศไทย แจ้งว่าจะนำเรื่องดังกล่าวเข้าสู่ที่ประชุมคณะกรรมการร่วมภาคเอกชน 3 สถาบัน(กกร.) วันที่ 6 มกราคมนี้

 

นางฐนิวรรณ กล่าวด้วยว่า นอกจากเสนอผ่านตัวแทนภาคเอกชน เชื่อว่าาหากสื่อช่วยทำข่าวจะทำให้ นายกรัฐมนตรี ได้รับรู้ถึงผลกระทบที่ผู้ประกอบการกำลังเจอ สาเหตุที่ต้องทำหนังสือเพราะรู้สึกคับแค้นใจกับเหตุการณ์ที่เกิดขึ้น การแพร่ระบาดของโควิดเกิดขึ้นจากบ่อน สถานบันเทิง ไม่ใช่ร้านอาหารที่ปฏิบัติตามมาตรฐานสาธารณสุขอย่างเคร่งครัด รัฐควรไปจัดการตรงนั้น ประกอบกับหากให้ลูกค้าซื้อกลับบ้าน นั่งรับประทานที่ร้านไม่ได้ ผลกระทบนอกจากยอดขายที่ลดลง ยังอาจทำให้แรงงานในระบบหลายล้านต้องตกงานไปด้วย เพราะธุรกิจคงอยู่ไหว เมื่อรายได้ กำไรลดลง

ข่าวที่เกี่ยวข้อง